ShowTimeUpdate Newsกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาท่องเที่ยว B Tripแหล่งเที่ยวไลฟ์สไตล์

ใช้หัวใจนำทาง … สู่ทุ่งหญ้าท้ายเขื่อน “ป่าสักชลสิทธิ์”

Pa Sak Jolasid Dam

เมื่อการเตรียมการเดินทางในแบบ Plan no Plan เหมือนๆจะมีแพลนแต่ไม่ค่อยจะมีเท่าไหร่ของเราเริ่มขึ้นในช่วงสายของวันหยุด จากคำพูดที่ว่า “ไปลพบุรีกันมั๊ยพี่ แถวเขื่อน” น้องโจ้ ช่างภาพและนักเขียน www.meetthinks.com  เอ่ยขึ้นทำให้เรากลับมานั่งนึกว่า อืมม... จริงซิ ไม่ได้ไปที่นี่มานานแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่จังหวัดนี้นำเรื่องการปลูกต้นทานตะวันมาส่งเสริมการท่องเที่ยว ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้างหนอ 

ว่าแล้ว... การเก็บกระเป๋าแบบลวกๆ เผื่อจะค้าง ค้างที่ไหนค่อยว่ากัน แต่เท่าที่ดูในแหล่งจองห้องพักไม่ว่าจะเป็น agoda booking ยังพบว่า มีห้องเหลือๆ งั้นค่อยดูกันอีกที



จากข้อมูลบอกไว้ว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นเขื่อนดินกักเก็บน้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย สืบเนื่องจากปัญหาการเกิดน้ำท่วมในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักในฤดูน้ำหลาก และขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน อันเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมถึง การสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหา ดังกล่าว เมื่อวันที่19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และบริเวณกรุงเทพ มหานครและปริมณฑลอีกด้วย จนกระทั่งวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2537คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้เปิดโครงการ ก่อสร้างเขื่อนกัก เก็บน้ำแม่น้ำป่าสัก ภายหลังการศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมแล้ว

นอกจากนี้ ทางฝั่งจังหวัดลพบุรียังมีสถานีรถไฟเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อยู่บริเวณทางเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์สถานีรถไฟเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีอาคารอเนกประสงค์ริมอ่างเก็บน้ำ มีสถานที่ปล่อยปลา และ จุดนั่งชมวิวริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

“วันนี้ ทำไมรถเยอะจัง “ น้องชัญญ่าบล็อกเกอร์ จาก www.toptotravel.com ผู้ร่วมทางเปรยขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปเป็นชั่วโมง รถราก็ยังคงเต็มไปหมดระหว่างการเดินทาง

ครั้งนี้เราใช้เวลาสองชั่วโมงกว่าจึงมาถึงบริเวณอาคารอเนกประสงค์ริมอ่างเก็บน้ำ ตั้งแรกเข้ามีเครื่องวัดอุณหภูมิให้นักท่องเที่ยวได้วัดไข้ตามสถานการณ์โควิดที่เริ่มผ่อนคลายเปิดให้คนเดินทาง

ผู้คนไม่มากนัก แม้จะเป็นวันเสาร์



เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างกว่า 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2542 และ ทำพิธีปฐมฤกษ์ กักเก็บน้ำ เขื่อนในวันที่ 15 มิถุนายน;พ.ศ. 2541 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเสด็จมาเป็น องค์ประธาน และในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามเขื่อนแห่งนี้ว่า “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์” อันหมายถึง “เขื่อนแม่น้ำป่าสักที่เก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงทำพิธีเปิด เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในวันที่ 25 พฤศจิกายนพ.ศ. 2542



“ให้อาหารปลามั๊ยคะ” เสียงแม่ค้าริมอ่างเก็บน้ำตะโกนเรียกผู้มาเยือน

นอกจากจะมีที่ให้อาหารปลา ยังมีจุดนั่งชมวิวริมอ่างเก็บน้ำ นั่นทำให้เราเห็นหลายคน นั่งบ้าง เก็บภาพกันบ้างประปราย

มาถึงเก็บภาพบริเวณด้านหน้าเสร็จ ก็เริ่มมองรอบๆ จำได้ว่า มีรถรางพานักท่องเที่ยวชมวิวบริเวณสันเขื่อนฯ สอบถามพี่ๆ ป้าๆ ขายของที่ระลึก ได้ความมาว่า ช่วงโควิดหยุดพักกันก่อน น่าจะเริ่มอีกทีปลายปี

... รถรางนำเที่ยวสันเขื่อนฯ เป็นรถรางที่บริเวณนำเที่ยวชมวิว ระยะทางไป - กลับความยาว 9,720 เมตร



ส่วนของใครที่จะนั่งรถไฟไปเที่ยว บอกตรงๆ ว่าช่วงนี้เอาแน่นอนไม่ได้จริงๆ คงต้องเช็คตารางการเดินรถไฟกันที่สถานีหัวลำโพง ซึ่งไฮไลท์ก็อยู่ที่สถานรถไฟเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สถานที่ที่หลายคนต้องลงเก็บภาพกัน นอกจากนี้ทางฝั่งสระบุรี พระพุทธรัตนมณีมหาบพิตรชลสิทธิ์มงคลชัย (หลวงปู่ใหญ่ป่าสัก) อยู่บริเวณท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ชมวิวริมสันเขื่อนอันสวยงาม

เราสอบถามพี่ๆ ที่จำหน่ายสินค้า ด้วยความที่ไม่แน่ใจ ไม่ได้มาเสียนาน

“ ถ้าจะไปบริเวณท้ายเขื่อน ที่มีสถานีรถไฟ ที่มีรถรางวิ่งและมีการนำแกะแพะมาเลี้ยงบริเวณทุ่งหญ้าท้ายเขื่อนต้องไปทางไหนคะ” เราถาม

ดูจะเป็นคำถามที่พาเอาคนฟังงง ตะแกตอบกลับมาว่า “ ที่พี่ถามอ่ะ อยู่กันคนละที่เลยนะคะ จะไปที่ไหนแน่ ถ้าจะไปดูทุ่งหญ้าท้ายเขื่อน โน่น ขับออกไปเลย ถ้าจะไปสถานีรถไฟก็อีกทาง จะไปบ้านพักก็อีกทางจะไปไหนคะ”

.... 555 เรามองตามมือที่ชี้ไปคนละทาง เรียกว่าเป็นวงกลมกันเลยทีเดียว

.... ไม่เพียงแต่แกงง เราเองก็งง งั้นไม่เป็นไร ไปท้ายเขื่อนกันก่อนละกัน

แกะคะแกะ ... ตามหาแกะท้ายเขื่อน

เอาเป็นว่า ใครที่ยังไม่เคยไปท้ายเขื่อน เพื่อชื่นชมทุ่งหญ้ากว้าง ต้องขับรถออกจากบริเวณอาคารเอนกประสงค์แห่งนี้ แล้วไปถึงตลาดนัดเจอสามแยกเลี้ยวซ้าย แล้วก็ซ้ายอีกที ถ้าไงตั้งจีพีเอสปักหมุดว่า ทุ่งหญ้าท้ายเขื่อน บ้านท่าฤทธิ์ จะใกล้เคียงความต้องการมากสุดแล้วหล่ะ

... และแล้ว ความพยายามอยู่ที่ไหน ก็พยายามกันต่อไป

... แวะสอบถามร้านค้าอีกครั้งหนึ่งเพื่อความแน่ใจ

....บ่ายแก่เต็มที ล้อยังคงหมุนพาเราละเรื่อยไปตามถนนเล็กๆ

คราวนี้ไม่พลาด เจอแล้ว ทะเบียนกรุงเทพฯ เลี้ยวเข้าออกอยู่หลายคัน

คนเลี้ยงแพะ กำลังต้อนแพะจำนวนนับร้อยกลับสู่ที่พัก ไม่เจอแกะก็ยังดี ได้แต่จอดกระโดดลงเก็บภาพแทบไม่ทัน



... และเมื่อมาถึงลานโล่งกว้างแห่งนี้ เราเห็นรถยนต์หลายคัน ต่างกระจายกันจอดตามลาน และตามอัธยาศัย ดูท่าหลายคนจะเคยมา เพราะการเตรียมพร้อม บ้างก็กางเต็นท์ บ้างก็ปูผ้าพลาสติกพร้อมตั้งเก้าอี้ชื่นชมวิวตรงหน้า ขณะที่ไกลออกไป เป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกบินพารามอเตอร์ ที่บินฉวัดเฉวียนอยู่เหนือหัวให้ได้เห็นจำนวนหลายเครื่องอยู่

.... ว้าว









บอกได้คำเดียวว่า ว้าว สำหรับคนที่ใช้หัวใจนำทางจริงๆ ที่นี่ พี่โต้ง อดีตช่างภาพนสพ.ไทยรัฐ ปัจจุบันกลับมาบ้านเกิดที่อำเภอท่าวุ้ง เล่าให้เราฟังว่า “เดิมน้ำเยอะมาก แต่เนื่องจากน้ำแล้ง เพราะการผันน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ตอนล่าง ทำให้บริเวณแห่งนี้ไม่มีน้ำ เกิดเป็นลานโล่งสุดลูกหูลูกตา เรายังพบซากหอย ซากกิ่งไม้ และซากปลา ให้ได้เห็นบนพื้นผิวดินริมน้ำ 

สถานที่เที่ยวอย่าง ทุ่งดอกตะวัน ที่เอกชนปลูกขึ้น และเคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ต่างไม่มีแรงทำต่อเนื่องเพราะขาดน้ำในการหล่อเลี้ยง”





นักท่องเที่ยวหลายคนที่นำรถเข้ามา จะจอดอยู่บริเวณลานทุ่งหญ้าที่พื้นดินแข็งตัว เพื่อความปลอดภัย

ทั้งเรา ทั้งน้องร่วมทาง ต่างงัดกล้อง SLR บันทึกภาพ เปลี่ยนเลนส์หลายรอบ ทั้งเลนส์ซุม ทั้งเลนส์วายด์ รวมถึงมือถือที่ปัจจุบันเก็บแสงได้อย่างชะงัดนัก

.... แสงอาทิตย์ค่อยๆ เหลืองเรืองรองเปิดหน้าฟ้า หลายคนจมจ่อมกับภาพตรงหน้า







เราค่อยๆ ทิ้งตัวลงนั่งบนผืนทุ่ง  ธรรมชาติค่อยๆเผยความงามให้ได้เห็น ทิวเขาสะท้อนน้ำ สวยงามจนสาธยายไม่ถูก



... อากาศเริ่มเย็นลง บรรยากาศแบบนี้ การได้พบสังคมของผู้คนที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน ใบหน้าที่อิ่มเอมไปด้วยความสุขของแต่ละคน คนรุ่นใหม่พาลูกน้อยมาเดินลัดเลาะริมผืนน้ำ ชี้ชวนชื่นชมความงาม หนุ่มสาวถ่ายรูปเซลฟี่

ไม่นานอาทิตย์ก็ใกล้ลับเหลี่ยมขอบน้ำ ดูจะเป็นช่วงเวลาที่ชายหาปลาจะเริ่มทำงาน



ที่นี่ไม่มีที่พัก ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก หากต้องการพักมีเพียงเต็นท์ที่ต้องนำมาเอง

สำหรับเรา เลือกที่พักในเมืองมากกว่าเนื่องเพราะไม่ได้จัดเตรียมอุปกรณ์ใดๆ มา และดูจะไม่สะดวกสำหรับบรรดาสาวๆ ในช่วงค่ำคืนนัก

แต่บริเวณใกล้เคียงมีที่พักเป็นบ้านพักสวัสดิการ มีที่พักโฮมสเตย์และที่พักใจกลางเมืองอยู่ สามารถเสริชจากเน็ตได้ตามอัธยาศัย

... สำหรับเราค่ำนี้มาจบลงที่ บ้านรวยสุขรีสอร์ท ชื่ออาจจะดูไม่เท่าไหร่ เป็นที่พักแบบเป็นหลังมีทั้งหมด 10 หลัง ใช้ชื่อผลไม้ต่างๆเป็นชื่อห้องพัก ไม่ว่าจะเป็นมะนาว มะพร้าว สามารถนำรถเข้าเสียบจอดหน้าบ้านพักเป็นสัดส่วน ที่สำคัญ สะอาด ปลอดภัย และมีระเบียงหน้าบ้านพักให้ได้นั่งตั้งวงสนทนาในยามค่ำคืน













.....รุ่งอรุณวันใหม่กลางเมืองลพบุรี เช้านี้หลังจากแวะทานก๋วยเตี๋ยวร้านดังแล้ว เราจะพาไปไหว้พระกัน ที่วัดห้วยแก้ว ก็เหมือนกับวัดอื่นๆ ที่ประสบกับความเดือดร้อนจากพิษโควิด 19 ที่นี่เดิมมีผู้คนเข้ามาสักการะ

วัดห้วยแก้ว ตั้งอยู่ในอำเภอบ้านหมี่ เป็นวัดที่มีอายุ 140 ปีต่อมาในช่วงปี 2551 พระครูรัตนาธิคุณเจ้าอาวาสวัดห้วยแก้วองค์ปัจจุบันได้มีแนวคิดที่จะสร้างเจดีย์ขนาดสูง 32.8 เมตร โดยสร้างเป็นศิลปะแบบขอมขึ้นกลางน้ำเพื่อเป็นศาสนวัตถุถวายเป็นพุทธบูชา



ข้อความจากเอกสารแผ่นพับที่ผลิตโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี  ที่คุณลุงเจ้าหน้าที่ในวัดนำมาให้เราได้รู้ถึงที่มาของวัดแห่งนี้

.... ที่เจดีย์กลางน้ำเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า โดยได้รับความเมตตาจากพระเทพปริยัติมงคล( หลวงปู่โอภาส โอภาโส)ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดลำปาง เจ้าอาวาสวัดจองคำพระอารามหลวง อ.งาว จ.ลำปาง ได้ให้นามพระเจดีย์ว่า “ พระเจดีย์มหาเมตตารัตนะรังษี”



 

ด้านนอกพระเจดีย์เป็นศิลปะขอม ด้านในเป็นศิลปะพม่า มีพระเจดีย์พระหยกขาวและพระพุทธรูปหยกขาว 8 องค์ ตั้งประดิษฐานภายในตรงจุดกึ่งกลางพระเจดีย์ พร้อมทั้งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระกรุ (พระร่วง) จำนวน 84,000 องค์ ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 7 ปีจากแรงศรัทธาของชุมชนที่มีต่อวัด จึงเรียกด่าเป็นวัดที่เกิดจากแรงศรัทธาของชุมชนมหาสอนและชุมชนใกล้เคียง



ลุงเล่าต่อว่า “ที่ชุมชนคุณธรรม วัดห้วยแก้ว ตำบลมหาสอน มีที่เที่ยวใกล้ๆ เป็นแบบวิถีชุมชน มีกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งอีแต๋นเที่ยวชุมชน ชมการจักสานหวายบ้านมหาสอน ศูนย์การเรียนรู้ บ้านสวนขวัญ ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชิม โชว์ การทำแคปหมู ชมการแสดงชุมชน สัมผัสอาหารถิ่น ล่องแพและเรือ สัมผัสลุ่มน้ำบางขาม บ้านไทยหลบโจร

ส่วนสินค้าชุมชน จะมีปลาส้มแม่นอง แคปหมู ไข่เค็มใบเตยดินสอพอง ตะกร้าหวายลายวิจิตร น้ำพริก ข้าวปลอดสารพิษ ก๋วยเตี๋ยวโกเดี่ยว ปลาเค็มแดดเดียว”



ชุมชนมหาสอน เป็นชุมชนที่อยู่ติดลุ่มน้ำบางขามที่มีอายุมากกว่าพันปี ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย มีอาชีพทำนาเป็นหลักและมีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมายาวนานให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสวิถีริมน้ำ

... บริเวณประตูทางเข้าวัดจากแผงเล็กๆ แม่ค้าสูงวัยร้องเรียกลูกค้าอย่างแผ่วเบา  “ปลาแดดเดียวมั๊ยคะ ไข่เป็ดเลี้ยงเอง ผัก มะนาวก็เก็บจากที่บ้านเองคะ”

    “ฟักทองมั๊ยคะ” แม่ขายอีกคนส่งเสียงขณะมือยังสาละวนอยู่กับการร้อยมาลัยพวงน้อย

....เพราะโควิดทำให้การค้าการขายตกลง ยอดนักท่องเที่ยวแทบไม่มี สินค้าขายไม่ออก เราไม่เคยเห็นพวงมาลัยพวงละ 5 บาท

นั่นทำให้เราควักตังค์อุดหนุนกันอย่างเต็มกำลัง ... วันนี้เราฉีดวัคซีนครบ 2 โดสตามที่รัฐบอกการเดินทางจึงเริ่มขึ้นอีกครั้งในรอบปี แม้เรามีกำลังจับจ่ายไม่มากมาย ... แต่ทุกบาทเรียกรอยยิ้มและความหวังให้กับผู้คนในชุมชนได้เต็มเปี่ยม

.....เสียงขอบคุณยังดังไล่ตามหลังไม่ขาดสาย จากเสียงหนึ่ง.... กับสองมือที่พนมไหว้ขอบคุณลูกค้ารุ่นลูกอย่างเรา สะท้อนหัวใจเหลือเกิน

 “แวะมาอีกนะคะ”

 แม้ล้อจะหมุนออกมาจากวัดห้วยแก้วไกลจนลับตาแล้ว แต่เสียงเชื้อชวนยังดังก้องในใจ ...สัญญาคะว่าจะกลับมาอีก และจะมาเหมาไข่เป็ดยายอีกแน่นอน

  ... หากใครสนใจ จากเอกสารบอกเอาไว้ว่า มีที่พักโฮมสเตย์ ทั้ง บ้านสวนขวัญ ฟาร์มสเตย์ริมน้ำ บ้าน้อยรังนกโฮมสเตย์ บ้านริมทุ่งโฮมสเตย์ บ้าป๋าอ๊อดโฮมสเตย์ หญิงใจงามโฮมสเตย์ บ้านแพริมน้ำ

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางจักรยานให้ได้ขี่เที่ยวกัน แต่ยังไงก็คงต้องโทรเช็คกันก่อนนะคะ  เพราะไม่แน่ใจเหมือนกันกับสถานการณ์แบบนี้ ลองเช็คกันดู

ริมถนนใหญ่ไม่ไกลกันนักกับวัดห้วยแก้ว ยังมีร้านกาแฟเล็กๆ ที่ชื่อ view time café & bistro ร้านเพิ่งเปิดใหม่ได้ไม่ถึงปี ตั้งอยู่ริมคันนา มีที่นั่งทั้งแบบห้องแอร์และแบบโอเพ่นแอร์ ทุ่งนาถูกขุดให้ได้สร้างซุ้มสำหรับนั่งเล่นกันแบบชิลๆ ริมน้ำ แม้จะเคยเห็นมาหลายแห่ง แต่ก็ยังคงน่าแวะสั่งคาปูฯ สักแก้วเช่นกัน









 

 





... การเดินทางเวลาเพียงสองวันหนึ่งคืนครั้งนี้ .... น้อยนิดเหลือเกินกับหลายสิ่งที่ปะทะหัวใจมาอย่างเต็มแรง มีเพียงการผ่องถ่ายสิ่งที่สัมผัสผ่านมาทางตัวอักษรกับภาพบันทึกเพียงบางเสี้ยว.... หากคุณเริ่มคิดจะจับพวงมาลัยไปที่ใดสักที่ ... ที่นี่ ลพบุรี จะเป็นอีกจังหวัดที่น่าปักหมุดให้ได้จดจำอีกแห่งหนึ่งทีเดียว

บ๊ายบาย ลพบุรี แล้วพบกันใหม่ กับที่ใหม่แต่จะไปที่ใด ไม่รู้ได้จริงๆ

.................................................

บ้านพักสวัสดิการ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 111 หมู่ 6 ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี 15140 โทร 0 3649 4243   ราคา 1,000 – 2,500 บาท * จำนวน 10 ห้อง

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี 036- 414258, 036- 414257

ชุมชนคุณธรรมวัดห้วยแก้ว 080 020616

วิสาหกิจท่องเที่ยววิถีชุมชนเชิงเกษตรบ้านมหาสอน 094 9744297 , 084 775143

www.m-culture.go.th>lopburi

สายด่วนวัฒนธรรม 1765 



นาริฐา จ้อยเอม เรื่อง/ภาพ