InterviewUpdate Newsท่องเที่ยว B Tripประชาสัมพันธ์สกู๊ปพิเศษแหล่งเที่ยว

ที่นี่ … “บุรีรัมย์” ไทยแลนด์ แดนอันซีน

เริ่มเดินทางกันอีกครั้ง กับชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว (...)และผู้ร่วมเดินทางวัยเก๋า รวมๆ 80 คน สิริอายุรวมกันไปก็นับหมื่น ๆ ปี ล้อเล่น ..อิอิ  นอกจากจะเป็นกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวภาคอีสานแล้ว ยังเป็นการตอกย้ำความแข็งแกร่ง สุขภาพที่แข็งแรงของคณะวัยเก๋าว่า อายุเป็นเพียงตัวเลขจริงๆ

ครั้งนี้ พี่แอ๊ว  คุณวรางคณา สุเมธวัน ประธานชมรมฯ พาเราไปเยือนเมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ แบบฉ่ำๆ ทั้งปราสาทหินเมืองต่ำ ปราสาทพนมรุ้ง ปล่องภูเขาไฟ วนอุทยานเขากระโดง ชมนกกระเรียนพันธ์ไทยที่ศูนย์อนุรักษ์ชิมอาหารพื้นบ้านที่บ้านสวายสอ วิถีชุมชนที่ผูกพันกับนกกระเรียน สัมผัสกับความเป็นที่สุดในหลายๆ ด้านของเพ ลา เพลิน และปิดทริปกันที่ปราสาทหินพิมาย บอกเลยว่าฉ่ำจริง ๆ ได้สัมผัสกับเที่ยวแบบ 3 ฤดู ทั้งร้อน ทั้งฝนและหนาว โดยมีผู้ใหญ่ใจดีจากททท. ภูมิภาค และสำนักงานบุรีรัมย์ รวมถึงอดีตรองผู้ว่าฯ ททท.ที่ปัจจุบันเข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพ ลา เพลิน ที่เราประทับใจกัน ระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา กับทริป สุขทันที ที่เที่ยวบุรีรัมย์ เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ

… ไม่ให้เสียเวลา เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า เช่นเคย… เช้าตรู่ของการนัดหมาย เราก็ตุเลงๆ บนรถโค้ชสองชั้นขนาดใหญ่ใหม่เอี่ยม ในแบบหยุดพักเป็นระยะ ๆ เวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ไม่รู้ หลับๆ ตื่นๆ แวะบ้างไรบ้าง เราก็มาถึงจังหวัดบุรีรัมย์ ที่แรกเป็นที่ วัดภูม่านฟ้

Day 1

วัดภูม่านฟ้า 

อลังการจริงๆ สำหรับ วัดภูม่านฟ้า แห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอนางรอง จากเอกสารบอกว่า พระอธิการสมศักดิ์ สังวรจิตโต เป็นเจ้าอาวาส สร้างบนเนื้อที่ถึงประมาณ 200 ไร่ ทำให้เท่าที่เห็นในวันนี้ยังปรากฎการก่อสร้างอยู่ ท่าทางจะอีกนาน

วัดแห่งนี้ มีกระแสดราม่ามาสักพักแล้ว ก่อนเราจะเข้ามาในเรื่องของการก่อสร้างที่ไปละม้ายกับโบราณสถานของทางประเทศใกล้ ๆ ที่ชาวเน็ตกัมพูชาเขาอ้างว่าก่อสร้างเลียนแบบนครวัด ซึ่งทางวัดก็บอกว่า ได้รับแรงบันดาลใจจากอาณาจักรขอมโบราณผสมผสานกับสถาปัตยกรรมพุทธสถานประเทศอินเดีย

การออกแบบก่อสร้างทั้งลวดลาย ศิลปะ ต่างๆ ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงการก่อสร้างปราสาทหินของคนโบราณในอดีตและปัจจุบันที่แตกต่างด้วยเทคโนโยลีหรือเครื่องจักรที่นำมาใช้ แต่เจตนาคืออยากสืบทอดความศรัทธาที่มีมายาวนานกว่าห้าพันปี ซึ่งก็ยืนยันว่าไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร ได้รับการอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนาในปี 2564

ที่เราเข้าไปเยือนวันนี้ก็เห็นว่า คล้ายปราสาทหินของฝั่งขอมตามที่บอกเท่านั้น ขณะเดียวกันแต่ละอาคารที่ก่อสร้างมีการนำพุทธประวัติ ทางพระพุทธศาสนาเข้าไปมากกว่า ที่สร้างคล้ายก็เพื่อดึงดูดให้พุทธศาสนิกชนเข้าไปท่องเที่ยว เข้าไปสักการะเท่านั้นเอง

ก็ว่ากันไป …. จริง ๆ สถาปัตยกรรมจากศิลปะขอมที่อยู่ในเมืองไทยก็มีหลายแห่งที่สวยงามอลังการ… ที่สำคัญอยู่ในเมืองไทย ก็เป็นของประเทศไทยหล่ะคุณ

ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนสุด ๆ ของวันนี้ บีทริปนิวส์ขออนุญาตนำชมเพียงแค่เฉียดเบา ๆ บางวิหารเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม วันนี้ทางประธานฯ ร่วมกับคณะเดินทางก็ได้ถวายปัจจัยร่วมด้วย ก่อนจะเดินทางออกมา

#ภูม่านฟ้า

ปราสาทหินเมืองต่ำ

หลังวัดภูม่านฟ้า คณะฯ แวะทานอาหารกลางวัน และเช็คอินที่โรงแรม SO COOL กันก่อน จึงเดินทางกันไปยังปราสาทหินเมืองต่ำ อย่างน้อยก็มีเวลาให้ล้างเนื้อล้างตัวจากแดดจ้าเมื่อเช้า

ที่ ปราสาทหินเมืองต่ำ เป็นลักษณะของศิลปะขอมแบบบาปวน (ราว พ.ศ.1550-1625) และขอมแบบคลังมีปะปนอยู่ด้วย ภาพสลักส่วนใหญ่เป็นภาพเทพในศาสนาฮินดู น่าจะสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-17 เพื่อใช้เป็นศาสนสถาน

ยังคงความขลังดังเดิม ด้วยการดูแลเป็นอย่างดีของกรมศิลปากร ทุกวันนี้ยังคงพบนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ เข้ามาแม้จะประปรายด้วยเพราะสภาพอากาศที่อบอ้าว แต่ไม่ได้ทำให้เหล่านักท่องเที่ยววัยเก๋าของเราหวั่นไหว เพราะมีการเตรียมตัวมาอย่างดี หมวกพร้อม ร่มพร้อม ยาดม ยาลมพร้อม Let’s go !!  … ว่าที่จริงวันนี้สภาพอากาศโปร่งฟ้าใสช่างภาพยิ้มแย้มเพราะได้ภาพสวย

 เชิญทางนี้เลยครับ เจ้าหน้าที่ถือโทรโข่ง เชื้อชวนเหล่านักเดินทางของเราไปดูยอดปรางค์ ซึ่งทำด้วยหินทราย ที่นี่มีซุ้มประตูหินทรายที่สลักลวดลายเอาไว้อย่างสวยงาม เรียกว่ามีหลายมุมให้เซลฟี่กันหล่ะ มองมุมไหนก็สวย

ปราสาทเมืองต่ำ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น. ค่าเข้าชม คนไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทร. 044 – 66 6 251-2 มีเวลาอยากให้ลองมาเยี่ยมชมกัน

#ปราสาทหินเมืองต่ำ

ปราสาทพนมรุ้ง 

“วันนี้เป็นวันที่เราจะได้สัมผัสกับปรากฎการณ์ไฮไลท์บนยอดเขาพนมรุ้ง เพื่อชมพระอาทิตย์ตกส่องผ่านตรง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง” พี่แอ๊ว ประธานชมรมฯ กล่าวตั้งแต่อยู่ระหว่างการเดินทาง

ปราสาทพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง ศาสนสถานแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระศิวะ หนึ่งในสามเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู (ตรีมูรติ) ลัทธิไศวะนิกาย เขาพนมรุ้งและปราสาทบนยอดเขาจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับของพระศิวะ

ตามประวัติ “พนมรุ้ง” มาจากภาษาเขมรว่า วนํรุง แปลว่า ภูเขาอันกว้างใหญ่ ผู้สร้างปราสาทคือ นเรนทราทิตยเชื้อสายราชวงศ์มหิธรปุระพระญาติของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 แห่งเมืองพระนคร ผู้สร้างปราสาทนครวัด

…. เสร็จจากการเดินชมด้านหลัง เจ้าหน้าที่ก็พามายังด้านหน้าปราสาท จะเห็นมีการจัดสถานที่ด้วยการนำรั้วเหล็กกั้นเป็นทาง เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาชื่นชมปรากฎการณ์สุดมหัศจรรย์ พระอาทิตย์ตกผ่านช่องประตู 15 ช่อง แบบแบ่งๆ กันชื่นชม แถมยังประชาสัมพันธ์ตลอดเวลาว่า ใครเห็นแล้วก็แบ่งๆ กันชมนะคร้าบบบ

ว้าว ๆ … เห็นแล้ว เห็นแล้ว  ใช่ เมื่อได้เวลาแสงตกผ่านประตู สีแดงสดจากดวงอาทิตย์ ค่อยๆ เผยโฉมให้เห็นความอัศจรรย์เมื่อมองผ่านประตูสู่องค์ศิวะลึงค์ที่เปรียบเสมือนองค์พระศิวะภายในปรางค์ประธานของปราสาท เสียงอื้ออึงทั้งตะโกนด้วยความตื่นเต้น ทั้งยกโทรศัพท์มือถือขึ้นบันทึกภาพกันจ้าละหวั่น เพราะมีเวลาเพียงไม่นานเท่านั้น ที่จะได้เก็บภาพความประทับใจนี้ เรียกว่าแม้จะยืนรอคอยกันจนเหงื่อซก ร้อนจนตับจะแล่บ แต่ก็ถือว่าคุ้มค่า

ทุกๆ ปี ปราสาทพนมรุ้งจะมีปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์เป็นแนวเดียวกัน 4 ครั้ง  คือ พระอาทิตย์ขึ้นตรงผ่านช่องประตู 2 ครั้งในช่วงวันที่ 3 – 5 เมษายน และวันที่ 8  – 10 กันยายน ส่วนพระอาทิตย์ตกตรงผ่านช่องประตู 2 ครั้ง ในช่วงวันที่ 5 – 7 มีนาคม และวันที่ 5 – 7 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งปรากฎการณ์นี้จะให้เราเห็นได้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ วันไหนมีฝนตก หมอกจัด ก็ไม่มีโอกาสได้เห็น ครั้งนี้ถือเราโชคดีเป็นอย่างมาก 

… ความชาญฉลาดที่แยบยลอย่างที่สุดของคนในยุคสมัยโบราณผู้ก่อสร้างปราสาทแห่งนี้โดยแท้

นักท่องเที่ยวสนใจ สำหรับบัตรเข้าชมปราสาทพนมรุ้ง คนไทยราคา 20 บาท ชาวต่างชาติราคา 100 บาท ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เข้าชมฟรี

#ปราสาทหินพนมรุ้ง

Day 2

เข้าสู่วันที่สองของการเดินทาง เช้านี้หลายคนกระปรี้ประเปร่า เพราะได้พักผ่อนกันเต็มที่ หลังอาหารเช้าในโรงแรม คณะก็พร้อมออกทริปกันต่อเป็นวันที่สอง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยววัยเก๋าที่กระปรี้กระเปร่าสุด ๆ … วนอุทยานเขากระโดง ถือสถานที่ถัดไป

วนอุทยานเขากระโดง

การขึ้นไปยังเขากระโดงสามารถทำได้ สองวิธี คือ เดินขึ้นบันไดหรือขับรถขึ้นไปถึงยอดเขา คนแข็งแรงอย่างคณะเรา  ขึ้นรถซิคะ …จะเหนื่อยทำไม ? 5555

วนอุทยานภูเขาไฟกระโดง เป็นที่ตั้งของภูเขาไฟที่ยังคงปรากฏร่องรอยปากปล่องให้เห็นได้ชัดเจน  นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งยังเป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ทางธรณีวิทยาและชีววิทยาด้วย มีการสร้างสะพานแขวนเอาไว้ให้เดินเล่นไปบันทึกภาพปากปล่องไฟกันด้วย

แต่ก่อนจะถึงปากปล่องภูเขาไฟ มีจุดชมวิวบนยอดเขา ซึ่งมีโบราณสถานกู่เขากระโดงเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และพระพุทธรูป “สุภัทรบพิตร” องค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์ หันหน้าไปทางพื้นราบด้านล่าง

นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าเต็งรัง เนื้อที่ประมาณ 6 พันไร่ รวมทั้งพันธุ์ไม้พื้นเมืองที่หาชมได้ยาก เช่น ผลของต้นโยนีปีศาจ ที่มักพบในบริเวณเขตภูเขาไฟ

#วนอุทยานเขากระโดง

ศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย

เพราะมากันเป็นคณะใหญ่ด้วยรถโค้ช ต้องใช้รถสองแถวของพื้นที่ขึ้นไปชมภูเขาไฟ จึงค่อนข้างใช้เวลานิดหน่อยในการรวบรวมพล เพื่อจะเดินทางไปดูนกกระเรียนพันธ์ุไทยกันต่อ

รถสองแถวของชุมชน พาเราไปยัง ศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย  ตั้งอยู่ในบริเวณริมอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก ตำบลสะแกโพรง พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการติดตามศึกษาและเฝ้าบันทึกภาพนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติในเมืองไทย

ภายในพื้นที่มีโซนอาคารศูนย์ ฯ เป็นแหล่งเรียนรู้ มีทางเดินไปยังหอคอยชมวิว และมีกรงเลี้ยงนกกระเรียนพันธุ์ไทยไว้หนึ่งคู่ เพื่อศึกษาและให้ได้ชมกัน โดยนกคู่นี้เลี้ยงไว้ตั้งแต่ยังเล็ก จึงไม่สามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ เพราะจะหาอาหารกินเองไม่ได้ แต่…

อย่าเข้าไปใกล้มากนะครับ ปากเขาจะยาวออกมาจิกเราได้ เจ้าหน้าที่ออกปากเตือน เพราะบางทีดูๆ แล้วก็ไม่น่าจะทำให้เจ็บตัวได้ และก็ดูเหมือนจะเป็นนกกระเรียนนางแบบซะมากกว่า เชิดหัว เชิดหน้าเย่อหยิ่งหยั่งกะอยู่บนแคทวอล์ค ท่าทางจะชินกับการถูกถ่ายรูป

 แต่ก็ทำให้เราไม่กล้าเข้าใกล้สักเท่าไหร่ กลัวไม่สวยเท่าเธอไม่ใช่กลัวปากเธอนะยะ

บริเวณอ่างเก็บน้ำมีบริการเรือให้นักท่องเที่ยวนั่งออกไปชื่นชมนกกระเรียนกันได้แบบใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีกล้องส่องทางไกลและหนังสือประวัตินกกระเรียนเอาไว้ให้บริการด้วย

จากข้อมูล บอกเอาไว้ว่า ทางรอดหนึ่งของนกกระเรียนพันธุ์ไทย คือ การคืนพื้นที่อาศัยอันสงบ ปลอดภัย และมีอาหารอุดมสมบูรณ์ให้นก จึงเกิดโครงการแปลงนาข้าวอินทรีย์กับวิถีอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยขึ้นที่บุรีรัมย์

ปัจจุบันมีเครือข่ายเกษตรกรผลิตข้าวอินทรีย์ แล้วปล่อยให้นกเข้ามาอาศัยได้เหมือนเพื่อน  คือกลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอ ตำบลสะแกโพรง กลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านเกียรติเจริญและกลุ่มโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่  ตำบลสะแกซำ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ ร่วมกันผลิตข้าวแบรนด์ ‘SARUS RICE’ หรือ ‘ข้าวสารัช’ ข้าวหอมนกกระเรียน ซึ่งเป็นข้าว Organic แท้ๆ

 #ศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย

บ้านสวายสอ Organic Village

สถานที่ต่อมาที่คณะไปเยือน จึงเป็น ชุมชนหมู่บ้านสวายสอ เช่นเดิม คณะเราเปลี่ยนเป็นขึ้นรถสองแถวของชาวบ้าน เพื่อเข้าไปยังหมู่บ้านอินทรีย์ หรือ Organic Village หนึ่งในหมู่บ้านนวัตวิถีของจังหวัด

จากทางเข้ามีป้ายเขียนเอาไว้ว่า นาเฮา ข้าวนกกระเรียน” เดินเข้าสู่ทางเดินเล็กๆ สู่ บ้านกลางนา หนึ่งในกลุ่มสวายสอ ที่ปรับพื้นที่ให้เหมาะสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวมาทานอาหารกัน ชิมเถียงนาเชฟเทเบิ้ล (แหม ๆ แค่ชื่อก็ดูไฮโซฯ ซะละ)

เราได้ข้อมูลจาก คุณปรารถนา อุ่นจิตต์ ผู้ประสานงานชุมชน ฯ สมาชิกกลุ่มแม่บ้านสวายสอ เล่าถึงที่มาของการท่องเที่ยวโฮมสเตย์ และเถียงนาเชฟเทเบิ้ล อาหารกลางวันที่เราได้ชิมกันในวันนี้ ว่า เริ่มแรกเราไม่เข้าใจเรื่องท่องเที่ยว ก็มีททท. มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาให้ความรู้ในสิ่งที่เรามีแล้วนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม อย่างชุมชนทำอาหารเป็น ผอ.ททท.สำนักงานบุรีรัมย์ก็บอกว่า เราทำลาบปลาอร่อยก็ทำ เมื่อนำส่วนผสมที่เป็นวัตถุดิบสมุนไพร ทำให้ พี่ ป้า น้าอา ยาย เกิดรายได้ จึงนำมารวมกันและก็เกิดขึ้นเป็นเถียงนาเชฟเทเบิ้ล ค่าอาหารคิดหัวละ 250 บาท อิ่มไม่อั้น มื้อกลางวันหรือเย็นก็ได้

เปิดมาสองปีแล้ว มีคนเข้ามาใช้บริการเดือนละ ไม่ต่ำกว่า 15-20 ครั้ง ต้องจอง 10 คนขึ้นไป เมนูเด็ดมีลาบปลาดุกข้าวคั่วดำ ส้มตำสมุนไพร ต้มไก่ใบหม่อน ไข่เจียวบ้านนา ข้าวมะลินิลหรือสาวน้อยรอนาง ชุดผักสุ่ม และปลานึ่ง ผักเป็นอินทรีย์ทั้งหมด

ผอ.ททท.บุรีรัมย์ แนะนำด้วยว่า ในเมื่อแต่ละบ้านปลูกผักเก็บแต่ละอย่างได้ไม่เหมือนกัน  ผักเก็บทานได้ไม่เหมือนกัน จึงเรียกว่าผักสุ่ม แล้วแต่จะได้ผักอะไรในมื้อนั้น ๆ 

ท่านเป็นพี่เลี้ยงเราอย่างดียิ่ง ทั้งให้ความรู้ ความช่วยเหลือ ทั้งเคาะ ทั้งทุบ สร้างความวุ่นวาย กระจายทั่วถึงทั่วกัน”  ผู้ประสานงาน (กล่าวยิ้ม) 

ส่วนโฮมสเตย์มี 5 หลัง รองรับได้ 50 คนอยู่ในชุมชน ห่างจากบริเวณเถียงนานี้ราว 1 กิโลเมตร มีอาหารเช้าเสริฟ แต่ต้องจองล่วงหน้าเหมือนกัน  หากมาพัก 1- 2 คนก็ได้ คิดหัวละ 300-350 ไม่รวมอาหารเช้า ถ้าเป็นห้องแอร์จะแพงกว่ากัน 50 บาท หากพักโฮมสเตย์ต้องการมารับประทานอาหารที่เถียงนา จะมีรถรับ – ส่ง

“ชุมชนบ้านสวายสอ มีดีนกกระเรียนไทย ภูมิใจวัฒนธรรม อร่อยล้ำอาหารถิ่น ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่านที่รักสุขภาพและพร้อมจะอุดหนุนสนับสนุนชุมชน อยากให้ท่านลองมาเยี่ยมและให้คำแนะนำได้” คุณปรารถนากล่าวเชิญชวน 

นอกจากนี้ในชุมชนสวายสอ ยังมีผ้าก่วย หรือ ซิ่นก่วย มีข้าวอินทรีย์ ข้าวหอมมะลินกกระเรียนที่ชุมชน สีกันเอง ขายกันเอง บริหารจัดการกันเอง

สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่ คุณปรารถนา โทร 0854943250 หรือ Facebook :ข้าวหอมนกกระเรียน

#ชุมชนสวายสอ

อิ่มอร่อยพร้อมอุดหนุนสินค้ากันจนเกลี้ยงเถียงนา คณะของเราก็ออกมานั่งรถสองแถวคลุกฝุ่นกันต่อ

แต่เมื่อขึ้นรถโค้ช แอร์เย็นฉ่ำ ไม่นาน … ฝนก็พรำลงมา … ป๊าดดด

และยิ่งเมื่อเข้าใกล้สถานีรถไฟบุรีรัมย์ เพื่อไปชิมลูกชิ้นยืนกินก็พับกันไป ปรับเปลี่ยนมานั่งกินบนรถแทน

ลูกชิ้นยืนกิน ถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของชาวเมืองที่แวะเวียนมาอุดหนุนกันมาหลายสิบปีและยิ่งโด่งดังก็ตอนที่นักร้องสาวชาวไทย ที่ชื่อ ลิซ่า มาชิมนั่นแหล่ะ ยิ่งดังระเบิดเถิดเทิงกันนับแต่นั้นมา

ในอดีตลูกชิ้นยืนกิน จะใช้น้ำจิ้มหม้อเดียวกัน ซื้อแล้วก็จิ้มน้ำจิ้มกันตรงนั้น เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์ แต่ปัจจุบันเพื่อให้ถูกสุขอนามัย จึงปรับเป็นตักน้ำจิ้มลูกชิ้นแบ่งถ้วย สร้างความอุ่นใจแก่นักท่องเที่ยว

ซึ่งส่วนมากเมื่อมาบุรีรัมย์ ผ่านสถานีรถไฟ ก็จะนึกถึงบรรยากาศยืนกินลูกชิ้นของที่นี่ แต่วันนี้ฝนตกคะ ทำได้แค่ซื้อมานั่งกิน บนรถก่อนจะตัดสินใจมุ่งหน้าสู่ที่พักที่โรงแรม เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท แอนด์ แอดเวนเจอร์ แคมป์ 

ค่ำนี้ทุกคนแต่งตัวสวยงาม ลงมายังห้องจัดเลี้ยงของโรงแรม เพื่อร่วมงานเลี้ยงต้อนรับจาก ททท.สำนักงานบุรีรัมย์ ททท.ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ปรึกษาเพ ลา เพลิน ที่ให้เกียรติต้อนรับคณะอย่างอบอุ่น พร้อมกับกิจกรรมที่ร่วมกับชมรม ฯ แจกของที่ระลึกให้คณะได้รอยยิ้มก่อนนอน

Day 3

เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท แอนด์ แอดเวนเจอร์ แคมป์

ดูจะเป็นการมาเยือนบุรีรัมย์ที่ได้สัมผัสกันสามฤดูจริงๆ วันแรกร้อน วันที่สองฝน และวันนี้อากาศหนาวเย็น ตั้งแต่เช้าอุณหภูมิราว 20 องศา นั่นทำให้การเดินชมความเป็น  เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท แอนด์ แอดเวนเจอร์ แคมป์  เพลิดเพลินโดยแท้

เพ ลา เพลินในวันนี้ พร้อมแล้วในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด เที่ยวอย่างมีความสุข สนุกกับการเรียนรู้

บนพื้นที่กว่า 400 ไร่ แบ่งเป็นโซนหลักๆ คือ โซนที่พัก มีห้องประชุมสัมมนาและกิจกรรมแอดเวนเจอร์ โซนที่พักมีทั้งหมด 73 ห้อง ถ้าโซนที่พัก The Journal ก็จะตกแต่งห้องแบบเอเซีย และยุโรปตามเอกลักษณ์ของประเทศ จำนวน 20 ห้อง ส่วนโซนที่พัก The Naturalist ทั้งหมด 53 ห้อง

โรงนอน Kids” Zone 32 เตียง มีลานกางเต๊นท์ 400 หลัง โซนห้องประชุม รองรับการจัดเลี้ยงได้ 50-500 คน และก็โซนกิจกรรมแอดเวนเจอร์ โซนนิทรรศการ กาลครั้งหนึ่งแกลลอรี่ ของเก่า ของสะสม ของหายาก

สำหรับคณะ ช.ส.ท.และนักท่องเที่ยววัยเก๋า 80 ชีวิตในวันนี้ พี่เอ – คุณสมฤดี จิตรจง อดีตรองผู้ว่าฯ ททท. ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของที่นี่ ได้จัดกิจกรรมเอาไว้ให้เราแล้ว

เริ่มกันด้วย อาคารด้วยรักและภักดี และอุทยานไม้ดอก เพ ลา เพลิน ( Flora)

อาคารด้วยรักและภักดี เริ่มชมกันตั้งแต่ทางเข้าที่มีภาพเขียนสีน้ำมันพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 9 ขนาดใหญ่ มีบอร์ดนิทรรศการแนะนำ เพ ลา เพลิน จุดเด่นคือมีการแสดงผ้าไหมยกทองโบราณ ผลงานชิ้นเอกของอาจารย์วีรธรรม ตระกูลไทย

เดินทางกันต่อไปยัง อุทยานไม้ดอก เพ ลา เพลิน ใช้พื้นที่ 100 ไร่ เป็นอุทยานไม้ดอกแห่งแรกและแห่งเดียวในดินแดนอีสานใต้ แสดงพรรณไม้ในหมู่อาคาร 6 โรงเรียน อาทิ โรงเรือน Maha Piramid โรงเรือน Global warming โรงเรือน The diversity of Hemp เป็นต้น

นอกจากนี้คุณสมฤดี พร้อมด้วย คุณยุวธิดา ผลจันทร์ Personal Asst.President เพ ลา เพลิน และเจ้าหน้าที่จัดกิจกรรมเวิร์คช็อป ทำยาดมสูตรเฉพาะของที่นี่กลิ่นลาเวนเดอร์ใส่ขวดเล็ก ๆ กลิ่นหอมฟุ้งทั่วบริเวณ ชื่นใจชื่นใจ

เก็บใส่กระเป๋ากันคนละกระปุกสองประปุกเสร็จสรรพ ก็กระโดดขึ้นรถรางไปต่อกัน

คราวนี้ไปเยี่ยมชมสถานที่ผลิตสุราแช่พื้นเมือง หรือที่เรียกง่ายๆว่า สาโท นอกจากจะมีการให้ความรู้ถึงที่มาของการผลิตแล้ว ยังเปิดโอกาสให้คณะได้ชิมกันก่อนจะตัดสินใจซื้อหาติดมือกลับบ้านกัน บอกเลยว่า หากมาที่นี่ พลาดไม่ได้ ทั้งรสชาตินุ่มละมุนลิ้นและกลิ่นไม่รุนแรง หอมอีกต่างหาก มีให้เลือกหลายรสชาติแล้วแต่จะโปรดกัน

หลังจากนั้นไปกันต่อที่ อาคารรักพ่อพอเพียง ที่นี่เป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมและถ่ายทอดเรื่องราวศาสตร์พระราชาทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ด้านในจัดนิทรรศการ “พระอัจฉริยภาพทั้ง 9 ประการของในหลวงรัชกาลที่ 9”  มีการแสดงสมุนไพรไทยเพื่อการใช้งานในรูปแบบต่างๆ

ด้านหน้าเขียนว่า Arokaya Herbs Wellness Sala นั่นทำให้ก่อนจะเดินออกจากอาคารแห่งนี้ มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพจัดจำหน่าย

โดยครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งอื่น คือ คุณปอนด์ ประณัย สายชมภู กรรมการผู้จัดการ เพ ลา เพลิน มาให้ข้อมูลแต่ละผลิตภัณฑ์แก่แม่ๆ ป้าๆ คณะวัยเก๋าของเราอย่างใกล้ชิด

และจบลงด้วยการช้อปปิ้ง …ใช่คะ จุดสุดท้ายของกิจกรรม จอยส์ ช้อปปิ้ง เพลส

หากสนใจสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่ www.playlaploen.com เขายังมีอื่นๆอีกเยอะจริงๆ เอ่ยทั้งวันก็ไม่หมด

#เพลาเพลินบูติครีสอร์ทแอนด์แอดเวนเจอร์

ก่อนกลับกรุงเทพ ฯ  ทางคณะได้แวะไปที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดของไทย อยู่ในจังหวัดนครราชสีมาเพื่ออัพเดทสถานที่อันทรงคุณค่าที่ได้รับการดูแลบำรุงรักษาโบราณสถานโดย สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา เป็นหน่วยงานหลัก

สถานที่ที่เป็นพุทธสถานในลัทธิมหายาน สร้างในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 เรียกว่าสร้างก่อนปราสาทนครวัดอีกด้วย

สุขทันที ที่เที่ยวบุรีรัมย์ จากวันที่   5  7 มีนาคม เราได้สั่งสมประสบการณ์และเก็บสิ่งละอันพันละน้อยจากการเดินทาง เพื่อนำไปเผยแพร่ โดยเฉพาะพื้นที่ในจังหวัดบุรีรัมย์และภาคอีสาน ซึ่งมีหลายสิ่งที่เป็นอันซีนของการท่องเที่ยวจริงๆ

เทียบกับของประเทศอื่นๆ ต้องภูมิใจว่าของเราเป็นหนึ่งในโลกเหมือนกัน ไม่ด้อยในเรื่องศิลปะความงามและความอลังการ

ขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยที่ผ่านมาทางภาคอีสานนี้ได้แวะเวียนมาเยี่ยมชมและมาชื่นชมกับความยิ่งใหญ่ของสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองไทยกันคะ พี่แอ๊ว ประธานชมรมฯ ช... กล่าวเชิญชวน

#อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

… เที่ยวเมืองไทย แหล่งเที่ยวสุดอันซีน เส้นทาง “เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ” … สุขทันที เพราะที่นี่คือ “บุรีรัมย์” 

_________

 Bye… Bye รอพบกันใหม่ ทาง www.btripnews.net , Facebook : btripnews , TikTok : kok_nari ที่จะมาอัพเดทการท่องเที่ยวกัน เรื่อย ๆ 

นาริฐา จ้อยเอม เรื่อง / ภาพ

ขอขอบคุณ

คุณอรรถพล วรรณกิจ ผู้อำนวยการภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย( ททท.)

คุณศิวฤทธิ์ ศรีบุญเรือง ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานบุรีรัมย์

คุณภูวดล เลาะฟอ การตลาด ททท.สำนักงานบุรีรัมย์

คุณสมฤดี จิตรจง อดีตรองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ  ททท.ที่ปรึกษา เพ ลา เพลิน บุรีรัมย์

คุณประณัย สายชมภู กรรมการผู้จัดการ เพ ลา เพลิน

คุณยุวธิดา ผลจันทร์ Personal Asst.President เพ ลา เพลิน

ภาพบางส่วนจากสมาชิกชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว ช..

คณะนักท่องเที่ยววัยเก๋าทุกท่าน