เรื่องของ Friendly Design…ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล
คุณกฤษนะ ไลละ ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล เพิ่งผ่านพ้นวันทำ MOU กันระหว่าง อพท. 7 และอีก 17 องค์กร ที่ร่วมกันขับเคลื่อนจังหวัดสุพรรณบุรี และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อคนทั้งมวล ถือเป็นการรวมพลังกันอย่างสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาอารยสถาปัตย์ ส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคของผู้พิการและคนใช้รถเข็น โดยมี บุคคลสำคัญจากหลากหลายหน่วยงานของจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมมือร่วมใจกัน อาทิ ผู้ว่าฯ สุพรรณบุรี อพท.7 ททท.สำนักงานสุพรรณบุรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.สุพรรณบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัด ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด โยธาธิการและผังเมือง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี นั่นทำให้... สุพรรณบุรีจะเป็นสุพรรณบุรีโมเดล สำหรับเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อคนทั้งมวล เพื่อการสานต่อส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคของคนพิการและผู้ใช้รถเข็นกระจายออกไปสู่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศที่มาของโครงการ หนึ่งในผู้ที่มุ่งมั่นฝ่าฟันและทำให้เกิดโครงการดีดีจนมาถึงปัจจุบันนี้ คือ คุณกฤษนะ ไลละ ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล กองบก. www.btripnews.net มีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ จึงขอเปิดการสนทนาแบบเร่งด่วนมาฝากเพื่อนๆ กัน
คุณกฤษนะ ไลละ ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล เล่าให้ฟังถึง ที่มาของกิจกรรมในวันนี้ว่า “อพท.เป็นประธานหลักในการขับเคลื่อนในวันนี้ที่มีนโยบายในการขับเคลื่อนโดยพื้นที่ 1 ใน 7 ของอพท. ที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่พิเศษ ตามบทบัญญัติคือ สุพรรณบุรี ขับเคลื่อนต่อยอดท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อคนทั้งมวล หัวใจสำคัญคือมีการส่งเสริม ปรับปรุง พัฒนา การออกแบบจัดทำจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนทุกเพศวัย ทุกสภาพร่างกาย โดยมุ่งเน้นไปที่ผู้สูงอายุ เพราะประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่สังคมผู้สูงวัย และการส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคของคนพิการ และผู้ใช้รถเข็น เรื่องของคนที่ใช้รถเข็นเด็ก มีเด็กเล็ก เพราะมีล้อทั้งหมด ล้วนแล้วแต่ต้องใช้อารยสถาปัตย์หรือเฟรนด์ลี่ ดีไซน์ เป็นการขับเคลื่อนส่งเสริมผลักดัน ถือเป็นหัวใจสำคัญที่อพท.ได้มาส่งเสริมผลักดันให้เกิดขึ้น
ให้ทุกพื้นที่ท่องเที่ยวของสุพรรณบุรีและพื้นที่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา อยุธยา ต่อจากนี้ไปเฟสสองมีความร่วมมือกันในการทำอารยสถาปัตย์ ทางลาด ห้องสุขา ที่จอดรถ ที่ห่วงถึงคนแก่คนพิการเป็นกลุ่มสำคัญอีกส่วนหนึ่ง” สุพรรณบุรีโมเดล อารยสถาปัตย์ที่ถูกต้อง ปลอดภัย ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล เปิดเผยต่อว่า “วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นเป็นการคลิกออฟ หลายที่กำลังเข้าสู่การพัฒนาส่งเสริมอย่างจริงจัง จากนี้ไป วันนี้ท่านผู้ว่าฯ ก็มาเป็นประธานขับเคลื่อนและกล่าวว่าเป็นนโยบายของจังหวัดที่จะขับเคลื่อนในทุกที่ของจังหวัด โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง เช่นสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร จุดแวะพัก สถานีบริการน้ำมันให้มีอารยสถาปัตย์เพื่อจะให้ทุกคนทุกเพศวัย ทุกสภาพร่างกายเข้าถึง เที่ยวได้สะดวกปลอดภัย”
สานต่อ... ผลักดัน สู่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ประธานมูลนิธิฯ กล่าวต่อว่า “...ตอนนี้เป็นขั้นตอนเริ่มต้น ต่อจากนี้ไปจะเพิ่มขึ้น ตอนนี้มีบางจังหวัดที่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่น พัทยา ชลบุรี เขาทำเรื่องนี้มาเข้มข้นและเห็นผลมาก และเชื่อมเป็นเมืองพันธมิตร หรือเชียงใหม่ ขอนแก่น กระบี่ หลายที่เริ่มทำและก็จะมากขึ้น เป็นการสืบต่อขยายเป็นจิกซอว์ที่จะทำให้นับจากนี้ประเทศไทยเราจะเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์นอกเหนือจากศิลปะ วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว อาหารการกิน ก็จะเป็นพูดถึงเรื่องของอารยสถาปัตย์ เรื่องของการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อที่จะให้ทุกคน ทุกวัย ทุกสภาพร่างกายมาเที่ยวประเทศไทยได้” “.... ผมเชื่อมั่นว่าจะมีขึ้นทั่วประเทศแน่นอน และตอนนี้กฎหมายก็มีแล้ว ตั้งแต่ปี 2548 ที่บังคับใช้ ไม่ใช่ขอความร่วมมือ ทุกที่ต้องมีคือ ตึก อาคารสถานที่ สาธารณะ ระบบขนส่งมวลชน วัดวาอาราม กฎหมายบังคับ แต่ที่ผ่านมามีแต่ยังไม่ถูกต้อง ยังไม่ได้มาตรฐาน วันนี้อพท.มาทำเพื่อยกระดับไปสู่ความต้องในเรื่องของมาตรฐานในการออกแบบสร้างทำ การดีไซน์ และผมเชื่อว่าจากนี้ไปทุกจังหวัดจะเป็นแบบสุพรรณบุรี การทำที่สำเร็จไม่ใช่แค่เสร็จ แค่เสร็จก็พอแล้ว ใช้ไม่ได้ไม่รู้ ไม่ใช่แล้ว จากนี้ไปสุพรรณจะเป็นต้นแบบ”
Friendly Design คุณกฤษนะ กล่าวถึงความรู้สึกในการผลักดัน อารยสถาปัตย์ จนมาถึงวันนี้ว่า “ ....ผมดีใจและภูมิใจในความเป็นคนไทยและประเทศไทยที่มาช่วยกันขับเคลื่อนส่งเสริมเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีงามมาก ไม่เฉพาะเมืองไทย ทุกประเทศที่ทำเรื่องนี้ ผมถือว่าเป็นความดีงาม ยิ่งใหญ่และเป็นสากล ที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องทำต้องมี เรื่องอารยสถาปัตย์ หรือ Friendly Design ไม่ทำวันนี้ วันข้างหน้าก็ต้องทำอยู่ดี วันนี้ไม่คิดวันข้างหน้าก็ต้องคิดอยู่ดี เพราะมันคือความสำคัญของโลกปัจจุบันและอนาคต ที่เป็นสังคมผู้สูงวัย ให้เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง อย่างที่สหประชาชาติประกาศมาหลายปีแล้วว่า การพัฒนาที่ผ่านมา บกพร่องผิดพลาด ตกหล่นทิ้งคนไว้เพียบ โดยเฉพาะคนพิการ คนแก่ชรา คนพักฟื้น นี่คือการพัฒนาในยุคก่อนที่ตกหล่นทิ้งคนไว้เยอะมาก แต่จากนี้ไปเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอีกต่อไป”
เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ท้ายสุด ประธานมูลนิธิ ฯ กล่าวด้วยน้ำเสียงแห่งความมุ่งมั่นว่า “ผมถึงบอกว่า อารยสถาปัตย์ เฟรนด์ลี่ ดีไซน์ ไม่ทำวันนี้ วันข้างหน้าก็ต้องทำอยู่ดี ไม่คิดวันนี้วันข้างหน้าก็ต้องคิดอยู่ดี แต่วันนี้ประเทศไทยเรา คิดแล้ว ทำแล้ว อย่างวันนี้เรามาที่สุพรรณบุรี คิดแล้ว ทำแล้ว ลงมือแล้วที่จะช่วยกันส่งเสริมผลักดันสุพรรณบุรี ผลักดันส่งเสริมประเทศไทยไปสู่ความเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับคนทั้งปวง เป็นมิตรกับทุกเพศทุกวัย เป็นเมือง อารยสถาปัตย์ เมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อคนทั้งมวล ความสุดยอดยิ่งใหญ่ เป็นเบิกบานใจของผมมากที่เป็นคนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนผลักดันทำให้สุพรรณบุรีและประเทศไทยเรามีความคึกคัก เติบโตก้าวหน้าและพัฒนาในยุคสมัยของเรา เราไม่ต้องรอให้ลูกหลานมาทำ เราคิดวันนี้ทำวันนี้ ลูกหลานของเราก็จะพูดถึงเราในยุคนี้ว่า รุ่นปู่ย่าตายาย ทำเอาไว้วิสัยทัศน์ยาวไกลมาก มองเผื่อถึงอนาคต เราเป็นประเทศกำลังพัฒนา เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นในอีกสิบปีข้างหน้า วันนี้เรามาทำวันนี้เลย เป็นความภาคภูมิใจของคนยุคสมัยของเราว่า เราได้คิดแล้ว ทำแล้ว และเห็นผลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง”