ได้เวลา… ชุมชนคึกคัก …ชวนหลงรักถิ่นเมืองสิงห์
.. หลายต่อหลายครั้งที่เดินทาง กลับรู้สึกว่าทำไมถึงรู้จักหลายสิ่งน้อยลง ยิ่งสิ่งไหนใกล้ ยิ่งกลับดูเหมือนห่างไกล ไม่เว้นแม้แต่การท่องเที่ยว บางเมืองเพียงเพื่อเลยผ่าน แว่วก็แค่ชื่อ... แต่ไม่เคยสัมผัส เช่นเมืองสิงห์บุรีที่เพิ่งมีโอกาสได้เข้าไปเยือนในครั้งนี้ มีเรื่องราวเรื่องเล่ามากมาย...ให้เล่าสู่กันฟัง เมืองที่เริ่มคึกคักด้วยภารกิจเป็นเจ้าบ้านของชาวบ้านในชุมชนต่าง ๆ จากโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี สิงห์บุรี....เมืองที่เต็มไปด้วยสีสันทางวัฒนธรรมและความแกร่งแข็งของวีรชน เมืองที่เต็มไปด้วยวัดวาอารามงดงาม ...งดงามไม่แพ้รอยยิ้มของป้าลุงในชุมชน ชุมชนบ้านดอนกระต่าย ตั้งแต่แรกเข้าไปเยือนก็ได้พบกับบรรยากาศที่สุดแสนจะเป็นกันเอง ชุมชน ที่ชื่อ ชุมชนบ้านดอนกระต่าย ชุมชนที่อยู่ที่ลุ่มแถบแม่น้ำเจ้าพระยา ชื่อดอนกระต่ายตามตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งน้ำท่วมหนัก มีดอนหรือเนินสูงที่กระต่ายไปอยู่รวมกัน จึงตั้งชื่อกันตามนั้น เริ่มกันที่วัดประโชติการาม วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองสิงห์บุรี ไปทาง อ.อินทร์บุรี ราว 5 กม. เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองอีกแห่งหนึ่ง เดิมชาวบ้านเรียนสั้น ๆ ว่าวัดประโชติหรือวัดประชด หลักฐานการสร้างไม่ปรากฏแน่ชัด มีเพียงตำนานที่เกี่ยวกับสิงหพาหุ ผู้มีพ่อเป็นสิงห์แล้วเกิดความอับอายที่มีพ่อเป็นสัตว์เดรัจฉาน จึงฆ่าพ่อตัวเองเสีย ภายหลังสำนึกในความผิดจึงไปสร้าง พระนอนจักรสีห์และวัดสละบาปเพื่อเป็นการไถ่บาป แต่ก็ยังกลัวว่าบาปนั้นไม่ได้เบาบางลง จึงได้มาสร้างวัดประชดขึ้นอีกแห่ง โดยสร้างพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติขึ้น 2 องค์ ขนานนามว่า หลวงพ่อทรัพย์ และหลวงพ่อสิน หลวงพ่อทรัพย์และหลวงพ่อสินเป็นพระพุทธรูปจัดอยู่ในกลุ่มพระอัฏฐารส คือพระยืนที่สร้างแล้วมีความสูงเกิน 18 ศอก และที่พิเศษไปกว่านี้คือเป็นพระพุทธรูป ยืนซ้อนกัน 2 องค์ โดยหลวงพ่อสินประดิษฐานอยู่ทางด้านหน้า หลวงพ่อทรัพย์อยู่ทางด้านหลัง หลวงพ่อสินองค์หน้า สูง 3 วา 3 ศอก 5 นิ้ว ส่วนหลวงพ่อทรัพย์องค์หลัง สูง 6 วา 7 นิ้ว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 “ วิทยา เต่าทอง” ตำบลบางกระบือ อ.ดอนกระต่าย เล่าให้ฟังว่า “ชาวบ้านแถวนี้พื้นเพทำอาชีพ เกษตรกร บางส่วนรับราชการและกลุ่มอาชีพเลี้ยงปลาช่อนแม่ลา มีประชากร 884 คน ทั้งหมด 262 หลังคาเรือน เมื่อมีโครงการนวัตวิถีเข้ามาทำให้ชาวบ้านในชุมชนเริ่มตื่นตัว หลายคนเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารหรือการท่องเที่ยว ชุมชนคึกคัก เห็นความสำคัญของการร่วมแรงร่วมใจกัน