รพ. พญาไทศรีราชา จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “CPR Better for Life” ครั้งที่ 2 มุ่งสร้างสรรค์ชุมชนปลอดภัย หัวใจแข็งแรง
ศรีราชา – เมื่อเร็ว ๆ นี้ โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา นำโดย นายแพทย์ชาญชัย ลี้สมประสงค์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไทศรีราชา ร่วมกับ เทศบาลเมืองศรีราชา นำโดย นายฉัตรชัย ทิมกระจ่าง นายกเทศมนตรีเมืองศรีราชา และศูนย์การเรียนรู้มูลนิธิสว่างบริบูรณ์ฯ พัทยา โดย คุณประสิทธิ์ ทองทิตย์เจริญ ประธานหน่วยกู้ภัยสว่างบริบูรณ์ฯ พัทยา ได้ร่วมกันจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “CPR Better for Life: หัวใจของคนในชุมชน คือสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแล” ครั้งที่ 2 ณ ศูนย์การค้าแปซิฟิค พาร์ค ศรีราชา โดยมี นายแพทย์ยุทธพล ทิตอร่าม กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ และประธานคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพการดูแลทางคลินิกกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา พร้อมด้วยทีมบุคลากรทางการแพทย์ เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในงานนี้ ซึ่งมีประชาชนและหน่วยงานจากภาครัฐ อาทิ นักเรียน จิตอาสา และหน่วยบรรเทาสาธารณภัย เข้าร่วมการฝึกอบรมกว่า 200 คน
กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนในเขตศรีราชามีความตระหนักรู้และพัฒนาทักษะการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) เพิ่มโอกาสในการช่วยเหลือชีวิตผู้ประสบเหตุฉุกเฉินก่อนถึงมือแพทย์ ตามนโยบายความร่วมมือในการพัฒนาสังคมร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพซึ่งกันและกัน สร้างสังคมที่ปลอดภัย และสอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาชุมชนให้เป็นเมืองแห่งสุขภาพ (Wellness City) ของเทศบาลเมืองศรีราชา เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีวิทยากรที่มีความชำนาญการจากศูนย์อุบัติเหตุฉุกเฉินโรงพยาบาลพญาไทศรีราชา ให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ พร้อมสาธิตการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (AED) และการช่วยเหลือผู้ที่มีอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ เป็นต้น
โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีขนาด 370 เตียง เปิดให้บริการมาเกือบ 3 ทศวรรษ โดยมีการพัฒนาทักษะและความรู้ทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง มีศักยภาพรองรับผู้ป่วยนอกได้สูงถึงวันละ 200 คน ให้บริการรักษาผู้ป่วยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ พร้อมเป็นที่พึ่งของประชาชนในภาคตะวันออก ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านการดูแลสุขภาพในชุมชน โดยเน้นคุณค่าการรักษาตามมาตรฐานของแบรนด์พญาไท ภายใต้แนวคิด “Value healthcare – คุณค่าการรักษาที่คุณเลือกได้” ที่นำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย โดยออกแบบแผนการรักษาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดีขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วยแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม