โลกคู่ขนานของการสอนจรรยาบรรณสื่อ
วงวิชาการรับสอนสื่อยุคใหม่ ปลูกจริยธรรมยากที่สุด เหตุโลกในตำรากับชีวิตจริงแตกต่าง พร้อมสะท้อน 6 พฤติกรรมผลิตสื่อยุคใหม่ เน้น เร็ว แรง แฝงโฆษณา ใกล้ชิดสนิทแหล่งข่าว ยังเชื่อ “จริยธรรม” สำคัญที่สุด มี “หลักการ” ในใจให้ตัวสื่อเลือกทำหน้าที่ การเสวนาวิชาการ “โลกคู่ขนานของการสอนจรรยาบรรณสื่อ” โดยคณาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดคุยในประเด็นการทำข่าว การนำเสนอข่าว ประเด็นจรรยาบรรณสื่อ โดย ดร.ดวงแก้ว เธียรสวัสดิ์กิจ ผู้อำนวยการโครงการบัณฑิตศึกษาและอาจารย์ประจำกลุ่มวิชาสื่อสารองค์กร กล่าวว่า กรณีบ้านกกกอก กรณีคุณแตงโม มาจนถึงกรณีการจัดฉากในข่าวหลวงปู่แสง ทำให้เห็นเหมือนกับเราอยู่บนขอบของจรรยาบรรณและกำลังจะเกินขอบออกไป เราเห็นโลกคู่ขนานของการสอนจรรยาบรรณสื่อในห้องเรียน มีโลกคู่ขนานของเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น เหมือนเกิดมีโลกอีกใบหนึ่งที่มีจุดซ้อนทับกันกับโลกที่เราอยู่ อาจารย์ที่สอนสื่อได้รับแรงกระเพื่อมจากสิ่งนี้จึงเป็นที่มาของการเสวนาในวันนี้ งานวิจัยในต่างประเทศหลายชิ้น บอกว่า ที่ที่จะเรียนในเรื่องจริยธรรม คือที่ที่ออกไปทำงาน การเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาสะท้อนความเห็นออกมาจะทำให้เกิดความเข้าใจในการสอนวิชากฎหมายเคยมีนักศึกษาสะท้อนว่าข้อกฎหมายบางข้อไม่ควรเอามาใช้ในประเทศไทย เพราะข้อกฎหมายเหล่านี้เราเอามาจากต่างประเทศซึ่งไม่หมือนกับบริบทของประเทศไทย กฎหมายสื่อมวลชนหลายครั้งเป็นดุลยพินิจ บางเรื่องมีคณะกรรมการเป็นคนวินิจฉัย ซึ่งคนในรุ่นของคณะกรรมการเป็นคนละรุ่นกับนักศึกษา
ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม ประธานหลักสูตรวารสารศาสตรบัณฑิต และอาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวิทยุและโทรทัศน์ กล่าวว่า เมื่อก่อนโลกที่ยิ่งใหญ่ของวิชาการคือตำรา เวลาที่เราบอกความรู้ในตำราเหมือนเป็นความจริงอันสูงสุด แต่วันนี้ เมื่อเราบอกว่าหลักการเป็นอย่างนี้ แต่โลกการทำงานของสื่อในยุคปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้น การทำงานของสื่อเมื่อก่อนเราเข้าไม่ถึงจะเห็นเมื่อถูกนำเสนอแล้ว แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว หลายสิ่งหลายอย่างทำให้มาคิดว่าเวลาที่อาจารย์สอนเรื่องจริยธรรมเหมือนจะเป็นยาขม แล้วเกิดสงครามขึ้นในห้องเรียน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหวยสามสิบล้าน กรณีแตงโม มาถึงการจัดฉากหลวงปู่แสง มันตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราบอกกับนักศึกษา “เวลามีของสองสิ่งมาเจอกันเราเรียกว่า ปรากฏการณ์ แล้วเมื่อมีทฤษฎีเข้ามามันทำให้ปรากฏการณ์ชัดขึ้น