ด้านเส้นทางท่องเที่ยวในชุมชนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว สถานที่แรกคือ ต้องมาที่วัด ประโชติการาม ความสำคัญของวัดประโชติการาม คือเป็นที่ประดิษฐานของพระยืน ที่มีอายุ 700 กว่าปี จะมีประวัติเชื่อมโยงกับวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร ใครมาสิงห์บุรี อย่างน้อย ๆ จะกราบพระนอน ขอพรพระนั่ง สมหวังพระยืน วัดประโชติการามก็คือหนึ่งในวัดที่อยู่ในสโลแกนนี้ ต่อจากนั้นมาดูต้นพุทราอายุ 100 กว่าปี ไปดูสวนมะนาวอินทรีย์ชีวภาพที่ปลูกในชุมชน และไปดูแหล่งอนุรักษ์เลี้ยงปลาช่อนแม่ลาที่แหล่งน้ำธรรมชาติหนองบัว ด้านหน้าวัด มีการปรับเตรียมพื้นที่เอาไว้เป็นตลาดนวัตวิถีเพื่อจำหน่ายสินค้าของชุมชน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มแม่บ้านทองม้วนหัวฟู น้ำพริกเผา น้ำพริกตาแดง กลุ่มจักสาน ตลาดแห่งนี้เปิดในตอนเช้าของวันเสาร์ เดินแวะชิมไปหลายร้านในตลาดนัด ก็มาคุยกับป้าสังวล วิโรจน์ บ้างดีกว่า ป้าสังวล วัย 60 ยังแจ๋ว กำลังยืนส่งเสียงอธิบายวิธีทำทองม้วนให้ คุณท้อด ทองดี นักดนตรีและผู้ดำเนินรายการชื่อดัง ฝรั่งหัวใจไทย ที่เข้ามาถ่ายทำสารคดีเพื่อประชาสัมพันธ์จังหวัดสิงห์บุรีกันอยู่
ป้าสังวล หนึ่งในกลุ่มแม่บ้านทองม้วนหัวฟู เล่าว่า “เมื่อยี่สิบปีก่อนเคยทำทองม้วน สมัยนั้นเวลาเขามีกลุ่มมีอะไรกันเราก็ไปทำกับเขาด้วย แล้วก็นำกลับมาพัฒนา มาลองผิดลองถูกเอา จนกระทั่งมีโครงการชุมชนนวัตวิถี ผู้ใหญ่บ้านจึงอยากให้นำการทำทองม้วนมาขาย ให้มารื้อฟื้นสูตรกันอีกครั้ง จะได้มีรายได้ อุปกรณ์ผู้ใหญ่ก็หามาให้ ความที่ไม่ได้ทำมานาน ก็นั่งปั้นกันหลายวัน คิดกันหลายตลบ เรียกว่าคิดจนหัวฟู ชื่อทองม้วนบ้านนี้ก็เลยเป็นชื่อทองม้วนหัวฟู” เล่าเสร็จหัวเราะชอบใจ อืม... เข้าท่าแฮะ ลองชิม “ทองม้วนหัวฟู” ตามคำเชื้อชวน รสชาติสุดยอดจริง ๆ ป้าบอกว่า “ที่นี่ของจะสดทั้งหมด กะทิสดเคี่ยวเอง ขูดมะพร้าวกันเอง” เสร็จจากการชิม ช็อป ในตลาด ...ก็กระโดดขึ้นรถที่ดัดแปลงเอาไว้สำหรับพานักท่องเที่ยวกันต่อไปยังแหล่งน้ำธรรมชาติหนองบัว อยู่ไม่ไกลจากวัดประโชติการามเท่าใดนัก นั่งรถตุเลงตุเลง...โคลงซ้ายทีเคลงขวาที เลาะลัดตามคันนา ... นาเขียวสด ... ถูกขโมยซีนด้วยดอกหญ้าเล่นลมริมทาง ไม่กี่อึดใจก็มาถึง แหล่งเพาะพันธ์ปลาช่อนแม่ลาที่ชาวบ้านเร่งฟื้นฟูอนุรักษ์เพื่อไม่ให้เลือนหายไป ..... ผู้ใหญ่บอกว่า ...ถ้าจะมาเที่ยวชมหรือมานอนพักที่บ้านดอนกระต่าย สามารถติดต่อที่พักในแบบโฮมสเตย์ได้ที่เบอร์ 096 0569409 บ้านบางระจัน เรื่องของประวัติศาสตร์ของวีรชนคนกล้าแห่งบ้านบางระจัน ถูกถ่ายทอดส่งต่อกันมาหลายครั้ง ทั้งนำเสนอผ่านภาพยนตร์ ละคร เรื่องเล่าต่างๆ บ้านที่ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในชุมชนโอท็อปนวัตวิถีที่ต้องมา จุดแรกเห็นจะเป็น อนุสาวรีย์วีรชนบ้านบางระจัน กรมศิลปากรสร้างเสร็จในปี 2512 สร้างไว้ตรงข้ามกับวัดโพธิ์เก้าต้น ห่างจากตัวเมืองสิงห์บุรี ประมาณ 15 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางสายสิงห์บุรี-สุพรรณบุรี หมายเลข 3032 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาในวโรกาสเปิดอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจันเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 ฐานของอนุสาวรีย์มีคำจารึกไว้ว่า "สิงห์บุรีนี่นี้ นามใด สิงห์แห่งต้นตระกูลไทย แน่แท้ ต้นตระกูล ณ กาลไหน วานบอก หน่อยเพื่อน ครั้งพม่ามาล้อมแล้ ทั่วท้องบางระจัน" วัดโพธิ์เก้าต้นนี้ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดไม้แดง เป็นอีกวัดที่มีบทบาทสำคัญของชาวสิงห์บุรีมาก ๆ สาเหตุที่มีชื่อว่า วัดไม้แดง มาจากต้นไม้แดงที่มีอยู่ในบริเวณวัดจำนวนมาก โดยบางต้นมีอายุยืนยาวกว่า 200 ปี จุดเด่นสำคัญของวัดนี้ คือ สัญลักษณ์ที่กำแพงวัด ที่จำลองเป็นกำแพงค่าย เนื่องจากวัดนี้เคยเป็นฐานที่มั่นของชางบ้านบางระจัน นอกจากนี้ ยังมี สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้ผู้คนมาขอพร หรือบนบานเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิตอีกด้วย ตลาดบ้านบางระจัน คึกคักไปด้วยผู้คนเนื่องเพราะตลาดบ้านบางระจันอยู่ในบริเวณส่วนของประวัติศาสตร์ตอนปลายของสมัยกรุงศรีฯ จากการสร้างวีรกรรม การดีไซน์จึงออกเป็นแนวตลาดโบราณ บรรยากาศน่ารักๆ ยิ่งโดยเฉพาะช่วงออเจ้าติดลมบน ยิ่งพาให้กระแสออเจ้าแห่งบ้านบางระจันได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากมาย สามารถเข้าไปเดินเที่ยวกันได้แบบสบายๆ เปิด-ปิด : 08.30-16.00 น. เสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่... เราไม่ได้มาเพื่อจะแนะนำสถานที่แห่งนี้เท่านั้น นี่เลย .. ไปดูบ้านทำกล้วยตากบ้านบางระจัน ผลิตภัณฑ์โอท็อปที่จำหน่ายกันอยู่ในตลาดบ้านบางระจัน กลุ่มผลผลิตแปรรูปทางการเกษตร ที่อบกล้วยด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยได้กำนันธนวันต์ ชัยรุ่งโรจน์สกุล เป็นผู้นำชาวบ้านเข้ามารวมกลุ่มกัน กลุ่มนี้อยู่เลขที่ 3/2 หมู่ 9 ตำบางระจัน อ.ค่ายบางระจัน โทร 096 860 9952 สามารถเข้าไปเยี่ยมชมกันได้ถึงโรงอบ ดูแล้วสะอาดสะอ้าน ที่สำคัญอร่อยจริง ...อบจริง ไม่ได้โม้ ใช้เวลาอบ 3-4 วัน คัดสรรแต่กล้วยลูกสวย เพื่อให้ได้คุณภาพ หวาน อร่อย และ... วิธีทำที่กำนันเล่า.... ในโรงอบ ที่รู้ๆ คือเรากำลังจะกลายเป็นกล้วยตากในไม่ช้า ถ้ายังคุยกันอยู่ในนี้ 555 ดูเหมือนวันนี้จะเป็นวันดีที่เราได้พบกับนางรำ .... นางรำกล้วย ( ฝีมือตั้งชื่อของคุณท้อด ทองดี) ....