ไทยเป็นเจ้าภาพนำคณะผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ดูงานการป้องเด็กจมน้ำ
ประเทศไทย โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับทีมผู้ก่อการดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี นำคณะผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันการจมน้ำระดับต้นของโลกจากต่างประเทศ และองค์การอนามัยโลก ร่วมดูงานการป้องกันเด็กจมน้ำและการดำเนินงานผู้ก่อการดี (Merit Maker) ของไทย พร้อมเผยปัจจุบันมีทีมผู้ก่อการดีครอบคลุมทั่วประเทศรวมกว่า 3.4 พันทีม และเด็กได้เรียนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดเกือบ 6 แสนคน เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมนิภา การ์เด้น จ.สุราษฎร์ธานี นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนำคณะผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันการจมน้ำระดับต้นของโลกจากต่างประเทศ และองค์การอนามัยโลก ดูงานการป้องกันเด็กจมน้ำและการดำเนินงานของผู้ก่อการดี โดยมีนางแจ่มจิตร์ พูลสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวต้อนรับและชมการนำเสนอภาพรวมการดำเนินงานในประเทศไทย สำหรับประเทศไทย การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งสูงมากกว่าการเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ ทั้งโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2551-2560) เด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำแล้ว 9,574 คน เฉลี่ยปีละ 957 คนหรือวันละ 3 คน สถานการณ์การเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำของเด็กไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2542-2548 และเริ่มมีแนวโน้มลดลงภายหลังจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาคีเครือข่ายเริ่มดำเนินการในมาตรการต่างๆ โดยลดลงมากกว่าร้อยละ 50 นับตั้งแต่ปลายปี 2549 (10 ปีที่แล้วเด็กไทยจมน้ำเสียชีวิตปีละ 1,500 คน ส่วนปี 2560 ลดลงเหลือ 708 คน) นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า ผู้ก่อการดี (Merit Maker) ป้องกันการจมน้ำ เป็นกลยุทธ์ที่ช่วยกระตุ้นให้พื้นที่เกิดการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำแบบสหสาขา ต่อเนื่อง และครอบคลุมในทุกมาตรการ รวมทั้งใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งมี 10 องค์ประกอบ ได้แก่ นโยบาย การบริหารจัดการ สถานการณ์และข้อมูล การจัดการแหล่งน้ำเสี่ยง การดำเนินการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การให้ความรู้ การเรียนการสอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด การสอนฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) การสื่อสารประชาสัมพันธ์ และการศึกษาวิจัยหรือติดตามประเมินผล ผลการดำเนินงานผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ ระยะเวลา 4 ปี (ปี 2558–2561) พบว่ามีทีมผู้ก่อการดี 3,484 ทีม ครอบคลุม 688 อำเภอ ใน 77 จังหวัด และพบว่าพื้นที่ที่มีการดำเนินงานผู้ก่อการดี จะมีการจมน้ำเสียชีวิตลดลงเป็น 2 เท่า ของพื้นที่ที่ไม่มีการดำเนินงานผู้ก่อการดี นอกจากนี้ การดำเนินงานดังกล่าวยังส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ ดังนี้ 1.มีการจัดการแหล่งน้ำเสี่ยง 15,501 แห่ง ให้มีการสร้างรั้วหรือติดป้ายคำเตือนและจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้ใกล้แหล่งน้ำเสี่ยง 2.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 12,224 แห่ง ได้รับความรู้ทั้งครูและเด็ก มีการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกศูนย์ฯ รวมทั้งจัดให้มีพื้นที่เล่นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก 3.สถานบริการสาธารณสุข/ชุมชน/โรงเรียน 12,275 แห่ง มีการให้ความรู้ในการป้องกันการจมน้ำแก่ประชาชนและเด็กในพื้นที่อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง 4.พื้นที่มีวิทยากรเพื่อสอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 26,596 คน 5.เด็กอายุ 6-14 ปี ได้เรียนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 578,187 คน และ 6.คนในชุมชนหรือเด็กได้ฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) 267,536 คน นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวอีกว่า การดูงานครั้งนี้ ประกอบด้วยการนำเสนอภาพรวมการดำเนินงานในประเทศไทย จากผู้แทนกรมควบคุมโรค กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน การดำเนินงานในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และการศึกษาดูงานในพื้นที่ตามองค์ประกอบของผู้ก่อการดี โดยมีตัวแทนทีมผู้ก่อการดีจากจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช และสตูล ร่วมแสดงผลการดำเนินงานของผู้ก่อการดีด้วย โดยมีผู้เข้าร่วมการศึกษาดูงานเป็นผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันการจมน้ำระดับต้นของโลกจากต่างประเทศ และองค์การอนามัยโลก (WHO-เจนีวา) รวม 22 คน มาจาก 12 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา โคลัมเบีย แคนาดา อาร์เจนติน่า เบลีซ ไนจีเรีย อินเดีย ศรีลังกา และบังคลาเทศ โดยในจำนวนนี้มีสื่อมวลชนจากต่างประเทศ 6 คน