แต่วันนี้กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่เราบอกถึงปรากฏการณ์มันไม่ชัดแต่มันเบลอ ได้สนทนากับสื่อมวลชนอาวุโส ได้รับมุมมองเรื่องนี้ว่า จริยธรรม ไม่ใช่เรื่องสูงส่งแต่อยู่ในตัวเรา สิ่งสำคัญคือความแข็งแกร่งของกองบรรณาธิการต่างหากที่ต้องมีจริยธรรมมีบรรทัดฐาน” การเรียนรู้เรื่องจริยธรรม เกิดขึ้นเมื่อไปทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว เรามักสอนว่าเวลาเราทำข่าวหนึ่งข่าวนอกจากจะคำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคมแล้ว ต้องคิดต่อด้วยว่าข่าวนั้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้หรือไม่ ที่สำคัญวิธีการได้ข่าวมาต้องไม่ได้มาด้วยวิธีที่ผิดแม้จะไม่ผิดกฎหมายแต่อาจจะผิดจริยธรรม ถึงได้ข่าวมาก็คือว่าเป็นการได้มาที่ผิด กฎหมายกำกับเราในความเป็นมนุษย์ จริยธรรมเป็นสิ่งที่กำกับสิ่งที่อยู่ภายในตัวเรา การได้ข่าวมาอาจจะมีเทคนิคในหาข่าว แต่เทคนิคตรงนั้นควรต้องมีจริยธรรมกำกับด้วย “คนที่รู้ข้อกฎหมายมากๆ จะมีชั้นเชิงในการทำผิดจริยธรรมได้มาก เพราะรู้ข้อกฎหมาย สิ่งที่กำกับความเป็นมนุษย์นอกจากจะมีกฎหมายแล้ว จริยธรรมมีความสำคัญสูงสุด เราสอนเรื่องของความเป็นมนุษย์ต่อให้ข่าวชิ้นนั้นเป็นข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวนั้นต้องไม่ไปฆ่าใครทางอ้อม การเข้าใจเรื่องจริยธรรมต้องอยู่ในความรู้สึกของตัวสื่อ เพราะเมื่อเจอสถานการณ์นักข่าวจะตัดสินใจให้ได้ว่าจะวางตัวอย่างไร การสอนเรื่องจริยธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย วัฒนธรรมในการทำข่าวในปัจจุบันยิ่งเข้าใจได้ยาก จริยธรรมควรเป็นสิ่งที่อยู่ในจิตใจ เส้นแบ่งระหว่างนักข่าวกับแหล่งข่าวควรจะมีเส้นแบ่งเพื่อให้มีความเป็นกลางและไม่มีอคติในการเสนอข่าว วัฒนธรรมการทำงานของวิชาชีพนี้กำลังเปลี่ยน เป็นความท้าทายของคนสอนที่ไม่อาจสอนแต่หลักการและอุดมคติ แต่ต้องเอาสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาสอนให้เขาเข้าใจแล้วเลือกที่จะอยู่ตรงไหน” รศ.รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวารสารศาสตร์ กล่าวว่า โลกสองใบที่เรากำลังพูดถึง คือ โลกของการเรียนรู้ กับโลกของการทำงาน ไม่ควรเหมือนกัน เพราะโลกทางธุรกิจและโลกวิชาการเป็นโลกของการสร้างความรู้ ซึ่งทั้งสองโลกมีเป้าหมายแตกต่างกัน ควรจะให้โลกทั้งสองโลกต่างกันต่อไป ถ้าเข้ามาใกล้กันแล้วมันจะเกิดความเอนเอียงเกิดขึ้น การที่สื่อเรียนรู้ในห้องเรียนอย่างหนึ่ง แต่เมื่อถูกส่งออกไปทำงานเจออีกอย่างหนึ่ง หน้าที่ของอาจารย์คงเป็นผู้เตรียมการให้นักศึกษาได้เข้าถึงอุดมคติที่สูงสุดเมื่อออกไปปฏิบัติงานจริงก็ต้องปรับตัวและทำงานให้ได้ ไม่ว่าในโลกของการทำงานจะเจออะไร ถ้ามีหลักการอยู่ เชื่อว่า จะสามารถพลิกแพลงไปได้ด้วยตัวเอง ถ้าสื่อต้องเข้าไปอยู่ในองค์กรที่แตกต่างจากสิ่งที่เราเรียนมา สื่อคงต้องขายตัวเอง คือต้องทำตัวเองให้ชัดว่าเราถนัดเรื่องอะไร แสดงศักยภาพของตัวเองออกมาเพื่อให้หัวหน้างานรู้ว่าตัวเราเป็นอย่างไรและควรจะส่งไปทำงานแบบไหน “ถ้ามีการสร้างการเรียนรู้ที่ดีสื่อจะพร้อมในการทำงานในสนามจริง สมัยก่อนการเรียนการสอนทางสื่อสารมวลชนไม่มีวิชาจริยธรรม อาจารย์จะสอดแทรกผ่านเรื่องเล่าในวิชาที่เรียนทำให้เกิดความรู้สึก จำได้และมีอิทธิพลต่อทัศนะและการทำงาน วันนี้เรื่องเล่าคงไม่พอเพราะบริบทและคุณค่าต่างไปจากอดีต เรื่องเล่าของอาจารย์อาจจะใช้ไม่ได้กับปัจจุบัน คงต้องให้ลงมือทำงานแล้วเอาบทเรียนมาสอนกันตรงหน้างานเลย สมัยก่อนคำว่าสิทธิส่วนบุคคลเป็นเรื่องเข้าใจยาก แต่วันนี้เข้าใจได้ง่าย แต่มีคำหนึ่งที่สอนให้เข้าใจได้ยากมาคือคำว่า ผลประโยชน์ทับซ้อน คงต้องให้นักศึกษามีความรู้ให้ครุ่นคิดกับตัวเองว่าเขาให้คุณค่ากับเรื่องราวต่างๆ อย่างไร เห็นความแตกต่างของคนที่ไม่เหมือนกัน การยกตัวอย่างในการทำงานเพื่อให้ลองประเมินคุณค่าตัวเอง น่าจะทำให้ตัวผู้เรียนได้ประเมินตัวเองและสำรวจตัวเองได้ อยากจะชวนให้ผู้เรียนเขียนบันทึกประจำในการทำงานแล้วส่งให้อาจารย์ เพราะจะเป็นสิ่งที่ช่วยประเมินและเห็นวิธีคิดจากการเรียนรู้ หรือการฝึกงานแต่ละวัน ถ้าเขาสะท้อนออกมาเราจะได้รู้ว่าเขาได้เรียนรู้อะไร และต้องเติมอะไรให้” กองบก.หรือผู้ประกอบเรียกร้องการทำงานของสื่อทำให้เกิดวัฒนธรรมในการผลิตงานของสื่อมวลชนที่พบอยู่ 6 เรื่อง คือ เน้นความเร็วสุดๆ ความจริงเอาไว้ทีหลัง, ให้ความสำคัญกับความแรงของข่าวทั้งภาพและเรื่อง, ลดระยะห่างด้วยการนับญาติกับแหล่งข่าว, ตัดสินประเด็นข่าวให้เห็นขาวและดำกันไปเลย, แปลงร่างโฆษณาให้กลายเป็นข่าวหรือการโฆษณาลงไปในข่าวขายของลงไปตรงๆ ในเวลาข่าว และข้อกฎหมายทำให้นักข่าวทำงานไม่เต็มที่ต้องคอยเซ็นเซอร์ตัวเอง ดร.คันธิรา ฉายาวงศ์ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาบริหารการสื่อสาร กล่าวว่า นักศึกษามักตั้งคำถามว่าประเด็นใดเป็นการทำผิดกฎหมาย เพื่อที่เขาจะระวัง ในโลกของวิชาการเราสอนให้สื่อเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ ขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นหน้างานเราไม่อาจบอกได้ถ้าเจอแบบนี้ต้องทำแบบนี้ นักข่าวต้องพิจารณาเองว่าควรทำหน้าที่อย่างไร วิชากฎหมายไม่ได้มีแค่ตัวกฎหมายแต่มีจริยธรรมด้วย เราจึงยกตัวอย่างว่ากฎหมายและจริยธรรมแตกต่างกันอย่างไร วิธีเปรียบเทียบในการสอน กฎหมายเหมือนเปลือกไข่ที่หุ้มวุ้นข้างในคือจริยธรรมไว้ จริยธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นแก่นที่อยู่ภายใน การเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทำให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจมากขึ้น