ก็ไม่มีใครรู้นี่นาว่านางตานีรำอย่างไร น้องสาวคนนี้จึงเป็นนางรำกล้วยคนแรกของประเทศไปโดยปริยาย !! ชุมชนบ้านกระดีแดง เดิมทีมีชื่อว่าบ้านกุฏิแดง จนนานมาได้เรียกเพี้ยนมาเป็นบ้านกระดีแดง ชุมชนแห่งนี้มีประชากรอยู่รวมกันราว 950 คน มีผลิต ผลิตภัณฑ์สินค้าโอทอป : หมี่กรอบ ,กระยาสารท ,แกงโบราณ ,ชุดโต๊ะม้าหิน ประกอบด้วยแหล่งท่องเที่ยว อาทิ ลำบึงบัวแดง ,วัดบ้านสร้าง ,วัดโสภา .วัดน้อยวัดใหญ่ และศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านกระดีแดง คือที่นี่ ที่ วัดร้างบ้านสร้าง หนึ่งในสถานที่ประวัติศาสตร์อันสำคัญของอ.ท่าช้าง ที่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นชุมชนโอท้อปนวัตวิถีของสิงห์บุรี ว่าที่จริง ... วัดร้างในสิงห์บุรี ยังมีอีกหลายแห่งแต่ทรุดโทรมตามกาลเวลาจนยากจะเยียวยา เห็นจะมีก็ที่นี่ วัดบ้านสร้าง ซึ่งเดิมเป็นวัดร้างที่ถูกปกคลุมด้วยหญ้ารก แม้ชาวบ้านจะช่วยกันดูแลตามกำลังศรัทธาก็ตาม เมื่อไม่กี่ปีก่อน กรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณะ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการดูแลรักษา จนกระทั่ง นายกอบต. โพประจักษ์ อ.ท่าช้าง คุณน้ำทิพย์ โตสงัด และผู้ใหญ่บ้าน จรูญ ใจชำนิ บ้านโพประจักษ์และชาวบ้าน ได้ร่วมกันพลิกฟื้นจนได้รับการสนับสนุนจากพัฒนาชุมชนให้สามารถปรับภูมิทัศน์และสถานที่ให้น่าสนใจและเตรียมเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในอีกไม่ช้า นายก อบต.โพประจักษ์ เล่าให้ฟังว่า “สมัยเด็กๆ เราก็มาเล่นกันบริเวณนี้ ชาวบ้านรู้จักวัดแห่งนี้ดีเพราะความศรัทธา อุโบสถแห่งนี้เป็นน้ำล้อมรอบ เหมือนเป็นด่านที่เกิดศึกสงคราม เข้ามาได้ทางเดียว เป็นที่พักหรือตั้งค่ายในช่วงออกศึกสงครามสมัยโบราณ ห่างจากวัดค่ายบางระจัน 3 กิโล จุดเด่นของวัดร้างบ้านสร้าง คือเรื่องของการเป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติ บรรพบุรุษเราเคารพสักการะหลายร้อยปีสันนิษฐานว่า เป็นวัดสมัยอยุธยาตอนกลาง สังเกตจากฐานรูปทรงเรือสำเภาและจะมีทั้งหมด 5 ห้อง ตั้งแต่พ.ศ. 2128 วัดเกิดมานานแล้ว นายกฯก็เป็นคนที่เกิดหมู่ 2 แต่ตอนแรกไม่มีการดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น คนสมัยเก่าก็เข้ามากราบไหว้ตลอด แต่ก็ไม่มีการพัฒนา จนมีนโยบายของกระทวงมหาดไทย ท่านผู้ว่าฯ ที่ผ่านมา ให้ดูว่าหมู่บ้านของเราเด่นและเป็นแหล่งประวัติศาสตร์บ้าง ตำบลโพธิประจักษ์มีวัดร้างหลายที่แต่ที่เด่นคือวัดบ้านสร้างแห่งนี้ เมื่อมาเซอร์เวย์และตรวจสอบทั้งหมดแล้ว พบว่าวัดบ้านสร้างรอบ ๆ พระอุโบสถ คงทนและถาวรเด่นชัดกว่าที่อื่น จึงเข้ามาปรับปรุงเรื่องภูมิทัศน์ต่างๆ ซึ่งในชุมชนนวัตวิถี เราได้เป็นโอท็อปนวัตวิถีด้วย มีลำบึงกระดีแดงซึ่งสมัยก่อนใช้เป็นทางเดินเรือตลอดเส้นทางจากนครสวรรค์สิ้นสุดที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งความเจริญเข้ามาการเดินทางโดยเรือก็หายไป เป็นทางรถยนต์แทน ตอนนี้กำลังสร้างสะพานไม้ไผ่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถจอดรถยนต์บนถนนแล้วเดินข้ามทุ่งนาข้าวตรงเข้ามายังวัดบ้านสร้างแห่งนี้ได้เลย อีกส่วนหนึ่งคือการเน้นชุมชนให้เกิดเศรษฐกิจพอเพียงที่เดินตามรอยเท้าพ่อ” มีเรื่องเล่ามากมายจากชาวบ้านถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถร้างแห่งนี้ แม้แต่กำแพงที่หลายคนเชื่อมั่นว่า หากสังเกตดี ๆ จะเห็นรอยแตกแยกของกำแพงเป็นรูปของสมเด็จพระนเรศฯ ในคราวศึกสงคราม คงต้องมาพิสูจน์กันด้วยตัวเอง ... อาทิตย์ใกล้ลับเหลี่ยมฟ้า เสียงลมพัดผ่านต้นแจงอายุหลายร้อยปีด้านหน้าอุโบสถร้าง ยิ่งพาให้วังเวงจนน่าขนลุก เอาเป็นว่า.... วันนี้เราขอกลับออกไปเก็บภาพสะพานไม้ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างกันดีกว่าคะ สำหรับผู้ที่สนใจเที่ยวชมและพักโฮมสเตย์ ในระแวกใกล้เคียง สามารถติดต่อที่อบต. โพธิ์ประจักษ์ 081 7807311 และ ผู้ใหญ่จรูญ ใจชำนิ 087 6736539 บ้านไผ่ขวาง อ.อินทร์บุรี บ้านไผ่ขวางได้ชื่อมาจากวัด เป็นคำบอกสถานที่เมื่อหลวงพ่อสงฆ์ท่านมาจำวัดและทำการบูรณะซ่อมแซ่ม ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงรู้ว่ามีพระมาอยู่ก็เริ่มมาทำบุญใส่บาตร ปากต่อปากเล่ากัน หลังจากชาวบ้านในต่างถิ่นได้รับรู้ว่ามีพระมาจำพรรษา จึงอยากที่จะเข้ามากราบไหว้ แต่เนื่องจากในอดีต เป็นการเดินทางโดยทางเรือ การจะบอกต่อจึงทำได้เพียงแค่บอกกันว่า ให้พายเรือไปตามลำน้ำ เมื่อเจอไผ่ขวางอยู่จะเจอวัดและเจอพระ ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านไผ่ขวาง ที่นี่มีจุดเด่นที่เหมาะสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวอยู่หลายแห่ง และได้รับการพัฒนาจากพัฒนาชุมชนจนได้เป็น OTOP นวัตวิถี อาทิ วัดสว่างอารมณ์ ถือเป็นวัดที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง วัดสว่างอารมณ์ ตั้งอยู่เลขที่ 1 บ้านไผ่ขวาง ตำบลประศุก อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 18 ไร่ พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม สภาพแวดล้อมเป็นที่นาของชาวบ้าน อาคารเสนาสนะต่างๆ มีอุโบสถกว้าง 6 เมตร ยาว 14 เมตร โครงสร้างก่อด้วยอิฐโบราณ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ศาลาการเปรียญกว้าง 14 เมตร ยาว 30 เมตร สร้าง พ.ศ. 2524 เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ หอสวดมนต์กว้าง 8 เมตร ยาว 14 เมตร สร้าง พ.ศ. 2518 เป็นอาคารไม้ กุฎิสงฆ์ จำนวน 5 หลัง เป็นอาคารไม้ และวิหารสร้างขึ้นพร้อม ๆ กับสร้างวัด มี พระประธานในอุโบสถ และมีรอยพระพุทธบาทจำลอง เจดีย์อยู่ด้านหน้าอุโบสถ วัดสว่างอารมณ์ สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2304 โดยมีหลวงพ่อสงฆ์ เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างวัดนี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า "วัดหลวงพ่อสงฆ์" ในระยะแรกเริ่มสร้างวัดนั้นหลวงพ่อสงฆ์ได้อาศัยช้างพังเชือกหนึ่งชื่อ "บุญมา" ชักลากไม้มาสร้างวัด ดังนั้นจึงได้สร้างรูปช้างไว้บริเวณกลางลานวัดไว้เป็นอนุสรณ์ถึงนับเป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ส่วนจุดถัดไปที่สามารถเยี่ยมชม คือบ่อประมง ศูนย์การเรียนรู้การขยายกิ่งมะม่วง ศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงแพะ ศูนย์การเรียนรู้การเกษตรผสมผสาน และแหล่งเรียนรู้หัตถกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่า ที่แหล่งเรียนรู้หัตถกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่า ถือเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ขึ้นชื่อของที่นี่ โดยมีเอษณะ กลั่นแดง หนุ่มวัยกลางคนที่ฟื้นฟูงานไม้เก่านี้จากแนวคิดจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เอษณะ เล่าว่า “แนวคิดนี้ได้มาจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชดำรัสว่า ปี 2540 นำเศษไม้เก่าเพื่อมาประยุกต์ให้มีคุณค่าดีกว่าทำลายธรรมชาติ ผมเริ่มทำในปี 2555 โดยหาวัตถุดิบที่ไม่มีค่าเอามาประยุกต์ทำ โดยมีลูกค้าตอบรับประมาณ 30 % เริ่มจากนำไปขายตามตลาดนัดและก็เริ่มหาออเดอร์ตามที่ต่าง ๆ ครั้งสุดท้ายปี 2557 ได้ออกงานกาชาด ทั่วประเทศทำให้เป็นที่สนใจมากขึ้น ตลาดส่วนมากลูกค้าข้าราชการ ที่ภูมิใจคือ ผมทำงานเสร็จแล้ว มีปัญหาผมสามารถไปแก้ไขงานได้โดยไม่ทิ้งลูกค้า ในส่วนของการออกแบบลวดลาย จากหลายแห่ง ไอเดียก็ออกกันเลยบ้าง เน้นไม้เก่ามาทำแบบให้คลาสสิค ส่วนมากเป็นไม้อุปกรณ์เกวียนและไม้ที่อายุใกล้เคียงกัน ไม้เก่าดีที่ว่าไม่หด อยู่ตัว อายุไม้แต่ละชิ้นร้อยปีขึ้น บางทีก็มากกว่าอายุคน ความคงทนของไม้ เหลืออย่างเดียวที่จะเป็นได้คือ ไม้กลายเป็นหิน กลัวอย่างเดียวคือไฟ” ด้วยเพราะเป็นงานเฟอร์นิเจอร์ภาคสนาม งานกลางแจ้ง สิ่งที่มากับงานของเขาคือ ต้องทนแดดทนฝน แต่สิ่งที่ทำให้เราประหลาดใจคือ ส่วนของธรรมชาติที่ร่วมรังสรรค์ลายไม้จนกลายเป็นความต้องการอย่างมากของลูกค้า “ปลวก เป็นส่วนที่ช่วยให้เกิดลายไม้ธรรมชาติ เมื่อปลวกแทนจนเหลือแต่เนื้อไม้ จะเป็นร่องน้ำ ซึ่งก่อให้เกิดลายที่สวยงาม และปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ๆ” นานนับสิบปีที่เขาอยู่กับงานไม้ จากความคิด และการออกแบบของหลายๆ จังหวัดที่เขานำมาพัฒนางาน นอกจากนี้ เขายังเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่พร้อมจะให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ ฝึกหัดทุกวัน ใครที่ต้องการอาชีพ หรือต้องการจะสั่งทำเฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่เข้ามาเยี่ยมชม สามารถเข้ามาได้ เอษณะ จะอยู่ห่างจากอบต.ประศุกเพียง 500 เมตร หาไม่ยาก หรือถ้าไปไม่ถูกติดต่อไปได้ที่ 081 3646385 ที่สำคัญ ราคาย่อมเยามาก ๆ ชุมชนบ้านโคกหม้อ ไปกันต่อที่บ้านโคกหม้อ ที่นี่เป็นหมู่บ้านที่มีลักษณะเป็นเนินดิน เป็นโคก เคยเป็นแหล่งเตาเผาโบราณมาก่อน จากประวัติด้านหน้าบอกเอาไว้ว่า เป็นแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย เตาเผาแม่น้ำน้อย เป็นเตาที่มีขนาดใหญ่ สร้างซ้อนทับกันสองชั้น แผนผังของเตาเป็นรูปไข่ ลักษณะเตาเป็นแบบระบายความร้อนเฉียงขึ้น ก่อด้วยอิฐ ตัวเตาบางส่วนคล้ายเรือประทุนจึงนิยมเรียกว่า เตาประทุน โครงสร้างก่อด้วยอิฐขนาดต่างๆ ผนังปล่องระบายควันไฟก่อด้วยอิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กเรียงซ้อนกันตามแนวนอน บริเวณคอเตาก่ออิฐเป็นโค้งอาร์ค ใช้อิฐสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ก่อเรียงตั้งตามแนวขวางซ้อนกันสองชั้น ฐานคอเตากว้างประมาณ 2.20 ม. ความยาวตลอดทั้งเตา 16 ม. เตาแบ่งเป็น 3 ส่วน คอส่วนหน้า ใช้เป็นที่ไล่เชื้อเพลิง กว้าง 2.50 เมตร มีกำแพงอิฐกั้นไฟกว้าง 5 ม. พื้นห้องเป็นดินเหนียวอัดเรียบแน่น ลาดเอียงจากฐานกำแพงกั้นไปลงสู่ช่องใส่ไฟส่วนกลาง เป็นส่วนที่ใช้วางภาชนะดินเผา ในห้องเผากว้าง 5.60 ม. ส่วนไหโบราณที่ถือเป็นไฮไลท์ของที่นี่ ถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์คือ ไหสี่หู ซึ่งหาได้ยาก ปัจจุบัน ได้จัดให้มีตลาดนัด OTOP นวัตวิถีขึ้นภายในบริเวณวัด สามารถเดินเล่นชิม ช้อป สินค้าจากชาวบ้านได้ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ และเมื่อเดินเข้าสู่ด้านหลังของวัดจะพบพระปรางค์ ริมแม่น้ำน้อย มักเป็นที่จัดงานลอยกระทงและตักบาตรเทโวในช่วงวันออกพรรษา อีกหนึ่งอาชีพที่สำคัญสำหรับคนขี้เมื่อย ที่นี่มีบริการนวดสมุนไพร โดยการนำของป้าสอิ้ง โตอ่อน อดีตข้าราชการสาธารณสุขที่เกษียณอายุมารวบรวมกลุ่มชาวบ้าน จากบริเวณศาลาเอนกประสงค์ กลุ่มอาชีพนวดสมุนไพร ตั้งโต๊ะ ตั้งเตียงเรียงรายรองรับนักท่องเที่ยว วันนี้ก็ดูจะมีอยู่หลายรายที่ใช้บริการ แต่เมื่อสอบถามป้าสอิ้ง ผู้นำกลุ่มก็บอกให้เราฟังว่า “ในวันธรรมดา หากใช้บริการสามารถไปได้ที่ศูนย์เรียนรู้บ้านสมุนไพร อยู่ใกล้ๆ ห่างจากวัดพระปรางค์ไม่เกิน 1 กิโล” ว่าแล้วก็กระโดดขึ้นรถไปเยี่ยมชมกันหน่อย ... กลิ่นเครื่องสมุนไพร หอมโชย ป้าสอิ้ง เตรียมสมุนไพรสดหลากหลายชนิด เพื่อทำลูกประคบ เอาไว้บริการนวดและเอาไว้จำหน่ายสำหรับผู้ที่สนใจจะนำกลับไปบ้าน “ที่นี่ตอนแรกเป็นศูนย์เรียนรู้บ้านสมุนไพร ต่อมามีการนวดและมีโฮมสเตย์ด้วย หลังปลดเกษียณแล้ว จึงอยากให้คน ใครอยากคลายเครียด ทำฤาษีดัดตนก็ได้ หรืออยากจะอบสมุนไพรก็ได้ มีห้องนอนโฮมสเตย์เอาไว้ให้ หรืออยากจะเรียนรู้การทำลูกประคบก็มีเอาไว้ ป้าสอิ้งหรือหมออิ้งของชาวบ้าน เล่าต่อว่า “หลังเกษียณก็ไม่รู้จะทำอะไร แต่จากที่เรามีความรู้ก็อยากจะถ่ายทอดให้ลูกหลาน แต่ลูกหลานเขาไม่สนใจ จึงรับคนจากตลาดบ้าง ในระแวกใกล้เคียงนี้บ้าง มาสอน มาฝึกกัน โดยการเรียนจะต้องเริ่มจากทฤษฎีทางกายภาพก่อน หลังจากนั้นจึงจะสามารถเริ่มเข้าสู่ปฏิบัติ “ ห้องบริการนวดไทย ถูกออกแบบง่ายๆ เรียกว่า มองไปก็เห็นท้องทุ่งนา ได้บรรยากาศไปอีกแบบ ท่านใดสนใจก็ลองแวะเวียนมาสอบถามได้เลย ป้าสอิ้งบอกว่า ถามใครก็รู้จักหมออิ้ง .... เป็นไงล่ะ 555 ชุมชนบ้านท่าช้าง ที่สุดท้าย... ของวัน เรามากันที่ตลาดเก่าริมแม่น้ำน้อย ปัจจุบันมีป้ายเขียนติดเอาไว้ว่า “ตลาดสองวัฒนธรรมไทย- จีน หมื่น หมื่นปี” แม่ค้าแม่ขายรอรับการเดินทางมาของคณะสื่อมวลชน แม้จะรอ.. รอ... รอ... กว่าที่คณะของเราจะมาถึงเนื่องจากไปตระเวนมาซะหลายหมู่บ้าน กว่าจะมาถึงก็มีแซวกันเล็กน้อย แต่ก็ยังคงส่งยิ้มและชวนให้ชิมให้อาหารเกือบทุกประเภท เรียกว่า ถ่ายภาพกันไปอิ่มเอมกันไปทั้งผู้ให้และผู้รับ ในสมัยอดีต หมู่บ้านแห่งนี้เป็นสถานที่เลี้ยงช้าง ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนอพยพมาอาศัยอยู่รวมกัน ปัจจุบันกลมกลืนจนแยกไม่ออกว่าใครจีน ใครไทย เสียงดนตรีเริ่ม ... นางรำ วัยใกล้หมื่นรวมกัน( ตามชื่อตลาด ) ก็เริ่มขึ้น ความประทับใจไม่ได้เกิดขึ้นจากท่วงทำนองแลท่วงท่าในการร่ายรำ แต่สิ่งที่เห็นคือความสามัคคี กลมเกลียวและความตั้งใจอย่างมากที่จะต้อนรับนักเดินทางอย่างเรา ตั้งแต่เด็กน้อยจนถึงคุณยายฟันน้อย เหล่านี้ต่างหากที่พาให้เรายิ้มได้แม้จะเริ่มหมดสภาพกับการเดินทางแล้วก็ตาม นู่น... ก๋วยจั๊บรสเลิศ นั่น... ขนมเปี๊ยะเลื่องชื่อ ขนมเปี๊ยะแม่เจริญศรี ... ถัดไปเป็นน้ำดื่มสมุนไพร เลือกชิมกันตามราศีเกิด ... วุ้นแฟนซี สินค้าโอท้อปทั้งนั้น ที่นี่มีการจัดเทศกาลเด่น ๆ คือ งานงิ้ว (จะมีขึ้นทุกเดือน 9 ของทุกปี) ,บุญใหญ่หลวงพ่อหยัด (เดือน 4) ,งานแข่งเรือริมแม่น้ำน้อย (เดือน 12) ส่วนตลาดแห่งนี้เปิดทุกวันเสาร์ อาทิตย์ “เชิญลงเรือเลยครับ เดี๋ยวผมพาไปชมทัศนียภาพริมฝั่งแม่น้ำ” ชายในเสื้อแบบจีนสีน้ำเงิน ตะโกนบอกด้วยเสียงอันดัง พร้อมก้าวนำลงเรือฉับ ๆ อย่างรวดเร็วทำหน้าที่คัดท้ายเรือ “เรือนี้เป็นเรือสำหรับพานักท่องเที่ยวนั่งชมบรรยากาศจะแล่นไกลไปถึงวัดพิกุลทอง สองข้างทางจะได้ชมวิถีชีวิตชาวบ้านที่นี่ สามารถมากันเป็นกลุ่มหรือไม่กี่คนก็ได้ ไม่เสียค่าบริการ เราขอบริจาคเพื่อศาลเจ้าเท่านั้น” ผมผู้ใหญ่บ้านศักดิ์ชัยครับ สมัยก่อนเคยเป็นนายท้ายเรือ ก็เลยขับเรือได้ “ ชายเสื้อแบบจีนสีน้ำเงินเฉลย แสงสีแดง.. ส้ม ...ดวงอาทิตย์เล่นสีช่วงโพล้เพล้ ใกล้หมดวันเข้าไปทุกขณะ หากแต่รอยยิ้มของชาวบ้านในชุมชนยังคงไม่เลือนหาย ... นี่หล่ะ ...คือความงามอย่างแท้จริงของการได้ท่องเที่ยว...ได้สัมผัสชุมชน ... ชุมชนวิถี วิถีชุมชน กับชาวเมืองสิงห์บุรี