Update Newsประชาสัมพันธ์สังคม/CSR

โครงการประกวด “ครู D7Days” สำนึกรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพื่ออนาคตไทย

 เปิดมิติการประกวดผลงานรูปแบบใหม่สอดคล้องยุคดิจิทัล คณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ  ผุดโปรเจ็คท์ “ครู D7Days สำนึกรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพื่ออนาคตไทย” เชิญครูอาจารย์ และบุคลากรด้านการศึกษาส่งคลิปเข้าประกวด เพื่อเฟ้นหาสุดยอดต้นแบบการสอนด้านประวัติศาสตร์ไทยและสถาบันพระมหากษัตริย์ทั่วประเทศ พร้อมเปิดตัวพรีเซนเตอร์โครงการฯ “ครูเอิร์น-ณัชชา เตชะหรูวิจิตร” อดีตนักร้องชื่อดังและผู้บริหารสถานศึกษา

 ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร ประธานคณะอนุกรรมการศึกษาติดตามและตรวจสอบการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และคณะอนุกรรมการศึกษาติดตามและตรวจสอบการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้จัด“โครงการครู D7Days สำนึกรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพื่ออนาคตไทย” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ครู อาจารย์ และบุคลากรด้านการศึกษาที่มีองค์ความรู้และความสามารถร่วมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยและสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยให้กับเด็กและเยาวชนไทย รวมทั้งเพื่อธำรงไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของความมั่นคงของชาติ



“ทางด้านสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญานั้น ผู้ส่งผลงานแต่ละคนจะต้องรับรองว่า เนื้อหาไม่ละเมิดสิทธิใด ๆ ต่อบุคคลที่สามหรือเป็นความผิดตามกฎหมายใด ๆ รวมถึงลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้า การประชาสัมพันธ์ การเผยแพร่ ในการอัพโหลด วิดีโอ หากมีการฟ้องร้องใดกับผู้จัดการประกวด ผู้ร่วมแข่งขันจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมดจะถือเป็นลิขสิทธิ์ร่วมระหว่างผู้จัดการประกวด และเจ้าของผลงาน โดยผู้จัดประกวดมีสิทธิในการเผยแพร่ผลงานในสื่อต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของผลงาน”

ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง  คณะอนุกรรมการศึกษาติดตามและตรวจสอบการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการฯและลักษณะผลงานว่า ผู้ส่งผลงานต้องส่งใบสมัครโดยมีรายละเอียดครบถ้วน และผู้ส่งงานเข้าประกวดมีสิทธิ์ส่งผลงานสำหรับการประกวดได้ 1 ผลงาน ส่วนคุณสมบัติของผู้ส่งผลงาน ต้องมีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศไทย มีสังกัดสถานศึกษาในประเทศหรือองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน การศึกษาทางไกล และยังคงมีรายชื่ออยู่ในทะเบียนรายชื่อของสถานศึกษานั้น โดยในการเข้าร่วมประกวดผู้ส่งผลงานจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงและเงื่อนไขที่กำหนด



 ทั้งนี้ผลงานต้องมีเนื้อหาที่เป็นการสอนหรือบรรยายเกี่ยวเนื่องกับการสร้างสรรค์ประวัติศาสตร์ ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยในยุคสมัยใดก็ได้ ต้องเป็นผลงานที่สร้างสรรค์โดยตัวผู้ประกวดเอง และไม่เคยได้รับรางวัลที่ใดมาก่อน รวมทั้งผลงานจะต้องไปลอกเลียนแบบมาจากที่ใด มิเช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ออกจากการประกวดทันที

“โดยผลงานการประกวดจะต้องเป็นคลิปวิดีทัศน์มีความยาวไม่เกิน 5 นาที โดยอัพโหลดลงในยูทูป แล้วส่งลิงก์ผลงานให้ผู้จัดประกวดทาง INBOX แฟนเพจ D7Days ทำดี ทำได้ทุกวัน พร้อมอัพโหลดใบสมัครและกดไลค์กดแชร์ โดยตั้งเป็นสาธารณะ ส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2561 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 0-2831-9196-7 และ แฟนเพจ www.facebook/d7days

ทางด้าน ดร.ณัฐวรรณ สาสิงห์ คณะอนุกรรมการศึกษาติดตามและตรวจสอบการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้กล่าวถึงเกณฑ์ในการตัดสินว่า คณะกรรมการตัดสินจะประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่ดีรับเชิญจากผู้จัดการประกวด โดยจะมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน จะแบ่งออกเป็นอัตราส่วนคือ เนื้อหา 30 คะแนน เทคนิคการสอน 30 คะแนน ความคิดสร้างสรรค์ 30 คะแนน ความถูกต้องของอักขระวิธี 10 คะแนน และให้ตรงตามข้อกำหนดของการประกวด โดยการตัดสินของคณะกรรมการถือว่าเป็นที่สิ้นสุด และจะมีผลผูกพันกับผู้เข้าประกวด

“นอกจากนี้ผู้ส่งผลงานจะต้องไม่ส่งผลงานที่มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมายใด ๆ รวมถึงที่ไม่จำกัดเฉพาะในนี้ ข้อความหมิ่นประมาท ใส่ร้าย หรือทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงต่อกิจการ หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือที่มีเนื้อหารูปภาพที่หยาบคาย ลามากอนาจาร หรือมีเนื้อหาไม่เหมาะสม หรือไม่เกี่ยวกับข้องกับรูปแบบของการประกวด”



“ครูเอิร์น-ณัชชา เตชะหรูวิจิตร” อดีตนักร้องชื่อดังที่ผันตัวมาเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ในตำแหน่งรองผู้จัดการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ในฐานะพรีเซนเตอร์โครงการฯ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า การดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่ซึ่งอยู่ในโลกยุคดิจิตัล หรือพลเมืองออนไลน์นั้น ทำให้หลายคนหลงลืมเรื่องราวในอดีต โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ไทย และสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ทุกพระองค์ทรงทรงหล่อหลอมความเป็นปึกแผ่นให้กับแผ่นดินไทยมาตั้งอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน เด็กและเยาวชนไม่ค่อยทราบในเรื่องเชิงลึกเลย ทั้ง ๆ ที่เราเป็นคนไทยควรจะทราบเรื่องราวเหล่านี้ แต่พอถามเรื่องอื่นตอบได้หมด เช่น เกม กีฬา ไอทีต่าง ๆ เรากำลังจะถูกอิทธิพลโลกสมัยใหม่เข้าครอบงำจนลืมสิ่งล้ำค่าในอดีตไป




“นับเป็นการสร้างสรรค์กิจกรรมที่ดี  ที่ภาครัฐโดย  คณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ  จัดโครงการครู D7Days สำนึกรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพื่ออนาคตไทย ซึ่งจะเป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับเด็กและเยาวชนของชาติ ผ่านการสร้างสรรค์ของครูอาจารย์ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ด้วยผลงานที่สอดคล้องกับชีวิตในยุคดิจิทัล ถือว่าเป็นความร่วมสมัย อยากให้ทุกคนมาร่วมกิจกรรมกันเยอะ ๆ พร้อมทั้งช่วยกันเป็นแนวร่วมให้กับประเทศไทยมีความสง่างามในประวัติศาสตร์ทุก ๆ ด้านตราบนานเท่านาน”

คุณวสุรมย์ ภาณุดิสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐได้มีกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมและประเทศชาติในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย สำหรับโครงการครู D7Days สำนึกรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพื่ออนาคตไทย นับเป็นกิจกรรมที่ดี เพราะผู้ที่จะเป็นเบ้าหลอมอนาคตของชาติได้ดีที่สุดก็คือ ครูอาจารย์ทั้งหลาย ซึ่งทุกท่านต้องหาแนวทางในการสอนเด็ก ๆ ให้สอดคล้องกับยุคสมัยนั่นคือ ความเป็นดิจิทัลหรือออนไลน์ เราต้องอยู่ร่วมกับสิ่งเหล่านี้ให้ได้ เราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนเด็กที่ไม่ก่อให้เกิดความน่าเบื่อหน่าย ซ้ำซากจำเจ จึงจะได้ใจเด็ก ๆ และเด็ก ๆจะมีความรู้สึกรักและสนุกกับเรียนในเชิงสร้างสรรค์ ขอให้กำลังพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ของชาติทุกคน ตลอดจนทรัพยากรบุคคลทางด้านการศึกษา