สถาบันไต้หวันเพื่อพลังงานที่ยั่งยืน มอบรางวัลเอเชีย-แปซิฟิก ซัสเทนอะบิลิตี แอ็กชัน อวอร์ดส์
ไทเป--13 มีนาคม 2566 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สถาบันไต้หวันเพื่อพลังงานที่ยั่งยืน (Taiwan Institute for Sustainable Energy หรือ TAISE) ได้ให้ความรู้แก่ภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการนำกรอบการกำกับดูแลที่โปร่งใสมาใช้เพื่อแก้ปัญหาด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในท้องถิ่น อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี 2573 นอกจากนั้นยังมีการมอบรางวัลเอเชีย-แปซิฟิก ซัสเทนอะบิลิตี แอ็กชัน อวอร์ดส์ (Asia-Pacific Sustainability Action Awards หรือ APSAA)
ซึ่งได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากองค์กรในภาคส่วนต่าง ๆ ในโอกาสนี้ คุณอเลสเซีย ฟาลซาโรเน (Alessia Falsarone) ศาสตราจารย์วุฒิคุณ ภาควิชาเศรษฐกิจหมุนเวียนและการจัดการธุรกิจอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัล ได้มาร่วมแบ่งปันเหตุผลว่าเพราะเหตุใดสถาบันต่าง ๆ จึงควรเข้าร่วมกระบวนการชิงรางวัล APSAA
คุณอเลสเซีย มีหน้าที่ติดตามอย่างใกล้ชิดว่า หลักเกณฑ์ในการตัดสินรางวัลได้ช่วยกระตุ้นให้องค์กรต่าง ๆ คิดถึงบทบาทของตนเองในฐานะผู้สร้างความแตกต่างที่สำคัญสำหรับธุรกิจและสังคมอย่างไร โดยในการตัดสินรางวัลนั้น สถาบัน TAISE ได้ให้ความสำคัญกับแนวทางที่ผู้เข้าชิงรางวัลเลือกใช้ในการออกแบบแผนงานด้านความยั่งยืนในเบื้องต้น การปรับเปลี่ยนความพยายามเพื่อให้บรรลุความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องนานหลายปี และท้ายที่สุดคือการปรับวัตถุประสงค์ขององค์กรและสังคมให้สอดคล้องกัน
สถาบันแต่ละแห่ง ตั้งแต่ธุรกิจ ศูนย์กลางการศึกษา ศูนย์การแพทย์ และหน่วยงานภาครัฐในไต้หวัน ต่างได้รับมอบหมายให้แก้ปัญหาด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยอาศัยความสามารถด้านการจัดการที่แข็งแกร่งขึ้น สถาบันที่เข้าสู่กระบวนการเข้าชิงรางวัล APSAA ล้วนให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ได้แก่ พนักงาน คู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน และลูกค้า โดยยึดถือความยั่งยืนเป็นแรงขับเคลื่อนความยืดหยุ่นทางธุรกิจ รวมถึงเป็นเครื่องส่งเสริมสุขภาวะขององค์กรและวัฒนธรรมองค์กร ส่วนในกรณีของบริษัทข้ามชาตินั้น จุดสนใจเปลี่ยนจากตลาดไต้หวันไปสู่บทเรียนที่พร้อมนำไปปรับใช้กับภูมิภาคอื่น เช่นในกรณีของบรรดาบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ที่มาตั้งศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ในไต้หวัน และพยายามบูรณาการแนวปฏิบัติด้านการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใสเข้ากับความคิดริเริ่มด้านการตรวจสอบย้อนกลับที่ช่วยสร้างสมดุลในการหมุนเวียน หรือความร่วมมือด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยความก้าวหน้าระดับอุตสาหกรรมในโครงการนำร่องด้านพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
นวัตกรรมที่ได้รับการยกย่องว่าสร้างผลกระทบเชิงบวกสูงสุดต่อธุรกิจและสังคม ได้แก่ การเชื่อมโยงแรงงานข้ามชาติกับโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินแบบดิจิทัล การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัยให้สอดรับกับสุขภาพและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยและนักศึกษา รวมทั้งการส่งเสริมการเข้าถึงตลาดตราสารหนี้เพื่อสังคมที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และในระดับภาคส่วนนั้น การนำกระบวนการผลิตกระดาษอัจฉริยะมาใช้ รวมถึงการออกแบบวิธีการทำการเกษตรใหม่เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหาร เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากหลายร้อยโครงการที่ดำเนินการโดยองค์กรต่าง ๆ ที่เริ่มออกเดินทางสู่ความยั่งยืนผ่านการมีส่วนร่วมกับสถาบัน TAISE และรางวัล APSAA ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก