บทความพิเศษ โดย ดร. กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
โครงการโรงเรียนคุณภาพเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มุ่งหวังจะเห็นโรงเรียนได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพเเละปลอดภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงได้มอบหมายให้ ศธ. และหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ คือ สพฐ. ได้ดำเนินการโดยพัฒนาต่อยอดจากโครงการเดิมคือ โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล โรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และโรงเรียนที่สามารถดำรง อยู่ได้อย่างมีคุณภาพ (Stand Alone) โดยได้มีการกำหนดทิศทางขับเคลื่อนโครงการภายใต้กรอบการดำเนินงานและจุดเน้น 8 ด้าน ได้แก่1.ความปลอดภัยของผู้เรียน 2.ระบบประกันคุณภาพ 3.หลักสูตรฐานสมรรถนะ 4. การพัฒนาครู 5.การเรียนการสอน 6.การวัดและประเมินผล 7. การนิเทศกำกับและติดตาม และ 8. Big Data
ซึ่งจะพัฒนาโรงเรียนคุณภาพให้เป็นโรงเรียนต้นแบบเพื่อแก้ปัญหาด้านการศึกษาและความปลอดภัยของสถานศึกษา รวมถึงลดขความเหลื่อมล้ำของโอกาสเข้าถึงการศึกษาในสังคมเมืองและชนบทให้กับนักเรียน สร้างความพร้อมให้กับครูผู้บริหารและโรงเรียน ในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย ตามบริบทของโรงเรียน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพต่อไป
นิยาม ของโรงเรียนคุณภาพคืออะไร และ ทิศทางการพัฒนาที่กำหนดไว้เป็นอย่างไร
โรงเรียนคุณภาพระดับประถมศึกษา คือโรงเรียนประถมศึกษาหรือโรงเรียนขยายโอกาส โดยมีสภาพภูมิศาสตร์ที่มีความพร้อมและเหมาะสม มีโรงเรียนเครือข่ายโดยรอบสามารถนำนักเรียนมารวมเพื่อยกระดับคุณภาพให้เกิดความมั่นใจต่อชุมชนและผู้ปกครอง เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และแชร์ทรัพยากรร่วมกัน
โรงเรียนคุณภาพระดับมัธยมศึกษา คือโรงเรียนที่เปิดสอน ม.1-6 สภาพภูมิศาสตร์มีความพร้อมรองรับโรงเรียนประถมศึกษาที่จะมาเรียน และรับนักเรียนขยายโอกาสที่จะมาศึกษาต่อหรือมาเรียนรวม เป็นการแบ่งเบาภาระในการรับนักเรียนโรงเรียนแข่งขันสูงกลับสู่ชุมชน
โรงเรียนคุณภาพเเบบ Stand Alone คือโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร พื้นที่สูง บนเกาะ หรือการคมนาคมไม่สะดวกทำให้นักเรียนไม่สามารถไปเรียนรวมกับโรงเรียนอื่นได้
เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพ คือ จะต้องเพิ่มจำนวนครูให้ครบชั้น ครบวิชาเอก มีจำนวนนักเรียนที่เหมาะสม มีงบประมาณเพียงพอในการบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพ สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต ของบุคลากรและชุมชน มีอาคารสถานที่ปลอดภัย มีครุภัณฑ์ อุปกรณ์ ระบบอินเตอร์เน็ต ที่เอื้อต่อการเรียนรู้และทันสมัยเน้นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ลดเหลื่อมล้ำ ลดอัตราการแข่งขัน รวมทั้งกรณีเป็นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ต้องให้โรงเรียนสามารถดำรงอยู่ได้ โดยมีงบประมาณและอัตรากำลังครูอย่างเหมาะสม
กลุ่มเป้าหมายโรงเรียนคุณภาพประกอบด้วยระดับประถม 10,480 โรงระดับมัธยม 1,155โรงโรงเรียน Stand Alone 1,303 โรง
รวมทั้งสิ้น 12,938 โรงโดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ระยะ ระยะละ 5 ปี สำหรับในระยะที่ 1 ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 ถึง 2568 มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ ระดับประถม 183 โรง มัธยม 77 โรงและโรงเรียนคุณภาพ Stand Alone 89 โรงรวมทั้งสิ้น 349 โรง ซึ่งแนวทางในการดำเนินงาน สพฐ. ได้มีการจัดสรรงบประมาณตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา เพื่อพัฒนา 8 จุดเน้น
โดยได้มีกระบวนการดำเนินการให้โรงเรียนมีความปลอดภัยมากขึ้น พัฒนาระบบประกันคุณภาพ จัดอบรมครูและบุคลากรให้มีความรู้ด้านการประกันคุณภาพ เข้าใจหลักสูตรฐานสมรรถนะ การจัดการเรียนการสอน Active Learning , STEM การพัฒนาสื่อและการใช้สื่อ รวมทั้งการวัดและประเมินผล มีการจัดสรรงบประมาณทั้งงบลงทุน ครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้างสำหรับโรงเรียนคุณภาพนำร่อง และจัดสรรงบสำหรับติดตามผลการดำเนินโครงการ
ในส่วนของทิศทางการพัฒนา ปี 2565 ได้กำหนด Time Line ขับเคลื่อนกิจกรรมการดำเนินงานโดยจัดทำ MOU ระหว่างโรงเรียนหลักร่วมกับโรงเรียนเครือข่าย และระหว่าง สพท. กับโรงเรียนคุณภาพ รวมทั้งกำหนดแนวทางการรองรับนักเรียนเพื่อส่งต่อต่างระดับ มีการจัดสรรงบลงทุน ครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง จำนวนเงิน 1,967,987,000 บาทคัดเลือกโรงเรียนคุณภาพที่มีความพร้อมแต่ละจังหวัดเพื่อเป็นแบบอย่างของความสำเร็จ จัดสร้างบ้านพักครูของโรงเรียนคุณภาพอำเภอละ 1 แห่งโดยสร้างชุมชนบ้านพักครูในโรงเรียนคุณภาพ(โรงเรียนหลัก) หรือโรงเรียนเครือข่าย ที่สะดวกต่อการเดินทาง และปลอดภัยต่อการพักอาศัย และดำเนินการสำรวจความต้องการบ้านพักครูทั่วประเทศเพื่อจัดทำแผนการสร้างชุมชนบ้านพักครู ดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพในจังหวัดสระแก้วให้เป็นต้นแบบจังหวัดนำร่อง”สระแก้วโมเดล”เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับจังหวัดอื่นๆในการดำเนินการต่อไป
โครงการโรงเรียนคุณภาพอาจไม่ใช่โครงการใหม่ถอดด้ามแต่เป็นการพัต่อ ยอดจากโรงเรียนคุณภาพเดิม ซึ่งได้มีการดำเนินการภายใต้ชื่อและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป แต่ความมุ่งหมายสำคัญของการดำเนินการในครั้งนี้ คือการวางทิศทางการพัฒนาในระยะยาวถึง 4 เฟสใช้เวลาต่อเนื่องเกือบ 20 ปีโดยเชื่อมั่นว่า ทิศทางดังกล่าวสามารถดำเนินโครงการต้นแบบในเฟสที่ 1 เป็นตัวอย่างให้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ ด้วยหวังว่าผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐบาลในยุคต่อไปจะขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อวันหนึ่งโรงเรียนทุกโรงของประเทศไทยจะพลิกโฉมจากเดิม ไปเป็นโรงเรียนรูปแบบใหม่ที่มีความสมบูรณ์แบบ พร้อมให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่เด็กและเยาวชน ทิศทางที่กำหนดไว้อาจต้องใช้เวลาอีกยาวไกลแต่การเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆตั้งแต่วันนี้ก็น่าจะทำให้มีความหวังที่จะเห็นความสำเร็จในอนาคต
Post Views: 65