Update Newsท่องเที่ยว B Tripแหล่งเที่ยว

แซ่บนัวของกิน เมืองสุรินทร์ถิ่นช้าง ( ตอนจบ )

กับเส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน (Gastronomy Tourism)

หลังจากไปเยี่ยมชมสุดยอดฝีมือในยุทธภพผ้าไหมกันมาแล้ว เราไปต่อกันเพื่อชิมอาหารถิ่นที่ ทีกล้าฟาร์ม ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยครูยุ่ง - น.ส. ประกายมาศ  ถือกล้า บนพื้นที่ 24 ไร่ของครอบครัว

อาหารถิ่น ที่ ทีกล้าฟาร์ม





“ยุ่งเป็นคนพื้นเพที่นี่ แต่ไปเรียนกรุงเทพฯ จบวิศวฯ จุฬา มา ตอนแรกมาดูแลแม่ กะว่าจะทำเป็นงานอดิเรก ปลูกผักทำออกานิกส์ไป ทำขำๆ ก็ต่อยอดมาเรื่อยๆ พอดีคุณพ่อซึ่งเคยเป็นผอ.โรงเรียนแถวนี้ มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ เราก็เริ่มให้เด็กๆมาเรียนรู้เรื่องต่างๆ ทั้งภาษา การทำอาหาร การปลูกผัก การเพ้นท์ หรือการทำขนมปัง พิซซ่า ก็เป็นเชฟฝรั่งเศสเข้ามาสอน หรือขนมก็เป็นเพื่อนที่อยู่สถานทูตไทยในลอนดอนเข้ามาช่วยสอน ส่วนใหญ่เป็นเด็กในละแวกนี้ เพราะเรารู้ว่าเด็กในเมืองโอกาสจะมีมากกว่า

ส่วนใหญ่เพื่อนๆ ต่างชาติมาช่วยสอนภาษาบ้าง สอนโยคะบ้าง เป็นอาสาสมัครจากต่างแดน เวลาที่เขามาเมืองไทยเราก็จะให้เด็กๆ บอกต่อกันว่า จะมีครูมาสอนนะ  เด็กก็จะรู้กัน หรือไม่ก็ดูจากเฟซ ซึ่งจะมีข้อมูลต่างๆ ใส่เอาไว้ เด็กๆ จะมาที่นี่หลังจากเลิกเรียน เริ่มมาตั้งแต่ปี 2014 แล้วค่ะ

ส่วนบ้านหลังนี้เพิ่งสร้างเมื่อปีที่แล้ว เพราะมีเพื่อนจากกรุงเทพฯ อยากส่งลูก คนในเมืองนะคะ ไม่รู้จักเลยว่า การจุดฟืนเป็นอย่างไร หรือผักอะไรหน้าตาอย่างไร ยิ่งอาหารพื้นถิ่นยิ่งไม่รู้จัก เขาก็ส่งลูกมาอยู่ด้วย น้องๆ ที่นี่ก็จะเป็นคนแนะนำ พาไปตัดฟืน ไปเก็บผัก ก่อไฟทำกับข้าวกัน จึงสร้างหลังนี้ขึ้นมารองรับเด็กๆ

อีกส่วนหนึ่งก็พยายามพัฒนาสินค้า มีจำหน่ายข้าวนิลสุรินทร์ของชาวบ้านแถวนี้นำมาใส่แพคเกจ เพื่อให้คนที่เข้ามาที่นี่ ได้ซื้อกลับไป”



“ ตอนนี้ยังไม่เรียบร้อย แต่มีแพลนไว้ในอนาคตประมาณสามปีข้างหน้า อยากทำให้เป็นฟาร์มสเตย์ และคงต้องขอคำแนะนำด้วยค่ะ เพราะอาหารพื้นถิ่นที่เห็น ชาวบ้านกับเด็กๆ ช่วยกันจัดทำขึ้น อาจจะไม่อร่อยมากมาย แต่ทุกคนตั้งใจและดีใจในการที่จะต้อนรับผู้มาเยือนค่ะ” ครูยุ่งบอก

เอ้า... เรามาดูเมนูที่แปลกทั้งหน้าตาและชื่อเรียก จากฝีมือการหั่นผัก ขูดมะพร้าว และหั่นซอยขิงของเด็กๆ มาให้ชมกัน เริ่มกันที่เมนูแรก







สลอตราว หรือแกงเผือก เป็นอาหารที่มีรสจืด นิยมใส่ปลาเป็นส่วนประกอบ อาจใช้รับประทานเปล่า ๆ คล้ายก๋วยเตี๋ยวก็ได้ ชาวเขมรและชาวกูย ที่มีฐานะ นิยมปรุงให้จืดเพื่อรับประทานเปล่า ๆ เผือกเป็นอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรทสูง ใช้รับประทานแทนข้าวได้ ปลาเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง

“ซันลอเจก” เป็นภาษาเขมร หมายถึง “แกงกล้วย” ซันลอ = แกง, เจก = กล้วย เนื่องจากเมื่อก่อน การคมนาคมขนส่งต่าง ๆ ยังไม่สะดวก อาหารการกินต่าง ๆ ล้วนหาได้จากเรือกสวน ไร่นา และรอบ ๆ บริเวณบ้าน เมื่อมีคนตายในหมู่บ้าน เจ้าของงานจะจัดหาอาหารต้อนรับผู้มาร่วมงานศพ ซึ่งมักจะทำแกงกล้วยเป็นอาหารหลัก เพราะบ้านเกือบทุกหลัง นิยมปลูกต้นกล้วย เพราะต้นกล้วยสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง






หมก เป็นอาหารอีสานและอาหารลาวประเภทหนึ่ง เป็นการนำเนื้อสัตว์และผักมาเคล้ากับน้ำพริกแกง ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ห่อด้วยใบตองทรงสูง นำไปนึ่งหรือย่างให้สุก ใส่ต้นหอมและใบแมงลักซึ่งเป็นเครื่องปรุงสำคัญ บางบ้านใส่ผักชีลาวด้วย ตัวอย่างอาหารประเภทหมก ได้แก่ หมกหน่อไม้ หมกไข่ปลา หมกหัวปลี หมกไข่มดแดง หมกปลา หมกเห็ด หมกฮวก เครื่องแกงส่วนใหญ่ประกอบด้วย พริกขี้หนูแห้ง หอมแดง ตะไคร้ซอย ใบมะกรูด เป็นหลัก หรือบางบ้านก็จะใส่กระชายหรือข่าด้วย

ครั้งนี้ คณะของเราจึงมีโอกาสได้ชิม หมกเห็ด วางบนใบตอง เสริฟร้อนๆ บนโต๊ะพร้อมทานด้วย และตามมาด้วยขนมที่หน้าตาคล้ายข้าวต้มมัด แต่รสชาติไปออกคล้าย” บ๊ะจ่าง”

“อันซอมจรุ๊ก” คือขนมที่เราพูดถึง ลักษณะเป็นท่อนยาวๆ ข้างในเป็นข้าวเหนียวผสมกับถั่วลิสง เนื้อหมูและมันหมู ปรุงรสให้ออกเค็มๆ หน่อยแล้วห่อด้วยใบตอง ชิมแล้วก็ถือว่ารสชาติไม่เลวเลยได้รสเค็มๆ มันๆ พร้อมกลิ่นหอมจากใบตอง จะว่าไปรสชาติก็ออกจะคล้ายๆ กับ “บ๊ะจ่าง” อยู่หน่อยๆ เพียงแต่ไม่ได้มีเครื่องเคราเหมือนกับบ๊ะจ่างของคนจีน



.... มื้อค่ำมื้อนี้ แม้จะจบลงด้วยความกระท่อนกระแท่นไปบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ คือความใส่ใจของเจ้าบ้าน แววตาปลื้มปริ่มของเด็กๆ เมื่อได้รับคำชม การกุลีกุจอเสริฟอาหารแต่ละชนิดยิ้มจนเห็นฟันเหลืองอ๋อย แค่นี้ก็คงพอให้เข้าใจได้

เพียงแต่ว่า หากใครที่จะตามรอยมาที่นี่ คงต้องติดต่อมาล่วงหน้า เพื่อจะได้จัดเตรียมอาหารและสถานที่กัน





ปราสาทศีขรภูมิ

เช้าวันถัดมา เดินทางกันต่อเพื่อไปชมโบราณสถานที่สำคัญ ปราสาทศีขรภูมิ ซึ่งอ.อรุณี แซ่เล้า หัวหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสุรินทร์ เข้ามาบรรยายให้คณะของเราฟังด้วยตัวเอง



.... ปราสาทศีขรภูมิ ตั้งอยู่ที่ตำบลระแงง ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ 34 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 226 โดยอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปอีก 1 กิโลเมตร ปราสาทศรีขรภูมิประกอบด้วยปรางค์อิฐ 5 องค์ องค์กลางเป็นปรางค์ประธาน มีปรางค์บริวารล้อมรอบอยู่ที่มุมทั้งสี่บนฐานเดียวกัน ก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง ปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบันไดทางขึ้นและประตูทางเข้าเพียงด้านเดียวคือด้านทิศตะวันออก


