“วราวุธ” นำ ผู้บริหารกระทรวงหารือ “จุฬาราชมนตรี” ขับเคลื่อนงานภารกิจ พม. นโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร แก้ปัญหากลุ่มเปราะบาง
วันที่ 11 สิงหาคม 2567 ที่ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมด้วยนายนิกร จำนง ประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะผู้บริหาร เข้าเยี่ยมคารวะ นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อขอรับคำแนะนำปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทภารกิจระหว่างกระทรวง พม. คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครและประจำจังหวัดต่างๆ (40 จังหวัด) รวมถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างกัน
จากนั้น นายวราวุธได้กล่าวแสดงความยินดีในพิธีเปิดงานเบิกฟ้า ทรัสต์ ชาแนล 2567 (Trust Channel Sky Opening) ซึ่งเป็นสื่อโซเชียลมีเดีย ภายใต้ชื่อ ทรัสต์ แชนแนล (TRUST Channel) เป็นสื่อกลางระหว่างคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครกับประชาคมผู้นับถือศาสนาอิสลามและประชาชนทั่วไป โดยใช้ชื่อรายการ TRUST RAMADAN ซึ่งจะออกอากาศตลอดทั้งเดือนรอมฎอน ประจำปี 2568 (ฮ.ศ. 1446) โดยมีนายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี เป็นประธานเปิดงาน อีกทั้งได้มอบเกียรติบัตรแด่ผู้ให้การสนับสนุนการจัดงาน และหน่วยงาน องค์กรที่จัดสถานที่ละหมาดเพื่อปฏิบัติศาสนกิจสำหรับประชาชนผู้นับถือศาสนาอิสลาม และเยี่ยมชมการแสดงกิจกรรมของเยาวชน และการประกวดโพกผ้าชาราบั่น
นายวราวุธ กล่าวว่า ตนพร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้พบปะพูดคุยเพื่อขอรับคำแนะนำปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทภารกิจของกระทรวง พม. ในการขับเคลื่อน นโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร เพื่อพัฒนาศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมายให้มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เช่น การพัฒนาศักยภาพของครอบครัวเข้มแข็ง ด้วยการส่งเสริมบทบาทของหญิง-ชาย สามี-ภรรยา และ พ่อ-แม่ การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน และการเสริมพลังผู้สูงอายุและคนพิการ เป็นต้น ในขณะที่บทบาทภารกิจของคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครและประจำจังหวัดต่างๆ (40 จังหวัด) มีส่วนในการสนับสนุนงานของกระทรวง พม. ด้านการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการสร้างสังคมดี คนมีคุณภาพ เช่น การสร้างการรับรู้ การตระหนักรู้ในบทบาทของครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ด้วยกลไกของผู้นำศาสนา (คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด) ภายใต้กลไกการทำงานของคณะอนุกรรมการสตรี เด็ก และเยาวชน และผู้สูงอายุ ประจำมัสยิด จำนวนกว่า 80 มัสยิดในพื้นที่เขต กทม. ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาสตรี และครอบครัวในชุมชน เช่น การฝึกอาชีพ การชี้เป้าเฝ้าระวังปัญหาในชุมชน เป็นต้น
นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับกระทรวง พม. มีส่วนในการสนับสนุนงานของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (กอจ.) ในเรื่องการส่งเสริมให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต่างๆ (40 จังหวัด) จดทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ในขณะที่ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ให้การสนับหนุนงบประมาณ (เงินอุดหนุน) แก่คณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน สำหรับการส่งเสริมการจัดกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มสตรีประจำมัสยิด รวมถึงพัฒนากลไกความร่วมมือและการประสานงานของกลุ่มสตรี
อีกทั้งสนับสนุนงบประมาณในการจ้างเจ้าหน้าที่ จำนวน 1 อัตรา ประจำศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี ในสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่ปี 2564 – ปัจจุบัน สำหรับการให้คำแนะนำปรึกษาที่เกี่ยวกับสิทธิสตรีตามกฎหมายอิสลามและกฎหมายไทย ประสานส่งต่อหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้เกิดการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิและฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบบัญหา สนับสนุนการทำงานของฝ่ายไกล่เกลี่ย มรดกและครอบครัว ตลอดจนมีการจัดเก็บข้อมูลผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวของจังหวัดนราธิวาส ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2568 กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มีแผนให้การสนับสนุนงบประมาณในการจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมอีก 1 อัตรา ประจำศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี ในสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา นอกจากนี้ ได้สนับสนุนงบประมาณในการจ้างเจ้าหน้าที่ จำนวน 1 อัตรา ประจำศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนใต้ (ศป.ดส.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – ปัจจุบัน สำหรับเป็นศูนย์กลางการประสานงานและรับข้อร้องเรียนและแก้ไขปัญหาเด็กและสตรี ที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และเป็นกลไกประสานงานในการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคประชาสังคม เช่น การส่งเสริมบทบาทสตรีในระดับหมู่บ้าน เพื่อเป็นครือข่ายในการดูแลเด็กและสตรีกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมให้การสนับสนุนในทุกกิจกรรมของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (กอจ.) โดยยึดตามหลักศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอุดลยเดชมหาราช บรมนารถบพิตร “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ซึ่งเป็นหลักการทรงงานของพระองค์ท่านตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ ที่พสกนิกรชาวไทยได้เห็นและได้รับประโยชน์จนถึงปัจจุบัน และกำลังต่อยอดขยายผลต่อไปในอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข