Update Newsบทความพิเศษสาธารณสุข

“โรคไวรัสตับอักเสบบี” ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เร่งสร้างความรอบรู้เรื่อง “โรคไวรัสตับอักเสบบี” ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม หวังยุติภายใน 9 ปี เผยโรคดังกล่าวสามารถติดต่อทางเลือด เพศสัมพันธ์ และการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน หากติดเชื้ออาจทำให้เกิดโรคตับแข็ง และมะเร็งตับได้ 


นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไวรัสตับอักเสบบี ถือเป็นภัยสุขภาพที่คุกคามในระยะยาว เผยสถานการณ์โรคไวรัสตับอักเสบบีทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังทั่วโลก กว่า 257 ล้านคน ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ประมาณ 2.2-3 ล้านคน 

โดยการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus : HBV) ส่งผลต่อการเจ็บป่วย เช่น มะเร็งตับ พบในเพศชาย (33.4 ต่อแสนประชากร) และพบในเพศหญิง (12.3 ต่อแสนประชากร) มีช่องทางการติดเชื้อ คือ ทางเลือด เพศสัมพันธ์ และการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่อันตรายหากได้รับเชื้อแล้วไม่เข้าสู่กระบวนการรักษา มีโอกาสเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ตับวาย ตับแข็ง และมะเร็งตับได้ 


กรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านวิชาการ ในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคและผลักดันชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรอง ดูแลรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีมาอย่างต่อเนื่อง 

โดยมีแผนการดำเนินงาน เพื่อสร้างความรอบรู้เรื่อง “ไวรัสตับอักเสบบี” ดังนี้ 1.พัฒนาแนวทางการดำเนินงานด้านการรักษา ประกอบด้วย การพัฒนาแนวทางการดูแลรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีในประเทศไทย พร้อมทั้งผลักดันการปรับเปลี่ยนบัญชียารักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี

 2.ด้านยุทธศาสตร์ ได้จัดทำยุทธศาสตร์กําจัดโรคไวรัสตับอักเสบ ปี 2565-2573 (9 ปี) และผลักดันให้มีการเพิ่ม สิทธิประโยชน์ในการคัดกรองประชากรกลุ่มเสี่ยง 3.ดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อสนับสนุนให้หญิงตั้งครรภ์ที่มีปริมาณไวรัสตับอักเสบบีสูงหรือมีค่า HBeAg เป็นบวก (แสดงว่าเชื้อไวรัสตับอักเสบบียังอยู่ในระยะแบ่งตัว) สามารถรับยาต้านไวรัสและส่งเสริมให้ทารกที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีให้ได้รับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (HBIG) และวัคซีน ในการป้องกันให้ครบชุด และสนับสนุนชุดตรวจคัดกรองในกิจกรรมรณรงค์วันตับอักเสบโลกอย่างต่อเนื่อง 

4.ด้านการพัฒนาระบบข้อมูลและติดตามความก้าวหน้าในการป้องกัน ดูแลรักษา โดยการพัฒนาโปรแกรมบันทึกผลการตรวจ คัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีระดับประเทศ พัฒนาโปรแกรมบันทึกข้อมูลการดำเนินงานตามโครงการกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูกให้กับโรงพยาบาล หน่วยบริการทั่วประเทศ และพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูล จากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสาธารณสุข 


นายแพทย์ปรีชา กล่าวต่อไปว่า การส่งเสริมให้ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ควรตรวจหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีก่อน และหากไม่มีภูมิคุ้มกัน ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีให้ครบชุด จำนวน 3 เข็ม ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้รับวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีให้ครบตามเกณฑ์ตารางการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กตามนัด 

สำหรับวิธีป้องกันโดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับทุกคน ทุกช่องทาง สำหรับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ควรงดบริจาคเลือด หากต้องรับการผ่าตัด ทำฟัน หรือมีการตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เพื่อนำไปสู่การกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบบี ภายในปี 2573


ทั้งนี้ โรคไวรัสตับอักเสบบี สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี และรักษาได้ด้วยการรับประทานยาต้านไวรัส เพื่อควบคุมปริมาณไวรัสในร่างกาย ลดภาวะการเกิดพังผืดของตับ ชะลอการเกิดตับแข็ง และลดการเกิดมะเร็งตับ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ 

ดังนั้น กรมควบคุมโรค จึงเร่งส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของโรคไวรัสตับอักสบบี สามารถประเมินความเสี่ยงของตนเองและคนรอบข้าง หากมีพฤติกรรมเสี่ยงให้เข้ารับบริการตรวจคัดกรองและการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีโดยเร็ว 

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โทร.0 2590 3216 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422