ปรางค์ทั้งห้าองค์มีลักษณะเหมือนกัน คือ องค์ปรางค์ไม่มีมุข มีชิ้นส่วนประดับทำจากหินทรายสลักเป็นลวดลายต่างๆ ทั้งส่วนที่เป็นทับหลังและเสาประดับกรอบประตู เสาติดผนัง และกลีบขนุนปรางค์ ส่วนหน้าบันเป็นอิฐประดับลวดลายปูนปั้น องค์ปรางค์ประธานมีทับหลังสลักเป็นรูปศิวนาฏราช (พระอิศวรกำลังฟ้อนรำ) บนแท่น มีหงส์แบก 3 ตัวอยู่เหนือเศียรเกียรติมุข มีรูปพระคเนศ พระพรหม พระวิษณุ และนางปารพตี (นางอุมา) อยู่ด้านล่าง เสาประตูสลักเป็นลวดลายเทพธิดาลายก้ามปูและรูปทวารบาล









หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง


ถัดมาเป็นการเยี่ยมชมการแสดงช้าง ณ ศูนย์คชศึกษา









ศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมวิถีความเป็นอยู่ ความผูกพันระหว่างคนในชุมชนกับช้าง รวมทั้งประเพณี และวัฒนธรรมที่น่าชื่นชมอย่างใกล้ชิด ชาวบ้านตากลางแต่ละครัวเรือนจะมีช้างที่เลี้ยงไว้อาศัยอยู่รวมกัน จนช้างที่พวกตนเลี้ยงไว้เปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของตน ก่อให้เกิดสายใยความผูกพันที่แน่นเฟ้นขึ้น ระหว่างคนกับช้าง ณ บ้านตากลาง จ. สุรินทร์ ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก









ชาวบ้านตากลาง ดั้งเดิมเป็น ชาวส่วย (กูย) หรือ กวย ที่มีความชำนาญในการคล้องช้างป่า ฝึกหัดช้าง และเลี้ยงช้าง ส่วนมากต้องเดินทางไปคล้องช้างบริเวณชายแดนต่อเขตประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ปัจจุบันสภาวะการเมืองระหว่างประเทศทำให้ชาวบ้านตากลาง ไม่สามารถไปคล้องช้างเช่นแต่ก่อนได้ แต่ชาวบ้านตากลางยังคงเลี้ยงช้าง และฝึกช้างเพื่อไปร่วมแสดงในงานช้าง (Thailand Elephant show) ของจังหวัดทุกปี

ลักษณะการเลี้ยงช้างของชาวบ้านตากลาง เหมือนการเลี้ยงช้างไว้เป็นเพื่อน นอนร่วมชายคาเดียวกับตน ดังนั้นถ้านักท่องเที่ยวได้ไปที่บ้านตากลาง นอกจากจะได้เห็นสภาพโรงช้างดังกล่าวแล้ว ยังจะได้สัมผัสการดำรงชีวิตของ ชาวส่วย พร้อมทั้งจะได้พบปะพูดคุยกับหมอช้าง ที่มีประสบการณ์ในการคล้องช้างมาแล้วหลายครั้งได้ตลอดเวลา รวมทั้งยังสามารถเดินทางชมจุดบริเวณที่แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลไหลมารวมกัน ซึ่งห่างออกไปเพียง 3 กิโลเมตร มีทัศนียภาพที่งดงามน่าพักผ่อนหย่อนใจ และชวนให้ศึกษาในเชิงของธรรมชาติด้วย





.... ก่อนเดินทางกลับ ทางคณะได้แวะกันไปต่อที่ร้านกาละแมศีขรภูมิ ที่ที่ทำกาละแมกันมาสามรุ่นแล้ว โดยปัจจุบันมีคนหนุ่มรุ่นใหม่ ลูกชายคนเดียวของเจ้าของร้าน เข้ามาต่อยอดสินค้า จนปัจจุบันชื่อเสียงของกาละแมศีขรภูมิตราปราสาทเดียว เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย













....สรุปทริปนี้จบลงด้วยความแฮปปี้ ทั้งเส้นทางการเดินทาง และ การได้ลิ้มรสชาติของอาหารพื้นถิ่น รวมถึงห้องพักใหม่ๆ กลางเมืองสุรินทร์ ที่ชื่อ สลีฟ โฮเทล Btripnewsเชื่อว่า การนำร่องเส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน (Gastronomy Tourism) จังหวัดสุรินทร์ น่าจะเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่สามารถทำให้คุณๆ ได้ร่วมประสบการณ์ที่แปลกใหม่ได้ในอีกแนวหนึ่งทีเดียว

#gastronomytourism #TAT #Surin #เส้นทางสายกินอาหารถิ่นในตำนาน #สุรินทร์