10 ปี พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เปิดโลกและเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ทรงคุณค่า ผ่านเรื่องราวของผ้า
มีเหตุผลมากมายที่ทำให้ผู้คนมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ บางคนต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับอดีต บรรพบุรุษ หรือรากเหง้าของตัวเอง ขณะที่คนอื่นๆ อยากรู้เกี่ยวกับประเทศซึ่งพวกเขากำลังไปเยือน หรือต้องการเพลิดเพลินกับศิลปะและวัฒนธรรม สำหรับบางคน พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจที่เปิดโอกาสให้เราได้สัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ด้วยตาตนเองซึ่งจะสร้างความทรงจำตลอดชีวิต เป็นประสบการณ์ซึ่งหาที่อื่นไม่ได้ ทั้งยังเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาคนรุ่นใหม่ ไม่เพียงเท่านั้นพิพิธภัณฑ์ยังเป็นวิธีที่ดีในการใช้เวลาร่วมกันกับเพื่อนและครอบครัว และถ้าพูดถึงพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยที่ควรค่าแก่การไปเยือนที่สุด แน่นอนว่าจะต้องมี “พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” จัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง ระหว่างประตูวิมานเทเวศร์กับประตูวิเศษไชยศรี เป็นเวลา 10 ปีมาแล้วที่ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือน นับตั้งแต่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับผ้าไทยและประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของคนไทย ทั้งยังเป็นสถานที่รวบรวมจัดเก็บรักษาผ้าไทยและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจัดแสดงงานหัตถศิลป์จากผ้าอันทรงคุณค่าของราชสำนักและผ้าพื้นเมืองต่าง ๆ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในการอนุรักษ์การทอผ้าของไทยให้คงอยู่เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ ประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เริ่มต้นหน้าแรกเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2555 และเนื่องในวาระที่ดำเนินการมาครบ 10 ปี ในปีนี้ได้จัดให้มีกิจกรรมมากมายเพื่อเฉลิมฉลอง ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ กล่าวว่า “พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เปิดให้เข้าชมฟรี และจัดกิจกรรมนำชมนิทรรศการ โดยเจ้าหน้าที่บริการวิชาการ โดยเฉพาะในวันที่ 9 พฤษภาคม เปิดรอบนำชมพิเศษโดยภัณฑารักษ์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมออนไลน์ ทั้งเกมตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ และเกมทายภาพฉลองพระองค์ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งเคยจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ
มีกิจกรรมบอกเล่าความรู้สึกที่มีต่อพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ รวมไปถึงสิ่งที่อยากให้พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ทำในอนาคตพร้อมลุ้นรับของรางวัลพิเศษ รวมทั้งโปรโมชั่นลดราคาสินค้าที่ผลิตโดยพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ และในเดือนสิงหาคมนี้ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จะมีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 90 พรรษา รวมทั้งกิจกรรมส่งท้ายนิทรรศการ ด้วยพลังแห่งรัก และการเปิดห้องกิจกรรมปรับปรุงใหม่อย่างไม่เป็นทางการ ก่อนจัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการพร้อมกับนิทรรศการใหม่ในช่วงปลายปีนี้” นิทรรศการ ด้วยพลังแห่งรัก (The Power of Love) ซึ่งจัดแสดงอยู่ในห้องจัดแสดง 1-2 ของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ที่กำลังจะบอกลาไปในเดือนสิงหาคมนี้ เป็นนิทรรศการที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 87 พรรษา เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ นับตั้งแต่ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี จัดแสดงฉลองพระองค์ พระกระเป๋าทรงถือ พระมาลา และพระพัชนี
ในขณะที่ ห้องจัดแสดง 3-4 จัดให้มีนิทรรศการ ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช:สายสัมพันธ์สยามและชวา (A Royal Treasure: The Javanese Batik Collection of King Chulalongkorn of Siam) นิทรรศการนี้จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ในการเสด็จเยือนชวาทั้ง 3 ครั้ง และจัดแสดงผ้าบาติกสะสม ที่มีความโดดเด่นทั้งในแง่ความงดงามของศิลปะและองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์การแต่งกายของชวา ทั้งยังมีวีดิทัศน์และภาพอธิบายขั้นตอนการทำผ้าบาติก นิทรรศการนี้มีการเปลี่ยนวัตถุจัดแสดงแล้วถึง 3 ครั้ง และยังเปิดให้เข้าชมจนถึงปีพ.ศ. 2566
นิทรรศการผ้าบาติกในสมเด็จพระปิยมหาราชที่เราจัดอยู่ในปัจจุบันเป็นที่พูดถึงเยอะ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ผ้าบาติกสะสมในรัชกาลที่ 5 เป็นผ้าหายาก แม้กระทั่งที่อินโดนีเซียเองก็ตามหาไม่ได้ เป็นคอลเลคชั่นที่พิเศษมาก หายากมาก สวยมาก ทั้งหมดที่พระองค์ท่านสะสมมีประมาณ 300 กว่าผืน เรานำมาจัดแสดงประมาณ 100 กว่าผืน นอกจากนี้เรายังมีหนังสือประกอบนิทรรศการซึ่งเป็นภาพถ่ายทั้งคอลเลคชั่นอีกด้วย” ทุกนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นนิทรรศการหมุนเวียน “จะไม่มีนิทรรศการถาวร เพราะว่าผ้าต่าง ๆ มีระยะเวลาจำกัดในการนำมาจัดแสดง เพราะฉะนั้นเราเลยจะมีการเปลี่ยนเนื้อหาของนิทรรศการไปเรื่อย ๆ เพื่อเชิญชวนให้คนกลับมาชมพิพิธภัณฑ์อีก เราเปลี่ยนนิทรรศการเกือบทุกปี บางปีอาจจะเว้นไปบ้าง แต่จะมีการหมุนเวียนวัตถุจัดแสดงภายใจนิทรรศการแทน” ตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา นิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้การต้อนรับและประสบความสำเร็จอย่างมาก อาทิ นิทรรศการ งามสมบรมราชินีนาถ (Fit For a Queen: Her Majesty Queen Sirikit’s Creations by Balmain) ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 จัดแสดงฉลองพระองค์ที่ออกแบบโดย ปิแอร์ บัลแมง นักออกแบบชาวฝรั่งเศสผู้ดูแลการตัดเย็บฉลองพระองค์เป็นเวลากว่า 22 ปี ฉลองพระองค์ที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในการเผยแพร่ความงามอันมีเอกลักษณ์ของผ้าจากภูมิปัญญาคนไทยและส่งเสริมผ้าไทยให้ชาวโลกรู้จัก ทำให้เกิดความนิยมสวมใส่ผ้าไทยอย่างกว้างขวางมาจนถึงปัจจุบัน อีกหนึ่งนิทรรศการที่ตราตรึงในความทรงจำของคนจำนวนไม่น้อยคือ นิทรรศการ ของขวัญแห่งมิตรภาพ: ราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2361-2561 เนื่องในโอกาสครบรอบ 200 ปีแห่งความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา รวบรวมวัตถุซึ่งไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อนจากสถาบันชั้นนำในสหรัฐอเมริกา ของขวัญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่จัดเก็บในสถาบันสมิธโซเนียน รวมถึงพระราชสาส์นที่จัดเก็บในองค์การบริหารจดหมายเหตุและบันทึกแห่งชาติ จดหมายของพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) และของขวัญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงให้แก่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่นำมาจากหอสมุดประธานาธิบดี “ในช่วงนั้นมีกิจกรรมมากมาย ทางสถานทูตสหรัฐฯ ได้เชิญกลุ่มต่าง ๆ ทั้งนักเรียนนักศึกษามาที่พิพิธภัณฑ์เยอะมาก ตรงนั้นก็ทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น นิทรรศการที่เป็นความร่วมมือกันก็จะมีวัตถุหลากหลายประเภทมาจัดแสดงจึงได้รับความนิยม ทำให้เรามีผู้เข้าชมกลุ่มใหม่ นอกเหนือจากคนที่สนใจเรื่องของผ้าหรือแฟชั่น” งานของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ไม่ได้มีแค่การจัดนิทรรศการ ทว่ายังมีงานเบื้องหลังซึ่งคนส่วนใหญ่อาจไม่ได้รับรู้มากนัก อย่างเช่น การทำหน้าที่ของภัณฑารักษ์และงานด้านการศึกษา การจัดการและดูแลงานพิพิธภัณฑ์ เช่น การสืบค้นข้อมูล ทำการศึกษาเกี่ยวกับวัตถุ รวมถึงการสรรหาและคัดเลือกวัตถุเพื่อนำมาจัดแสดงและเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ วางรูปแบบนิทรรศการและเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อสื่อความหมายแก่ผู้เข้าชม ให้รับรู้และเข้าใจในคุณค่าของวัตถุและเรื่องราวที่นำมาจัดแสดง ทั้งนี้ยังมีส่วนในการวางแผนและจัดกิจกรรมด้านการศึกษาเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และความรู้แก่ผู้เข้าชม รวมไปถึงงานอนุรักษ์และงานทะเบียนซึ่งเป็นอีกหนึ่งพันธกิจของพิพิธภัณฑ์ โดยเจ้าหน้าที่อนุรักษ์และเจ้าหน้าที่ทะเบียนมีหน้าที่สงวนรักษาและจัดเก็บวัตถุในครอบครองของพิพิธภัณฑ์ โดยดูแลและจัดระบบการจัดเก็บวัตถุ ตั้งแต่การตรวจบันทึกสภาพและให้เลขทะเบียนวัตถุ ศึกษาประวัติและโครงสร้างของวัตถุร่วมกับภัณฑารักษ์ วางแผนกำหนดแนวทางในการจัดเก็บและป้องกันไม่ให้วัตถุเกิดการเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว ตลอดจนอนุรักษ์ซ่อมแซมวัตถุที่ได้รับความเสียหาย และวัตถุในครอบครองของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ทั้งหมดจัดเก็บรักษาไว้ในห้องคลัง โดยต้องผ่านการทำความสะอาดและกำจัดแมลงภายใต้อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส ให้เลขทะเบียนวัตถุ ตรวจสภาพ บันทึกภาพ และซ่อมแซมรักษาในกรณีที่มีการเสื่อมสภาพ โดยภายในห้องคลังมีระบบควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้มีสภาพคงที่และเหมาะสมสำหรับการจัดเก็บวัตถุเพื่อรักษาสภาพ สำหรับวัตถุประเภทผ้า อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมอยู่ระหว่างร้อยละ 50-60
“การเก็บดูแลรักษาวัตถุในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นไปตามมาตรฐานสากล ในห้องคลังมีการเก็บรักษาและและควบคุมความชื้น เพราะถ้ามีความชื้นมากเกินไปก็จะเกิดรา ถ้าแห้งเกินไปก็จะกรอบ ต้องควบคุมความชื้นให้อยู่ในระดับมาตรฐาน เรื่องของแสง ในห้องคลังนี้จะปิดไฟตลอดเวลา ถ้าไม่ได้เข้าไปทำงาน วัตถุทุกชิ้นจะอยู่ในตู้จัดเก็บ ดังนั้นแสงไฟจะไม่ใช่ปัญหาของการจัดเก็บวัตถุในห้องคลัง แต่ในส่วนของการจัดแสดง แสงไฟจะมีผลเป็นอย่างมาก ฉะนั้นการจัดแสดงทุกครั้ง หลังจากที่เรานำวัตถุเข้าในตู้เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ต้องมาวัดแสงว่าอยู่ในค่าที่เหมาะสมหรือไม่ โดยปกติแล้วจะต้องอยู่ต่ำกว่า 50 ลักซ์ ซึ่งวิธีการจัดแสดงของเราเป็นวิธีที่ถนอมผ้ามากที่สุด” ทั้งงานเบื้องหน้าและเบื้องหลังมีส่วนทำให้ ทุกคนที่ได้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ต่างได้เปิดโลกเปิดประสบการณ์อันน่าทึ่งผ่าน “ผ้า” สถานที่แห่งนี้ยังไม่ลืมที่จะมอบบทเรียนและความรู้ต่าง ๆ ให้ หากวันหยุดสุดสัปดาห์นี้คุณว่าง ลองไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ “คอลเลคชั่นที่เรานำมาจัดแสดงเป็นคอลเลคชั่นที่หาดูได้ยากและไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน เพราะฉะนั้นที่นี่ถือว่าเป็นจุดเช็กอินหนึ่งที่ควรจะมาชม เพื่อจะได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของผ้า รวมถึงกระบวนการผลิตผ้า พิพิธภัณฑ์ผ้าฯมีห้องกิจกรรมแนะนำเรื่องของกระบวนการผลิตผ้า มีฉลองพระองค์ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่คุ้นตากันในภาพถ่ายหรือภาพข่าวพระราชสำนักที่จะได้เห็นกันอย่างใกล้ชิดและมีความสวยงาม วัตถุบางอย่างเป็นงานหัตถกรรมที่ใช้ฝีมือชั้นสูงในการทำ เช่น งานปัก งานทอที่มีความวิจิตรสามารถมาชมได้ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ” เป้าหมายของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ คือ การเป็นสถานที่สำหรับทุกคนในครอบครัว “บุคคลทุกเพศทุกวัยเข้ามาชมได้ เราฝันอยากให้พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นที่ ๆ พ่อแม่พาลูกมาหรือลูกพาพ่อแม่มา เราพยายามตอบโจทย์คนทุกเพศทุกวัย ทั้งห้องนิทรรศการที่เหมาะสมกับคนทุกช่วงวัยแล้ว เรายังมีห้องกิจกรรมไว้สำหรับนักเรียนนักศึกษาที่จะมาเรียนรู้กระบวนการทอผ้า อยากให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับพิพิธภัณฑ์ในทุกช่วงอายุ นอกเหนือจากนี้ ที่ผ่านมาเราพยายามพัฒนาคอนเทนต์ออนไลน์ให้เข้าถึงได้มากขึ้น “ตอนนี้ในแผน 5 ปีของเรา จะมีการเปลี่ยนนิทรรศการทุกปี ฉะนั้นทุกคนสามารถมาชมนิทรรศการใหม่ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้ทุกปี รวมถึงห้องกิจกรรมใหม่ ก่อนหน้านี้ใครเคยเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์แล้ว ถ้ากลับมาใหม่หลังเดือนสิงหาคมนี้ จะได้ชมโฉมใหม่ของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ และหวังว่าโฉมใหม่นี้จะถูกใจทุกท่านที่มาชม” คุณปิยวรา กล่าว
ตลอด 10 ปีที่ได้เปิดดำเนินการมา พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นสถานที่ทำให้ผู้มาเยือนกลับไปพร้อมกับความทรงจำ ความรู้ และความเข้าใจที่ดีขึ้นในหลากหลายแง่มุม โดยทั้งหมดมี “ผ้า” เป็นสิ่งเชื่อมโยง และจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต แบ่งปันความประทับใจในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ “พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของประเทศไทยทั้งในแง่ของการปฏิบัติงาน การอนุรักษ์ คอลเลคชั่น การออกแบบนิทรรศการ เห็นได้จากงานที่ทำร่วมกับสหรัฐฯ ซึ่งนำงานละเอียดอ่อนมาก ๆ บอบบางมาก ๆ มาจัดแสดงได้ มีมาตรฐานสากล ซึ่งมหัศจรรย์มาก ๆ “ทุกนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นคอลเลคชั่นที่เข้าถึงได้ง่าย งานการศึกษาต้องยอมรับว่าดีมาก ๆ มีกิจกรรมสร้างสรรค์ตลอด เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ที่น่าเบื่อหรือไปแล้วเหมือนห้องเก็บของ ตอบโจทย์ทุกคน เป็นพื้นที่การเชื่อมต่อของคนหลากหลายรุ่นวัย เป็นสิ่งที่สังคมเราต้องการ “สำหรับครูหรือนักเรียน คอนเทนต์ของพิพิธภัณฑ์ผ้าสามารถเชื่อมโยงประยุกต์ใช้ได้กับหลายวิชามาก ๆ คนจะนึกว่าพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ คงจะเป็นวิชาศิลปะ แต่จริง ๆ มีจุดร่วมได้เยอะมาก สำหรับศิลปินและดีไซเนอร์ ที่นี่ให้แรงบันดาลใจ 100% พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ มีองค์ความรู้ดีมาก ๆ
“ผ้าไม่ใช่แค่เครื่องแต่งกาย ไม่ใช่ศิลปะที่อยู่ในกรอบ แต่คือ วิถีชีวิต ลายผ้าต่าง ๆ มาจากความเชื่อ มาจากผู้คนจริง ๆ ทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ไม่ใช่โชว์อยู่ในห้องหรือบนบอร์ด “พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นสถานที่ซึ่งงดงาม ได้ความรู้ และมีชีวิต … อยากให้ทุกคนได้มาสัมผัส “สิ่งที่อยากให้หรืออยากเห็นพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ทำ ผมอยากเห็นพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ทำงานร่วมกับนักออกแบบสิ่งทอรุ่นใหม่ซึ่งตอนนี้ในวงการมีหลายคนที่นำผ้าไทยมาต่อยอด เป็นการต่อยอดจากพระราชดำริของสมเด็จพระพันปีหลวง เราอยากเห็นพวกเขามีพื้นที่ เอามาต่อยอดให้เห็นว่า ดีไซเนอร์รุ่นใหม่เขาทำอะไรเก๋ ๆ ร่วมสมัยกันบ้าง” โอ๊ต มณเฑียร / ศิลปิน “นิทรรศการหมุนเวียนที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นการสื่อสารความ สำคัญของผืนผ้าที่หลากหลายแบบเจาะลึก น่าสนใจในเรื่องข้อมูล การค้นคว้าเชิงลึกในแต่ละหัวข้อที่หยิบยกขึ้นมาจัดแสดง อย่างเช่น นิทรรศการผ้าบาติกของรัชกาลที่ 5 ได้เชิญผู้ประกอบการจากอินโดนีเซียมาทำเวิร์คช็อป มีจัดแสดงวิธีการเขียนเทียน ขั้นตอนการทำ เราได้เรียนรู้กระบวนการ แล้วเข้าไปศึกษาลวดลาย ความสำคัญ ความหมายต่าง ๆ
“ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์เดียวที่อุทิศให้กับเรื่องของผืนผ้าในประเทศไทย คือมรดก คือตัวตน จะทำให้เราสามารถเข้าใจวัฒนธรรมของตัวเองได้ในเชิงลึก ถ้าเปรียบเทียบกับหลาย ๆ ที่ที่เคยไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ มีคุณภาพในการจัดงานค่อนข้างดี อยากให้รักษามาตรฐานตรงนี้เอาไว้ “สิ่งที่อยากให้หรืออยากเห็นพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ทำคือ การนำผ้าในเชิงประวัติศาสตร์มาตีความร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นการตีความในแบบเสื้อผ้าหรือว่างานศิลปะหรือว่าการปฏิสัมพันธ์ เพื่อให้ผ้านี้มีชีวิตในเชิงร่วมสมัยมากขึ้น มากกว่าสิ่งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ เช่น การเชิญศิลปินร่วมสมัยมาทำงานร่วม อย่าง เจฟฟ์ คูนส์ ซึ่งไปแสดงงานที่พระราชวังแวร์ซายส์ โดยพิพิธภัณฑ์คิดขึ้นมาว่าจะทำยังไงให้คนรวมเข้าไปกับตัวคอลเลคชั่นที่มีได้” เอก ทองประเสริฐ / ดีไซเนอร์ เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถจัดตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมุ่งหวังให้เป็นแหล่งความรู้ที่ยั่งยืนเกี่ยวกับผ้าตลอดจนประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของไทย ทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บรักษาผ้าไทยและเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดแสดงงานหัตถศิลป์อันทรงคุณค่าทั้งของราชสำนักและผ้าพื้นเมืองจากท้องถิ่นต่างๆ เพื่อเป็นการสืบสานสมบัติทางวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ตั้งอยู่ ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในเขตพระราชฐานชั้นนอกริมกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศเหนือ เป็นพื้นที่ซึ่งมีการบูรณะปรับปรุงและก่อสร้างเพิ่มเติมหลายครั้งมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างอาคาร 2 ชั้นเป็นแถวยาวเมื่อ พ.ศ 2413 และพระราชทานนามหอรัษฎากรพิพัฒน์ เคยเป็นที่ทำการกรมพระคลังมหาสมบัติ สำนักงานธนาคารชาติไทย กรมธนารักษ์ ราชบัณฑิตยสถาน กองพระราชพิธี จากนั้นจึงว่างเว้นจากการใช้งาน ใน พ.ศ. 2546 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ใช้อาคารหอรัษฎากรพิพัฒน์ เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณารับเป็นประธานที่ปรึกษา ต่อมาในวันที่ 9 พฤษภาคม 2555 พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จึงเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถตั้งอยู่ ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง ระหว่างประตูวิมานเทเวศร์กับประตูวิเศษไชยศรี โทรศัพท์ 0 2225 9420 และ 0 2225 9530 โทรสาร 0 2225 9431 เว็บไซต์ www.qsmtthailand.org และ www.facebook.com/qsmtthailand เปิดทุกวัน เวลา 09.00-16.30 น. ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา 15.30 น. อัตราค่าเข้าชมผู้ใหญ่: 150 บาท *ผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป): 80 บาท *นักเรียน/นักศึกษา: 50 บาท *เด็กอายุ 12-18 ปี: 50 บาท *เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าชมฟรี (*โปรดแสดงบัตรประจำตัว)