10 วิธีขับรถช่วงฝนหนัก
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในช่วงฝนตกหนัก ทัศนวิสัยไม่ดี ถนนเปียกลื่นและอาจมีน้ำขัง เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ ขอให้ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ลดความเร็ว หลีกเลี่ยงการแซง ประเมินสถานการณ์ก่อนขับรถผ่านจุดที่มีน้ำท่วมขัง พร้อมแนะ 10 วิธีขับขี่ปลอดภัย วันนี้ (7 กันยายน 2561) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าในช่วงนี้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ กรมควบคุมโรค จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายในช่วงฝนตกหนัก โดยเฉพาะการขับขี่ยานพาหนะ เนื่องจากฝนที่ตกลงมาจะทำให้ถนนเปียกลื่น และทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ดี รวมถึงฝนที่ตกหนักอาจทำให้ถนนบางช่วงมีน้ำท่วมขังได้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำผู้ขับขี่ควรปฏิบัติ 10 วิธีขับขี่ปลอดภัย ดังนี้ 1.ปฏิบัติตามกฎจราจร ขณะเดินทางทุกครั้ง เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ 2.ตรวจเช็คสภาพรถก่อนออกเดินทาง เช่น สภาพของล้อรถ และผ้าปัดน้ำฝน 3.จอดรถในบริเวณที่ปลอดภัยเมื่อต้องขับรถขณะฝนตกหนัก หรือทัศนวิสัยไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถจักรยานยนต์ไม่ควรขับขี่ขณะมีฝนฟ้าคะนอง 4.เปิดไฟหน้ารถเสมอ โดยเปิดไฟต่ำ เพื่อช่วยให้มองเห็นสิ่งต่างๆ บนถนนได้ชัดเจนขึ้น และให้รถคันอื่นมองเห็นรถได้จากระยะไกล 5.เปิดใบปัดน้ำฝน โดยปรับระดับความเร็วของใบปัดน้ำฝนให้สัมพันธ์กับความแรงและปริมาณฝนตก 6.ลดความเร็ว เพื่อเพิ่มความระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ 7.ให้ทิ้งระยะห่างจากคันหน้า เพราะสภาพถนนที่เปียกลื่น ต้องใช้ระยะทางในการหยุดรถเพิ่มขึ้น 8.หลีกเลี่ยงการแซง แต่หากจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์ระยะทางข้างหน้า 9.รถลื่นไถลหรือเหินน้ำ ห้ามเหยียบเบรกจนล้อหยุดหมุนในทันที เพราะอาจทำให้รถพลิกคว่ำได้ ควรลดความเร็ว ใช้เกียร์ต่ำ จนกว่ารถจะทรงตัวได้ แล้วจึงค่อยเหยียบเบรกเพื่อหยุดรถ และ 10.เมื่อต้องขับรถผ่านน้ำท่วมขัง ให้หยุดประเมินสถานการณ์ หากระดับน้ำลึกสูงกว่าขอบประตูรถ ไม่ควรขับฝ่าไป ควรเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้อีกภัยอันตรายที่ประชาชนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือการถูกฟ้าผ่า โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนฟ้าคะนอง ขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง ควรหลบในตัวอาคารที่ติดตั้งสายล่อฟ้า ไม่ควรใช้โทรศัพท์ และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพราะกระแสไฟจากฟ้าผ่าอาจไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเกิดการเสียหาย และเป็นอันตรายต่อตัวเรา สำหรับการช่วยเหลือผู้ถูกฟ้าผ่าต้องช่วยอย่างรวดเร็ว โดยประเมินความปลอดภัยของที่เกิดเหตุ และโทรขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร. 1669 แจ้งข้อมูลผู้ถูกฟ้าผ่าและสถานที่เกิดเหตุ เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังที่ปลอดภัย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422