บทความทางวิชาการ โดย ดร. กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ในบรรดาโรงเรียนเอกชนทั้งประเทศ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 11,792 โรง มีโรงเรียนเอกชนนอกระบบอยู่ถึง 7,803 โรง โดยโรงเรียนเอกชนนอกระบบ หมายถึง โรงเรียนที่จัดการศึกษาโดยมีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆได้แก่ 1)ประเภทสอนศาสนา2)ประเภทศิลปะและกีฬา 3)ประเภทวิชาชีพ 4)ประเภทกวดวิชา 5) ประเภทเสริมสร้างทักษะชีวิต 6)สถาบันศึกษาปอเนาะ 7) ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด(ตาดีกา) โรงเรียนเอกชนนอกระบบเหล่านี้ หากตัดเอาโรงเรียนที่สอนเกี่ยวเนื่องกับศาสนา คือประเภทที่ 1,6,7 ออกไป ก็จะพบว่ามีอยู่ 4 ประเภท รวมทั้งสิ้น 4,965 โรง
โรงเรียนเอกชนนอกระบบ แม้ดูเหมือนจัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียนเป็นการเฉพาะบุคคล เฉพาะกลุ่ม เฉพาะความสนใจ น่าจะเป็นประโยชน์เฉพาะสำหรับปัจเจกบุคคล หากแต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป ทิศทางการจัดการศึกษาแตกต่างออกไปจากเดิม การเรียนในโรงเรียนนอกระบบของเอกชนกำลังกลายเป็นรูปแบบหรือวิถีใหม่ของการจัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนอย่างแท้จริง และได้มีความเคลื่อนไหวหลายประการที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะทำให้โรงเรียนเอกชนนอกระบบมีรูปแบบการเรียนการสอน และกระบวนการจัดการที่เปลี่ยนไปจากเดิม
เรื่องแรกๆ ได้แก่การสนับสนุนให้ประชาชนเรียนนอกระบบมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มุ่งพัฒนาคนให้จบการศึกษาออกไปประกอบอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ และมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แนวคิดนี้ได้มีการนำเสนอผ่านกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งจากเดิม การกู้เงิน เน้นเฉพาะ การศึกษาในระบบ เช่นกู้เรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย หรืออุดมศึกษา ที่ต้องใช้เงินมาก ใช้เวลาเรียนนาน กว่าจะมีงานทำ กว่าจะมีเงินใช้คืน ก็ล่วงเลยไปหลายปี ทำให้กองทุนขาดสภาพคล่องและเป็นภาระของรัฐ มาเพิ่มเงื่อนไขเป็นให้กู้เพื่อเรียนหลักสูตรระยะสั้นด้วย
โดยอาจเป็นหลักสูตรสามเดือน หกเดือน หนึ่งปี ซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก ผู้เรียนจบแล้วมีงานทำ สามารถใช้หนี้กองทุนได้โดยเร็ว รวมทั้งเป็นการกระจายรายได้ไปยังสถานศึกษาขนาดเล็ก หรือโรงเรียนเอกชนที่จัดการศึกษานอกระบบและอาชีพ อาทิโรงเรียนวิชาชีพ ศิลปะและกีฬา สร้างเสริมทักษะชีวิต กวดวิชาและอื่นๆ ซึ่งการให้กู้เพื่อเรียนหลักสูตรระยะสั้นเป็นการตอบสนองทิศทางการพัฒนาประเทศ ภายใต้ฐานเศรษฐกิจ s-curve และ New s-curve ถือเป็นการลงทุนระยะสั้น แต่ได้ผลระยะยาว และยังทำให้โรงเรียนเอกชนนอกระบบเติบโตขึ้นจากเดิมอีกด้วย
ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สามารถใช้ระบบ online ได้ จากเดิมการจัดการเรียนการสอนต้องใช้ครูหรือผู้สอน หรือใช้สื่อการเรียนการสอนต้นแบบโดยครูหรือผู้สอนเป็นผู้ผลิตขึ้น ใช้ครูและสื่อการเรียนการสอนบูรณาการกัน หรืออาจเรียนร่วมระหว่างโรงเรียนกับโรงเรียน หรือหน่วยงานอื่น ได้มีการเพิ่มรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ ในร่างประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเรื่องกำหนดประเภทและลักษณะของโรงเรียน การจัดการเรียนการสอน และหลักสูตรของโรงเรียนนอกระบบฉบับที่…พ.ศ.…ข้อ(4) การจัดการเรียนการสอนด้วยระบบดิจิทัลโดยการถ่ายทอดเนื้อหาความรู้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายอื่น ซึ่งผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกสถานที่ นี่จึงเป็นทิศทางใหม่ของวิธีการจัดการเรียนรู้ ที่จะทำให้การศึกษานอกระบบของเอกชนขยายตัวได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ภายใต้การควบคุมดูแลคุณภาพของหน่วยงานกลางคือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
ประการสุดท้าย ปัจจุบันการจัดการศึกษาเอกชนนอกระบบ จัดเป็นการศึกษาทางเลือกที่มีคุณภาพ และมีจุดแข็งในการจัดการ คือมีความคล่องตัว ยืดหยุ่น สามารถจัดการเรียนการสอนตอบสนองความต้องการของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ โดยสมาคมที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกับสช. ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนโรงเรียนเอกชนนอกระบบให้ตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาเเละการพัฒนาประเทศ มีการเตรียมการจัดกิจกรรม นำเสนอผลงาน แสดงนิทรรศการความเป็นเลิศ(Best Practice) ของสถานศึกษา จัดอบรม ประกวด แข่งขัน เพื่อแสดงศักยภาพของนักเรียนโรงเรียนเอกชนนอกระบบในด้านทักษะวิชาชีพ วิชาการ ดนตรี ศิลปะและกีฬาแขนงต่างๆ รวมทั้งจะได้มีการแสวงหาแนวทางในการสร้างบทบาทและศักยภาพของโรงเรียนเอกชนนอกระบบต่อการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนต่อไปในอนาคตอีกด้วย
นี่จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งของโรงเรียนเอกชนนอกระบบที่กำลังจะเปลี่ยนไป ซึ่งนอกจากจะทำให้การจัดการศึกษาดังกล่าวไม่เหมือนเดิมตามที่เราเคยคุ้นชิน เเต่ก็มั่นใจได้ว่า รูปแบบและวิธีการใหม่ๆเหล่านี้จะทำให้โรงเรียนเอกชนนอกระบบมีคุณภาพเเละดีขึ้นกว่าเดิม
Post Views: 59