Update Newsสังคมสังคม/CSR

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหนุนปลูกไผ่ร่วมสวนยางพารา สร้างมูลค่าเพิ่ม

พังงา-เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 67. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน อู่ข้าวอู่น้ำนาหัวนอน หมู่ 4 ต.ทับปุด อ.ทับปุด จ.พังงา มี นายโรจนิน ม่วงเพชร อายุ 49 ปี เป็นประธานกลุ่มฯ ได้ใช้พื้นที่สวนยางพาราจำนวน 5 ไร่ ปลูกไผ่กว่า 50 ชนิด แย่งเป็น ไผ่ใช้ไม้ ไผ่ใช้ประดับ และไผ่ไว้รับประทาน โดยเริ่มจากปลูกในร่องต้นยางพารา ปัจจุบันประสบความสำเร็จมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ไผ่ การทัศนะศึกษาดูงาน และการเป็นวิทยากร เฉพาะเรื่องไผ่มีรายได้มากถึงเดือนละกว่า 40,000 บาท เพียงเปลี่ยนแนวคิดจากคนปลูกไผ่ขายลำเป็นปลูกไผ่แปรรูปเปลี่ยนเป็นปลูกไผ่ทำข้าวหลามสามารถสร้างรายได้มากกว่าที่คิด โดยเฉพาะ พันธุ์ไผ่ข้าวหลามกาบแดง ที่มีความเหมาะสมทำข้าวหลาม มีลำปล้องแต่ละปล้องยาวมากถึง 70-90 เซนติเมตร สามารถแบ่งความใหญ่ได้มากถึง 6 ขนาด ส่วนใหญ่จะใช้ลำไผ่ ขนาดลำดับ 3-6 ซึ่งมีความเหมาะสมในการทำข้าวหลาม

สำหรับข้าวหลามที่กลุ่มทำใช้ไม้ไผ่ข้าวหลามกาบแดง มีความยาวประมาณ 70-80 เซนติเมตร ตัดข้อสั้น เนื่องจากใช้เตาถ่านอบด้วยถังโลหะ 200 ลิตร เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ใช้ถ่านน้อย อบความร้อนได้สูง ข้าวหลามสุกพร้อมกันทั่ว

ส่วนการหลามข้าวนั้น เริ่มจากนำข้าวเหนียวแช่น้ำดอกอัญชัน หรือใช้ข้าวเหนียวดำ หรือข้าวเหนียวขาว ใส่ธัญพืช เช่น ลูกเดือย ถั่วดำ ถั่วแดง แล้วแต่ชอบ กรอกด้วยน้ำกะทิ ปิดด้วยใบเตยและพดมะพร้าว ปิดจุกให้แน่นพอประมาณ ใส่เข้าเตาอบ รอให้สุกโดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ความโดดเด่นของข้าวหลาม จากกลุ่มวิสาหกิจแห่งนี้ คือ ข้าวหลามกระบอกยาวถึง 70-80 เซนติเมตร เนื้อเยื่อไผ่หุ้มข้าวหลามมาก กะทิทั่วทั้งกระบอกทำให้รสชาดมีความเหนียวนุ่มหอมกะทิ ธัญพืชมากทั่วทั้งกระบอก

โดย นายโรจนิน ม่วงเพชร อายุ 49 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อู่ข้าวอู่น้ำนาหัวนอน หมู่ 4 ต.ทับปุด อ.ทับปุด จ.พังงา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนเองทำงานบริษัทเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกิดความรู้สึกว่าต้องการกลับมาอาศัยอยู่ในบ้านเกิด จึงตัดสินใจลาออกและคิดถึงบริบทของพื้นที่ทับปุด ทั้งในเรื่องนาข้าวและไม้ไผ่ จนชื่นชอบความเป็นไผ่ พบว่าแต่ละสายพันธุ์ มีการใช้งานแตกต่างกัน จนปัจจุบันได้ปลูกไผ่มากกว่า 50 สายพันธุ์ ที่ชื่นชอบอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ไผ่ข้าวหลามกาบแดงเยื่อดี พันธุ์ไผ่โคลัมเบีย เป็นไผ่ใช้งานปรับแต่งภูมิทัศน์ สุดท้ายคือไผ่ซางหม่น เป็นตระกูลไผ่ใช้ไม้ในการทำเฟอร์นิเจอร์ใช้งานก่อสร้าง เหมาะกับการแช่น้ำยาเพื่อก่อสร้าง ส่วนรายได้จากการปลูกไผ่ปัจจุบันมีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยเดือนละกว่า 40,000 บาท โดยไม่ได้ขายลำไผ่แต่ใช้แนวคิดว่า ถ้าขายลำไผ่ทั้งต้นจะขายได้เพียงต้นละ 50-60 บาท แต่ถ้านำมาทำข้าวหลามจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ต้นละ 500-600 บาท มูลค่าจึงแตกต่างกันมาก
ภาพข่าว
นายพงษ์ศักดิ์ ประทีป /โกอู๋@ผู้สื่อข่าวอาวุโสจังหวัดพังงา