ททท.ชวนเฟี๊ยว แหล่งเที่ยว @ “ประจวบ…ย๊าว…ยาว”
เมื่อวันที่ 27-29 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคกลาง นำโดย ผอ.อัครวิชย์ เทพาสิต ผอ.อาชวันต์ กงกะนันทน์ ผอ.ททท.สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ นำคณะสื่อมวลชนและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวร่วมห้าสิบกว่าชีวิต เพื่อเดินทางไปสัมผัสเส้นทางท่องเที่ยวกับกิจกรรม Mega Fam Trip เพื่อตอกย้ำคำพูดที่ว่า … ความสุขง่าย ๆ หาได้ที่ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมค้นหาแหล่งเที่ยวเพิ่มประสบการณ์ใหม่ๆ
… จะสุขขนาดไหน …. ร่วมเดินทางกันเลย …
Day 1
วัดอ่าวน้อย
… เช้าตรู่ของวันที่ 27 สิงหาคม 2567 รถตู้ 8 คัน เตรียมพร้อมด้านหน้าอาคารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ย่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่ หลังเช็คชื่อเสร็จก็ต้องถ่ายรูปกันเป็นที่ระลึกก่อนออกเดินทาง
และแล้วก็ได้เวลาล้อหมุน นำพาขบวนรถตู้ มุ่งหน้าสู่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
โดยจุดแรกที่แวะทักทายจังหวัดกัน คือ วัดอ่าวน้อย เป็นวัดที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาอ่าวน้อย ตำบลอ่าวน้อย ที่นี่โดดเด่นด้านความงดงามของอุโบสถไม้สัก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหยกขาวจากเมียนมา ให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล มีภาพวาดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนารอบผนังโบสถ์และมีรูปปั้นพญานาคล้อมรอบอุโบสถ
ส่วนฝั่งตรงข้ามบนภูเขาด้านติดทะเลอ่าวน้อย จะมีถ้ำพระนอน ซึ่งหากจะขึ้นไปสักการะก็เดินขึ้นไปตามขั้นบันไดราว 10-15 นาที ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ศิลปะร่วมสมัยอู่ทอง-รัตนโกสินทร์ ห่มจีวรเหลืองลักษณะเดียวกันเป็นพระพุทธไสยาสน์ที่งดงามและหาชมได้ยาก ในอดีตถ้ำแห่งนี้เคยเป็นสถานที่ที่ชาวเรือมักเข้ามาอาศัยหลบพายุฝนอีกด้วย
.. คณะของเราบางส่วนเลือกจะขึ้นไปสักการะองค์พระ ขณะที่บางส่วนก็เลือกที่จะเดินเล่น ถ่ายรูปชื่นชมวิว ทิววิถีของชาวประมง กับภาพของเรือหาปลาจำนวนมากตรงหน้าที่จอดนิ่งสนิท หลังทะเลยามค่ำคืน สีสันตัดกับฟ้าคราม… น่ามอง
“ขออนุญาตนั่งกาบเรือนะคะน้า” หนึ่งในผู้ร่วมทางที่เลือกชื่นชมวิวอยู่ด้านล่างตะโกนขออนุญาตคุณลุงชาวเล เจ้าของเรือประมง
“ได้เลยครับ ไม่รู้ว่าจะมากัน ไม่งั้นผมเอาปูมาขายละ” ฮั่นแน่.. คุณลุงชาวเลเจ้าของเรือประมงตรงหน้ากล่าว ใบหน้าเปื้อนยิ้มเห็นฟันขาวจั๊วะเป็นการเชิญชวน
“แต่ไม่ทันแล้ว ขายหมดตั้งแต่เช้า” แหมๆ มีบลั๊ฟซะด้วย
ศาลหลักเมืองประจวบคีรีขันธ์ (Prachuap Khiri Khan City Pillar Shrine)
หลังจากทานอาหารมื้อแรกกันที่ อ่าวน้อยซีฟู้ด ก็เดินทางกันต่อไปยัง ศาลหลักเมืองประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งตั้งอยู่ถนนสละชีพ ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เป็นหลักชัยคู่บ้านคู่เมืองประจวบคีรีขันธ์ และยังเป็นศาลหลักเมืองที่มีขนาดใหญ่และสวยงาม ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
ที่นี่ คุณสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และคณะผู้ดูแลศาลหลักเมืองและผู้บริหารของเมือง ให้การต้อนรับคณะของเราอย่างอบอุ่น พร้อมกับเตรียมข้อมูลประวัติความเป็นมาของศาลหลักเมืองให้ผู้มาเยือนได้รับรู้ถึงความสำคัญของสถานที่
โดยศาลแห่งนี้ ออกแบบเป็นศิลปะแบบลพบุรี มีจตุรมุขยอดปรางค์ 9 ชั้นตามแบบสยามลพบุรี ชั้นสูงสุดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและชั้นที่เหลือประดิษฐานองค์เทพต่าง ๆ ส่วนหน้าบันแรกนั้น เป็นรูปรอยตราพญาราหูอมจันทร์ และหน้าบันที่เหลือประดิษฐานองค์เทพล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วสองชั้น
องค์หลักเมืองมีนามว่า “จตุโชค” ทำจากไม้ตะเคียน ส่วนยอดแกะเป็นรูป 4 เศียร 4 พักตร์ ศิลปะศรีวิชัย และลงรักปิดทองด้วยอัญมณีทั้งองค์ ศาลหลักเมืองแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นในสมัย ร.ต.อำนวย ไทยานนท์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ในขณะนั้น และวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2536 ต่อมาวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์เป็นประธานศาลหลักเมืองแห่งนี้
คาเฟ่บ้านฝั่งคลองแคมป์
หลังจากสักการะศาลหลักเมืองเป็นสิริมงคลแก่คณะกันแล้วก็เริ่มเดินทางกันต่อ คราวนี้ไปยังพื้นที่ที่มีการร่อนทองแถบบางสะพาน ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีแหล่งร่อนทองหลายแห่ง แต่ที่นี่นอกจากจะเป็นแหล่งร่อนทองแล้ว ยังพัฒนาสถานที่ผืนดินแห่งนี้ให้เป็นที่กางเต๊นท์ และบริการร่อนทองพร้อมกับเปิดร้านกาแฟเล็กๆ รองรับนักท่องเที่ยว ที่ต้องการเข้ามาสัมผัสกับชุมชนวิถีในอดีตด้วย บริหารโดย คุณพัชรินทร์ สุขสุรัตน์ หรือแอปเปิ้ล เจ้าของคาเฟ่บ้านฝั่งคลองแคมป์ อดีตพนักงานแบงค์ที่ผันตัวเองมาเริ่มต้นธุรกิจในบ้านเกิด
จากข้อมูลตำนานการร่อนทอง… เล่ากันต่อมาว่า มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าบรมโกศ ปี 2289 ผู้ตั้งเมืองกุยได้ส่งทองร่อนหนัก 3 ตำลึง ถวายพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์จึงเกณฑ์ไพร่จำนวน 2,000 กว่าคน ไปร่อนทองที่บางสะพานเป็นเวลาปีเศษ ได้ทองคำหนัก 90 ชั่งเศษ คิดเป็นน้ำหนัก 54 กิโลกรัม หรือ 3,600 บาทในสมัยนั้น จากนั้นนำทองทั้งหมดไปแผ่เป็นทองแผ่นใหญ่หุ้มยอดมณฑป พระพุทธบาทสระบุรี
สำหรับคุณสมบัติของทองบางสะพานหรือทองบางตะพานมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘ทองนพคุณ’ หรือ ‘นพคุณเนื้อเก้า’ เป็นทองที่พบในธรรมชาติ ทองร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องถลุงจะเห็นเป็น ‘Nuggest’
“เตรียมอุปกรณ์ร่อนทองเอาไว้ทางนี้เลยคะ” คุณแอปเปิ้ล บอกกับคณะหลังจากกล่าวต้อนรับและบอกเล่าถึงความเป็นมาของ “คาเฟ่บ้านฝั่งคลองแคมป์”
ที่มุมใกล้ริมฝั่งคลอง เจ้าหน้าที่เตรียมดินสำหรับร่อนซึ่งเป็นดินที่ถูกขุดขึ้นมาจากชั้นใต้ดิน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการประสบการณ์การร่อนทอง
“วิธีร่อน แบบนี้นะคะ” เจ้าของแคมป์คนเดิม เดินลงมาชี้แนะ ให้กับนักท่องเที่ยว ที่ต่างขะมักเขม้นกับการเริ่มร่อนทอง สำหรับการมาร่อนทอง เพียงแค่คุณเตรียมชุด เป็นกางเกงขาสั้น เท่านั้น เรียกว่ามาแต่ตัว อื่นๆ ที่นี่เตรียมไว้ให้ทั้งหมด
และเมื่อการร่อนทองผ่านไปสักระยะ เราก็ได้ยินเสียง เฮ
“ได้แล้วครับ เย้ !!!….” “ต้น” สื่อมวลชนหนึ่งในคณะเดินทางประสบความสำเร็จกับการเสียเหงื่อท่วมกาย แต่ได้เห็นทองในภาชนะที่ร่อนขึ้นมาแล้วก็หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง ทั้งที่เพิ่งจะบ่นปวดหลัง
ขณะที่อีกหนึ่งสาว เดินยิ้มแก้มปริ พร้อมหัวเราะเอิ๊กอ๊ากถูกใจกับทองที่ร่อนมาได้
“เล็กและบางมาก ตอนแรกไม่แน่ใจว่าใช่หรือเปล่า ? พอดีพี่ๆ เขาบอกว่าใช่ แต่…จะปลิวลมมั๊ยคะเนี่ย อย่าหายใจแรงนะคะ 555”
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งพี่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวที่ร่วมเดินทางก็ได้มาเหมือนกัน แต่ที่เด็ดกว่าคือ
“ท่านใดร่อนทองได้ ต้องมาเต้นโชว์ท่าร่อนให้ดูกันด้วยนะคะ”
และแล้วเพลง “เมล่อน… เมล่อน… เลย” ก็เริ่มขึ้น
แต่หากใครที่ไม่ได้เป็นหนึ่งในผู้โชว์ท่าร่อน แต่อยากได้ทองนพคุณไว้ครอบครอง ทางคุณแอปเปิ้ลก็มีให้บริการ โดยเลี่ยมใส่กรอบเอาไว้ให้สำหรับการบูชา เนื่องจากเป็นทองนพคุณ สนนราคาก็ไม่แพง ส่วนจะเท่าไหร่ หรืออย่างไรสามารถติดตามได้ทางเพจ คาเฟ่บ้านฝั่งคลองแคมป์ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 099 702 8068
หลังจากนั้นปิดทริปวันแรกกันด้วย ร้านอาหารหนูโภชนา ก่อนจะเข้าพักผ่อนกันที่ บ้านกรูด อคาเดีย รีสอร์ท แอนด์ สปา โดยมี คุณ อัจจิมา โชคกิจการ MD บ้านกรูด อคาเดีย รีสอร์ท แอนด์ สปาให้การต้อนรับ
Day 2
วัดทางสาย
เริ่มเช้าวันใหม่ เดินทางกันต่อไปสักการะ พระพุทธกิติสิริชัย ชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อใหญ่ เป็นพระพุทธรูปที่ทางคณะสงฆ์วัดทางสายร่วมกับชาวบ้านสร้างขึ้นถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ
โดยสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกประธานถวายนามว่า “พระพุทธกิติสิริชัย” ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าบนยอดเขาธงชัย เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ปางสมาธิแบบคันธาระ ศิลปะอินเดีย ลักษณะประทับขัดสมาธิดอกบัว หันพระพักตร์ออกสู่ทะเล
ใกล้กัน เป็นทางขึ้นสู่ วัดทางสาย วัดสวย ริมทะเลบ้านกรูด ตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นหนึ่งในที่เที่ยวสวยห้ามพลาด
และไฮไลท์คือ พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ เป็นมหาธาตุเจดีย์ที่ในหลวงร.9 ทรงพระราชทานชื่อให้ เป็นสถาปัตยกรรมไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อพระมหากษัตริย์ โดยไม่ใช้เงินของทางราชการ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลโดยเฉพาะในวโรกาสครองราชย์ครบรอบ 50 ปี โดยเจดีย์ทรงระฆังนี้ จะตั้งอยู่บนฐานไพที รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีอาคารสูง 5 ชั้น ที่หมายถึง การครองราชย์ครบ 50 ปี หรือมีความหมายถึงขันธ์ 5 และมีเจดีย์หมู่ 9 องค์ ที่หมายถึงวัดประจำรัชกาลที่ 9
พิกัด : https://goo.gl/maps/KyUU8qooBH4Ypmzu6
วัดเขาถ้ำม้าร้อง (Wat Khao Tham Ma Rong)
หลังจากสักการะองค์หลวงพ่อใหญ่กันแล้ว คณะเราก็เดินทางต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากๆอีกแห่งหนึ่ง นั่นคือ วัดเขาถ้ำม้าร้อง
โดยนัดหมายรวมตัวกันที่ ศาลาประชาคมบ้านม้าร้อง ซึ่งเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เนื้อที่กว้างขวางจอดรถสะดวกสบาย
วันนี้ นายอำเภอ “สุทิน ประเสริฐศักดิ์” แห่งบ้านม้าร้อง และชาวชุมชนท่องเที่ยวม้าร้องซิตี้หรือบ้านม้าร้อง ร่วมกันต้อนรับขับสู้ทั้งอาหารคาวหวาน กาแฟ และผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านผลิตมาจำหน่ายด้วยตัวเอง นอกจากจะจัดอาหารพื้นถิ่นแสนอร่อย ไม่ว่าจะเป็นใบเหลียงผัดไข่ คั่วเคย โดยเฉพาะแกงไก่เหมงมะพร้าว อาหารพื้นบ้านที่ใช้ผลมะพร้าวอ่อน(ซึ่งยังไม่สร้างเนื้อมะพร้าว) นำมาแกงไก่ใส่กะทิ อร่อยเลิศจนต้องขอเพิ่ม
ยังมีผลิตภัณฑ์ชุมชนเช่นไข่เค็มสมุนไพรบ้านม้าร้อง หมวกถัก น้ำผึ้งป่า บาล์มสมุนไพร น้ำยาอเนกประสงค์ ส่วนด้านการท่องเที่ยวก็มีกิจกรรมเช่น มีรถซาเล้งพานำชมสวนป่าชุมชน มีนำเที่ยวถ้ำม้าร้อง มีฐานผึ้งโพรง กิจกรรมทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ต่างๆ เหล่านี้สามารถสอบถามได้ที่ คุณประวิทย์ รัตนพงศ์ 081 292 8141
และแล้วก็ได้เวลา ขึ้นสู่วัดเขาถ้ำม้าร้อง ตื่นเต้น ๆ ด้วยเพราะเจ้าหน้าที่บอกว่า ที่แห่งนี้มีความสวยงามของหินงอก หินย้อย บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ และหินย้อยที่รูปร่างลักษณะคล้ายหัวม้าอยู่ภายในถ้ำ จึงเป็นที่มาของชื่อ ถ้ำม้าร้อง
ที่วัดแห่งนี้เป็นที่พักสงฆ์มาตั้งแต่สมัยชาวศรีลังกาและชาวอินเดียเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในไทยและพม่า ใช้เป็นที่พักพิง ต่อมาในรัชสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้ออกปราบโจรตามหัวเมืองเมื่อราว 2385 ได้นำทัพมาพักที่หนองหัดไทย ปรากฏว่าม้าของท่านหายไปแต่หาไม่พบ ได้ยินแต่เสียงม้าร้อง จึงเรียกภูเขานี้ว่า เขาถ้ำม้าร้อง
เป็นไง… แค่เรื่องราวก็น่าสนใจแล้วใช่มั๊ยล่ะ
ที่นี่เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดอีกแห่งหนึ่ง ภายในถ้ำด้านหนึ่งเป็นที่ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ จำนวนมาก เรียงรายลดหลั่นภายใต้การสาดแสงจากโคมไฟ
ขณะที่บนเพดานถ้ำแลเห็นค้างคาวจำนวนมาก เกาะหัวห้อย สยายปีกผับ ๆ อวดโฉมให้ผู้มาเยือนได้ยลแบบไม่ยี่หร่ะต่อสายตา แต่บางคนอาจจะโชคดีได้ขี้ค้างคาวหล่นใส่เป็นสิริมงคลเพิ่มเติมก็เป็นได้
บริเวณตรงกลางโถงถ้ำพบโพรงปล่องขนาดกว้างราวเมตรกว่า ทำให้แสงลอดลงมาตามทางสวยงาม เดินถัดขึ้นไปนิดเดียวก็จะพบกับหินย้อยที่มีรูปร่างคล้ายหัวม้าและมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นบ่อน้ำที่นำไปใช้ในงานพระราชพิธีสำคัญต่างๆ เมื่อมีพิธีสำคัญ ๆ ทางวัดจะจัดพิธีตักน้ำทิพย์เพื่อนำไปถวายแด่ในหลวง เช่นงานพิธีครบรอบ 60 พรรษา และ 72 พรรษา ที่สำคัญน้ำที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ไม่เคยเหือดแห้ง
“ใครเห็นบ้างมีหัวกี่หัว” พี่ร่วมทางคนหนึ่งเอ่ยถาม
บ้างก็ว่า… เห็นสอง บ้างก็…สาม บ้างก็…สี่ ขึ้นอยู่กับจินตนาการของผู้มาเยือน แต่ที่ชัด ๆ คือเราเห็นหินย้อยที่ดูแล้วคล้ายกับหัวม้า 3 หัว ขณะที่บางคนบอกว่ามีถึงหินย้อยลักษณะหัวม้าให้เห็นถึงห้าหัว
“ที่นี่เปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ เพียงแต่ไม่ควรจะมาเกินห้าโมงเย็น เพราะทางวัดจะปิดไฟ มืดไม่สะดวก” เจ้าหน้าที่บอกกับเรา
บอกเลยว่า .. ถ้ำแห่งนี้ถือว่า อะเมซิ่งอีกแห่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดจริง ๆ แต่หากจะเข้าไปก็ควรจะจุดธูปบอกกล่าวกันก่อน อย่างน้อยก็อุ่นใจไปครึ่งหนึ่ง และเมื่อเข้าสู่ภายใน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นที่ถือศีลของพระสงฆ์ก็ควรเคารพสถานที่ ไม่กระทำการใดอันเป็นการลบหลู่หรือไปหยิบจับสิ่งใดที่ไม่ควร
พิกัด https://g.co/kgs/HmjHFBC
ศูนย์เรียนรู้บ้านทองเม็ด
หลังจากเมื่อวานเราไปเมล่อน เมล่อนกัน วันนี้ได้เดินทางยังศูนย์เรียนรู้บ้านทองเม็ด ที่นี่มี หนุ่มโจ้ –จิรฐกรณ์ อิสระพาณิชย์ ชาวอำเภอบางสะพาน ที่หลงใหลเรื่องราวของทองบางสะพานมานานหลายปี พร้อมกับเริ่มสะสมทองและศึกษาความเป็นมา
โดยปรับพื้นที่บ้านส่วนหนึ่งที่ตั้งอยู่ที่ ต.พงศ์ประศาสน์ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเป็น “ศูนย์เรียนรู้บ้านทองเม็ด” มีการนำทองบางสะพานในรูปแบบต่างๆ ทั้งทองผง-ทองเกล็ด-ทองเม็ดและทองอมหิน พร้อมข้อมูลที่รวบรวมประวัติความเป็นมาของทองบางสะพานมาจัดแสดง นอกจากนี้ยังพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับทองจำหน่ายให้ผู้เข้าเยี่ยมชมอีกด้วย หากสนใจสอบถามได้ที่โทร 087 556 5697
วัดกุยบุรี ( Wat Kuiburi )
ด้วยเวลาที่มีไม่มากนัก คณะของเราเริ่มเดินทางกันต่อไปยัง วัดกุยบุรี ที่นี่เป็นวัดเก่าแก่สวยงาม และเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นอย่างมาก
วัดกุยบุรี เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พร้อมกับการสร้างเมืองกุยบุรี เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจในสมัยนั้น ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ในย่านชุมชน เดิมชื่อว่าวัดกุย ตั้งอยู่ในอำเภอกุยบุรีติดกับแม่น้ำกุยบุรี
ชาวเมืองให้ความเลื่อมใสศรัทธา โดยเฉพาะอดีตเจ้าอาวาสวัดกุยบุรี หลวงพ่อมากหรือบุญมาก หรือชาวมักเรียกว่าท่านว่า “หลวงพ่อในกุฏิ” เนื่องจากเมื่อท่านว่างเว้นจากภารกิจต่างๆของทางวัดแล้ว จะนั่งบำเพ็ญภาวนาเป็นประจำ
เล่ากันว่าบางครั้งจะเข้าสมาธิวิปัสสนาอยู่แต่ในกุฏิตลอด 7 วันบ้าง 15 วันบ้าง โดยจะไม่ลุกและออกจากกุฏิไปไหนเลย ด้วยเหตุอันนี้เอง จึงได้มีคำเรียกท่านอีกคำหนึ่งว่า “หลวงพ่อในกุฏิ“
หลวงพ่อในกุฏิเป็นผู้เคร่งครัดในด้านวิปัสสนากัมมัฎฐาน จนทำให้ชาวบ้านเชื่อว่าหลวงพ่อในกุฏิเป็นผู้มีวาจาสิทธิและมีวิชาอาคมแกร่งกล้า เป็นผู้มีเมตตาจิต ช่วยเหลืออนุเคราะห์และสงเคราะห์กับคนทุกเพศ ทุกวัย เป็นที่พึ่งอาศัยของคนทั้งหลาย
หลังจากหลวงพ่อในกุฏิได้มรณภาพไป ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันสร้างรูปเหมือนของท่านและบรรจุอัฐิของท่านไว้ภายใน ให้ชาวบ้านได้ระลึกถึงและสักการะบูชา…
หลังจากนั้นก็เดินทางไปยังที่พักในอำเภอหัวหิน ที่ โรงแรมเวล หัวหิน WHALE HUAHIN โดย คุณธีระเมฆ เศียรศิลาเจริญ หรือคุณบุ๊ค MD ให้การต้อนรับ
ก่อนจะไปรับประทานอาหารค่ำกันที่ ชิมวิว ซีฟู้ด ชะอำ- หัวหิน ที่ที่ทางททท.ภูมิภาคภาคกลางและททท.สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นเป็นกันเอง
DAY 3
วนอุทยานปราณบุรี (Pran Buri Forest)
ย่างเข้าสู่วันที่สามของการร่วมทริป สำรวจเส้นทางท่องเที่ยว Mega Fam Trip กันแล้ว วันนี้ก่อนกลับกรุงเทพมหานคร ทางททท.ได้พาเราไปชมพื้นที่ป่าโกงกางขนาดใหญ่
ที่นี่ที่ วนอุทยานปราณบุรี (Pran Buri Forest) เป็นโครงการพัฒนาป่าไม้ปากน้ำปราณบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่มีเส้นทางให้เดินศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลนเป็นระยะทางยาวกว่า 1,000 เมตร
ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 50 ปีก่อน ป่าชายเลนด้านทิศเหนือของแม่น้ำปราณบุรี ได้ถูกบุกรุกทำลายกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ในปี พ.ศ. 2517 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร บริเวณหมู่บ้านปากน้ำปราณบุรี ทรงมีความสนพระทัยเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ป่าชายเลน และทรงมีพระราชเสาวนีย์สนับสนุนให้มีการปลูกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ บริเวณชายทะเลปากน้ำปราณบุรี เพื่อพัฒนาเป็นป่าอเนกประโยชน์ผลิตไม้ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ป้องกันลมพายุ และเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงอนุบาลสัตว์น้ำ
กรมป่าไม้ จึงได้จัดทำ โครงการพัฒนาป่าไม้ปากน้ำปราณบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น ในปี 2517 ครอบคลุมพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองเก่า คลองคอย ประกอบด้วย ป่าชายเลน และมีแม่น้ำปราณบุรีไหลผ่านตอนกลางของพื้นที่ป่า ซึ่งภายหลังได้มีการจัดตั้งเป็น “วนอุทยานปราณบุรี” เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2525
…. ณ ปัจจุบัน ผืนป่าโกงกางที่งดงามแห่งนี้ ถือแหล่งเรียนรู้ด้านระบบนิเวศน์ป่าชายเลนอันสำคัญ ที่เป็นมรดกส่งต่อให้กับลูกหลานคนไทยได้ร่วมกันสืบทอดเจตนารมณ์ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรด้านสิ่งแวดล้อมที่ทรงคุณค่านี้ต่อไปตราบนานเท่านาน
“ประจวบคีรีขันธ์ เมืองมหัศจรรย์สามอ่าวของท้องทะเลอ่าวไทย เป็นจังหวัดตอนใต้สุดของภาคกลาง มีความยาวจากทิศเหนือจรดทิศใต้กว่า 212 กิโลเมตรจนได้ชื่อว่า ประจวบย๊าวยาว แต่ยังคงมีสถานที่น่าสนใจและสวยงามซุกซ่อนเอาไว้รอให้นักท่องเที่ยวได้มาค้นหาและรับรู้ว่าประจวบคีรีขันธ์ มีอะไรให้เที่ยว ให้ชม ให้อร่อย”
ข้อมูลจากททท.แนะนำการท่องเที่ยวของทริป Mega Fam Trip ครั้งนี้ จะประสบความสำเร็จไม่ได้เลยหากปราศจากซึ่งผู้มาเยือน … ผู้มาร่วมค้นหา… ผู้มาร่วมติดตามรับรู้ความเป็นเมืองมหัศจรรย์ประจวบคีรีขันธ์ ….แล้วคุณล่ะพร้อมหรือยัง ? กับการตามรอย ทริป “ประจวบ…ย๊าว…ยาว”
_______________________
นาริฐา จ้อยเอม เรื่อง / ภาพ
ขอขอบคุณ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ททท.ภูมิภาคภาคกลาง ผอ.อัครวิชย์ เทพาสิต
ททท.สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ ผอ.อาชวันต์ กงกะนันทน์
ชาวบ้านชุมชนวัดเขาม้าร้อง นายอำเภอ สุทิน ประเสริฐศักดิ์
ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายสมคิด จันทมฤก
รองผอ.ททท.ภูมิภาคภาคกลาง นางสาวจุฑาทิพย์ เจริญลาภ
ทีมงาน ททท. น้องแพค น้องเก้า น้องตั๊กและอีกหลายท่านที่ไม่ได้เอ่ยนาม