Update Newsท่องเที่ยว B Tripสกู๊ปพิเศษแหล่งเที่ยว

14 แหล่งชุมชนวิถี ความทรงจำดีดี ที่เมืองคอนหวัน – สู่แดนชาละวันจังหวัดพิจิตร

...ได้เวลาเดินทางกันต่อ ครั้งนี้ B TripNews จะพาไปสัมผัสกับบรรยากาศแห่งความทรงจำตามย่านชุมชนเก่า ของเมืองนครสวรรค์ระเรื่อยขึ้นไปยังจังหวัดพิจิตรแดนชาละวัน แม้จะเป็นเพียงห้วงเวลาไม่นาน แต่เชื่อว่า ...หากอยากเติมเต็มประสบการณ์ย่านชุมชน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายในแผนการเดินทางที่น่าสนใจทีเดียว... 

... โดยเมื่อวันที่ 1-3 เมษายนที่ผ่านมา กองบก. บีทริปนิวส์ ได้ร่วมกิจกรรมการเดินทางส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนและย่านเก่าของจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดพิจิตร ซึ่งนำโดย คุณวรางคณา สุเมธวัน ประธานชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยวหรือ ช.ส.ท. องค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวเก่าแก่อายุปีนี้ก็เข้าปีที่ 38 แล้ว



แต่ครั้งนี้เราไม่ได้ไปเฉพาะสื่อมวลชนเท่านั้น ยังนำคณะนักท่องเที่ยวสมาชิกวัยเก๋าอีกหลายสิบชีวิตร่วมสัมผัสกับวิถี... วัฒนธรรม...ผู้คน... ชุมชน...ที่น่าสนใจของเมืองอีกด้วย

เริ่มกันเลยดีกว่า... การเดินทางเริ่มขึ้นในช่วงเช้าตรู่ของวัน หลังจากเหล่าสมาชิกมากันพร้อมหน้าครบตามจำนวน รถโค้ชสองชั้นขนาดใหญ่ จำนวนสองคัน ก็ทำหน้าที่ของมัน ล้อขนาดใหญ่หมุนออกสู่ถนนวิภาวดี - รังสิต มุ่งหน้าสู่เมืองที่ตั้งใจ

“เดี๋ยวเราจะแวะจุดแรกเพื่อทานอาหารเช้า ที่ร้านอาหารปราสาททองคะ” พี่หนุ่ย หนึ่งในสมาชิกชมรมฯ ผู้สื่อข่าววิทยุที่มาเป็นมัคคุเทศน์กิตติมศักดิ์ รับผิดชอบกรุ๊ปรถโค้ชคันที่ 1 ประกาศผ่านไมค์ ร้านปราสาททองอยู่แถวบางปะอิน เป็นร้านขนาดใหญ่กว้างขวางมากพอสำหรับการรับกรุ๊ปเกือบร้อยชีวิตของคณะเรา



วันแรก 

1.“พาสาน” แลนด์มาร์คริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

หลังทานข้าว ทานยา (เพราะสมาชิกวัยเก๋าสูงวัย สิ่งสำคัญจึงเป็นเรื่องยา ด้วยประการฉะนี้) เสร็จสรรพก็ล้อหมุนมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครสวรรค์ โดยแวะกันที่แลนด์มาร์คริมน้ำเจ้าพระยา





“พาสาน” มาจาก “ผสาน” อาคารสัญลักษณ์ต้นน้ำเจ้าพระยา ที่โดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมตั้งอยู่หัวมุมของจุดบรรจบ ระหว่างแม่น้ำปิงกับแม่น้ำน่าน ณ ปากน้ำโพ อำเภอเมือง จ.นครสวรรค์



ตามเอกสารบอกว่า ที่นี่เป็นแลนด์มาร์คที่สร้างจากน้ำจิตน้ำใจของคนคอนหวัน ทั้งเทศบาลฯ ชมรมรักษ์เจ้าพระยา เพื่อเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมท้องถิ่น วิถีชีวิตริมน้ำ รวมถึงเป็นจุดเช็คอินและถ่ายภาพเซลฟี่กัน และได้รับความร่วมมือจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา สมาคมสถาปนิกสยามฯ จัดการประกวดแบบขึ้น รวมถึงมีการประกวดตั้งชื่อสถานที่จากผลงานการออกแบบนี้ด้วย



ผสาน หรือ พาสาน สื่อความหมายถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับวิถีชีวิตของชาวต้นแม่น้ำเจ้าพระยา และอีกนัยหนึ่งยังหมายถึงการรวมตัวของ แม่น้ำ 4 สายมารวมกัน ปิง วัง ยม น่าน โดยในวันที่ 6-8 เมษายน มีการแสดง I Light Nakhon Sawan สีสันศิลปะ 2023 โชว์เสน่ห์เมืองรอง สานต่อโครงการเที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม



 
https://www.google.com/maps/place/Pasaan,+The+Origin+of+the+Chao+Phraya+River/@15.70132,100.1405271,17z/data=!3m1!4b1!4m6!3m5!1s0x30e04fb34c1af9a7:0x3426cbf43ff8660!8m2!3d15.70132!4d100.1427158!16s%2Fg%2F11h3g7r43r?hl=en

2.ศาลเจ้าพ่อแก้ว บางมูลนาก 

ไปต่อกันที่ ศาลเจ้าพ่อแก้ว (หลังใหม่) อยู่ใกล้กับที่ว่าการอำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างแทนศาลเจ้าหลังเก่าเพื่อประดิษฐานองค์เจ้าพ่อแก้วในปัจจุบัน แต่ละปีจะมีการจัดงานประเพณีเจ้าพ่อแก้วและงานงิ้วประจำปี พร้อมทั้งอัญเชิญองค์เจ้าพ่อแก้วแห่รอบชุมชน



 

ที่ศาลเจ้าแห่งนี้ดูอลังการตั้งแต่ซุ้มทางเข้าสูงตระหง่าน ลานจอดด้านหน้ากว้างขวาง สะดวกสบายสำหรับผู้ที่จะเข้ามากราบไหว้สักการะองค์เจ้าพ่อแก้วซึ่งนำมาประดิษฐานไว้ชั้นสอง ภายในศาลเจ้ามีลิฟท์เอาไว้สำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ สามารถพาญาติพาผู้หลักผู้ใหญ่ขึ้นมาสักการะได้ไม่ต้องกลัวว่าจะขึ้นบันไดไม่ไหว



 



หลังสักการะ “องค์เจ้าพ่อแก้ว” ทางพี่แอ๊ว - สุรางคณา ประธานชมรมฯ ก็เอ่ยแนะนำให้คณะวัยเก๋า เดินเล่นย่าน ตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก เพื่อสัมผัสวิถีชุมชน ซึ่งด้วยความที่เราเข้าไปเยือนในวันธรรมดาร้านรวงยังไม่ค่อยเปิดให้บริการ แต่ก็พอได้เห็นและสัมผัสเสน่ห์ตลาดชุมชนจากเรือนไม้พาณิชย์เก่าแก่ที่ยังทรงคุณค่า

3.ตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก

ในพื้นที่อำเภอบางมูลนาก มีย่านการค้า ตลาด เป็นแหล่งชุมชนที่ถือว่าเป็นมรดกทางความทรงจำของชาวบางมูลนาก เมื่อก่อนทรุดโทรมแต่ได้รับการฟื้นอดีตให้กลับมามีชีวิตใหม่ ทั้งวิถีและวัฒนธรรม



 

 

 

 

ที่นี่มี พิพิธภัณฑ์ชาวบางมูลนาก มีประวัติชุมชน แหล่งเรียนรู้สำหรับทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน “ครอบครัวเค้าสงวนศิลป์”ได้บริจาคบ้านพร้อมที่ดิน ร้านเสริมศิลป์ให้เป็นสมบัติของชาวบางมูลนาก เพื่อเก็บเป็นความทรงจำในนาม “พิพิธภัณฑ์บางมูลนาก”



ด้วยความที่อากาศค่อนข้างร้อนระอุ การไปเที่ยวแบบเหงื่อหยดติ๋ง ๆ แบบนี้ สิ่งสำคัญคืออุปกรณ์กันแดด ไม่ว่าจะเป็น หมวก ร่ม หรือผ้าโพกหัว รวมทั้งการประโคมครีมกันแดดเข้าไปเพื่อไม่ให้กลายสภาพเป็นชนเผ่าพื้นเมืองเยี่ยงเรา 555

จริงๆ แล้วจากศาลเจ้าพ่อแก้ว สามารถเดินเยี่ยมชมตลาดฟื้นอดีต  ฯ นี้ได้เลยไม่ไกลกัน หรือจะเซฟกำลังก็กระโดดขึ้นรถรางเพื่อสัมผัสเสน่ห์ชุมชนที่เขามีบริการก็ไม่ว่ากัน

4.วัดสุขุมาราม



เวลาผ่านไปจนเข้าสู่เวลาบ่ายคล้อย คณะของเราก็เดินทางกันต่อไปยัง วัดสุขุมาราม วัดแห่งนี้โดดเด่นที่พระพุทธไสยาสน์ที่มีความยาวถึง 55 เมตร สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเฉลิมพระชนม 7 รอบ 84 พรรษา จัดสร้างโดยหลวงพ่ออนันต์ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานีสร้างถวาย วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ที่บ้านวังตะกู เนื้อที่ 63 ไร่ ค่อนข้างกว้างใหญ่มาก วันนี้ได้รับความกรุณาจากเจ้าอาวาสสวดมนต์ให้ศีลให้พรแก่คณะของเราที่ร่วมกันทำบุญถวายอีกด้วย



จุดเด่นของที่นี่คือวิหารหลวงพ่อเขียน ธมมรักขิโต วัดสำนักขุนเณร ที่ท่านเคยจำพรรษาและเป็นเจ้าอาวาสอยู่ตลาดการบวช ด้วยวัตรปฏิบัติที่งดงามทำให้เป็นที่เลื่อมใสของชาวพิจิตรและบุคคลทั่วไปเป็นอย่างมาก ท่านมีอายุยืนถึง 108 ปี ภายในวัดแห่งนี้จึงมีรูปหล่อเหมือนหลวงพ่ออยู่มากมาย

 

 



5.บึงสีไฟ





 

 

มาปิดท้ายวันแรกเมืองชาละวันกันที่ บึงสีไฟ ที่นี่นอกจากจะมีสถานแสดงพันธ์ปลาเฉลิมพระเกียรติให้เยี่ยมชม ซึ่งตอนนี้ที่เรามาถึงปิดทำการไปแล้ว จึงได้แต่ชักภาพกับเจ้ารูปปั้นพญาชาลวัน จระเข้ตัวเขื่องที่สร้างเอาไว้ด้านหน้าขนาดยาวถึง 38 เมตร สูง 5 เมตรภายในทำเป็นห้องประชุมขนาดย่อม ยามอาทิตย์ใกล้อัสดงแสงสีส้มสาดส่องกระทบผิวน้ำ ทำให้ขนานนามกันว่า บึงสีไฟ







ใกล้กันมีบ่อจระเข้สองบ่อ ทั้งบ่อเก่าและบ่อใหม่ ปัจจุบันบ่อเก่าที่มีขนาดเล็กยกเลิกไปแล้ว จึงเหลือเพียงบ่อจระเข้ขนาดใหญ่ที่สามารถเดินตามสะพานที่ทอดยาวจนถึงกลางบ่อทำให้สัมผัสธรรมชาติของจระเข้ได้อย่างใกล้ชิด และปลอดภัยด้วยลูกกรงตลอดทาง เรียกว่าถ้าไม่มีลูกกรงครอบเอาไว้คงไม่มีใครกล้าเข้าไปแน่นอน



 

 

  

ก็แหม ... เห็นคุณพี่จระเข้นอนผึ่งแดดอยู่ตรงนั้นนับสิบ อีกฟากหนึ่งก็แหวกว่ายน้ำเพลิดเพลินเจริญใจอีกเป็นโขยง ขณะที่บางตัวก็นอนอ้าปากรอรับ ... มีความสุขจริงจริ๊ง  ตกไปละก็จะเหลือรึ ? แต่รับรองปลอดภัยแน่นอน ลูกกรงแน่นหนา ขอบอก...  

แล้วก็จบวันกันที่ร้านอาหาร ครัววนิดา ที่นี่เราได้พบกับ คุณ เชอรี่ - สุชารัตน์ แสงอรุณ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานจังหวัดนครสวรรค์พิจิตร และคุณวนิดา เจ้าของร้านครัววนิดา ที่มารอต้อนรับคณะด้วย  





 

 

 

  

  

 

เช้าวันที่สอง 

6.ตักบาตรทางน้ำคลองข้าวตอก



วันนี้ ผอ.ททท.และพี่แอ๊ว ประธานชมรมฯ นัดแนะลูกทริปร่วม “ตักบาตรทางน้ำคลองข้าวตอก” ที่วัดดงกลางอำเภอเมืองพิจิตร เพื่อร่วมสืบสานวิถีชาวพุทธ

ผอ.ททท.สำนักงานนครสวรรค์ – พิจิตร และ ประธานชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว




 

 

 

 

 

 



การตักบาตรทางน้ำ เป็นหนึ่งเดียวในจังหวัดพิจิตร อยู่บริเวณตลาดชุมชนคุณธรรมวัดดงกลาง จัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ ที่นี่มีชุดตักบาตรเอาไว้ให้บริการชุดละ 50 บาทสำหรับผู้ที่ตั้งใจทำบุญ และหากทำบุญเสร็จก็สามารถเดินเล่นช้อปปิ้ง ของกิน ของที่ระลึก ของพื้นถิ่น จำหน่ายสินค้าปลอดภัยด้วยราคาย่อมเยา มีศูนย์เรียนรู้เตาถ่านน้ำส้มควันไม้ สถาปัตยกรรมบ้าน ไม้โบราณต้นสะตือยักษ์ รุกขมรดกของแผ่นดิน



7.ศาลเจ้าแม่ทับทิม ท่าฬ่อ





 

 

 

  

 

 

หลังจากนั้นไปต่อกันเลย ที่ศาลเจ้าแม่ทับทิม ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ของชาวพิจิตร มีองค์เจ้าแม่ทับทิมเป็นองค์ประธาน เราได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่อย่างอบอุ่น ทั้งอาหารว่าง อาหารโบราณ รวมถึงการให้ความรู้อันเกี่ยวเนื่องกับศาลเจ้า หลังจากสักการะองค์เจ้าแม่ทับทิม สถานที่อีกแห่งติดกันคือ โรงเรียน ยกเอ็ง เป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนให้แก่คนไทยและสอนภาษาไทยให้แก่คนจีนในอดีต

โรงเรียนยกเอ็ง ถูกเก็บรักษาเอาไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจมากๆ มี มัคคุเทศก์น้อยคอยให้ข้อมูลแก่ผู้เข้ามาเยี่ยมเยียน อาคารเรียนก่อสร้างด้วยเรือนไม้สองชั้น โดยห้องเรียนได้ทำเป็นห้องจำลองแสดงข้าวของเครื่องใช้

























8.ย่านเก่าวังกรด 

ที่นี่ ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ( Tourism Awards ) สาขาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนประจำปี 2519 บริเวณโดยรอบหอนาฬิกาเป็นชุมชนเก่าแก่ ในอดีตรู้จักกันในชื่อ ตลาดวังกรด อยู่ห่างจากตัวเมือง พิจิตร 6 กิโลเมตร สมัยก่อนย่านนี้เป็นย่านการค้าเก่าแก่ ปัจจุบันยังคงบอกเล่าความเป็นมาจากรูปทรงสถาปัตยกรรมและบรรยากาศ รวมทั้งวิถีการค้าของชุมชน



 

 

 

  

 

 

“เชิญเลยค๊า ทานไรดีคะ มีขนมจีนน้ำยา ข้าวแกงอร่อยคะ “ คุณป้าเจ้าของร้านข้าวแกงส่งเสียงเชิญชวนผู้มาเยือน ที่ต่างกระจัดกระจายจับจ่ายกันอุตลุต เพราะที่นี่นอกจากจะมีร้านอาหารให้ฝากท้องหลายร้านอยู่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นร้านข้าวแกง ร้านตั้งเต๊กไต๋แล้ว ยังมีร้านผัดไท ร้านเตี๋ยว ฮะ ที่ดึงดูดความสนใจลูกค้าด้วยการนำปิ่นโตมาเรียงเอาไว้สูงเทียมร่าง ร้านขนมโบราณ ร้านขายของที่ระลึก เดินเล่นเลือกซื้อ เลือกชิม ช่วยกระจายรายได้ลงชุมชนกันเพลิดเพลินทีเดียว ที่นี่มีมุมให้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกหลายจุดเหมือนกัน ด้วยเพราะเป็นถนนที่ความยาวไม่มากนัก เดินเล่นเดินชิมกันได้อย่างชิล ๆ

 

  

 





9.“อาคารหลวงประเทืองคดี”

จากหอนาฬิกา ด้านหน้าตลาดวังกรด อีกฟากฝั่งถนนเป็นที่ตั้งของอาคารตึกปูนหลังแรกของวังกรด “ตึกหลวงประเทืองคดี”





  

  

 

ตามประวัติ หลวงประเทืองคดี คือ นายชม ผดุงศิริ เกิดในปี 2425 รับราชการเป็นอัยการต่อมาปี 2461 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงประเทืองคดี

  

 

ส่วนอาคารแห่งนี้ เดิมชาวบ้านเรียกบ้านหลังนี้ว่า บ้านคุณนายแจง ตามชื่อของเจ้าของบ้านเดิมที่เป็นผู้ครอบครอง คือนางแจงและนายทอง ไทยตรง ซึ่งตามประวัติผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า เป็นคนสนิทท่านโฮจิมินห์และถูกลอบสังหาร นางแจงจึงให้หลวงประเทืองคดีว่าความทำให้มีความสนิทสนมกันและตกลงอยู่กินเป็นสามีภรรยากัน

 

 

  

 

 

 

 

   

หลวงประเทืองคดีนอกจากเคยรับราชการเป็นอัยการ และได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีเมืองคนแรกของจังหวัดพิจิตร นอกจากนี้ยังเป็นบุคคลสำคัญของชาวตลาดวังกรด เป็นผู้ริเริ่มและสนับสนุนให้สร้างตลาดวังกรดและเป็นผู้นำในการสร้างศาลเจ้าพ่อวังกลม เมื่อนางแจงเสียชีวิตและบุตรชายหญิง 4 คนได้เสียชีวิตเหลือเพียงพันเอกพิเศษ นายแพทย์วรสิทธิ์ ไทยตรง บุตรคนสุดท้ายของนางแจงจึงได้เป็นผู้ครอบครองบ้านหลังนี้และมอบบ้านหลังนี้ให้เทศบาลเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในปี 2560

“สีขาวบนผนังบ้านนี้ไม่ใช่สี แต่เป็นปูนตำแบบโบราณ ที่นิยมใช้ในวัดโบราณในจังหวัดสุโขทัยและอยุธยา มีลักษณะเป็นปื้น ไม่ได้เรียบเนียนเหมือนทาสีทั่วไป”  สาวน้อยมัคคุเทศน์เริ่มเล่าให้ฟัง

 

 

ที่นี่มีห้องใต้ดิน เพื่อใช้หลบภัยจากการทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้ซ่อนชาวเวียตนามอพยพ และใช้เก็บสมบัติเนื่องจากที่นี่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟในช่วงสงครามโลกมีการทิ้งระเบิดบริเวณนี้บ่อยครั้ง



ปัจจุบันมีกุญแจดอกยักษ์ตั้งอยู่กลางห้อง ซึ่งเป็นกุญแจที่ผู้ว่าวีระศักดิ์ มอบให้ในวันเริ่มเปิดบ้านนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อสื่อถึงอาชีพอัยการผู้ทำหน้าที่ในการไขปัญหาให้กับประชาชน

10.พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ 

ถัดมาเป็น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดจากความร่วมมือของจังหวัดพิจิตรกับองค์กรบริหารส่วนตำบลป่ามะคาบ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ฮานอย ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียตนาม สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบชุมชน สร้างเป็นอาคารสองชั้น บนที่ดินที่เคยเป็นสุสานของชาวไทยเชื้อสายเวียตนาม ภายในแบ่งเป็นโซนจัดแสดง 9 โซน หากใครเข้ามาเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณภูริ หงส์ทอง นักประชาสัมพันธ์ อบต.ป่ามะคาบ โทร 087 1988699

 

 

 

  

  

  

 

 

  

 

 

   

   

 

 

ส่วนด้านนอกอาคาร มีบ้านจำลองของประธานโฮจิมินห์จัดแสดง เป็นบ้านไม้ทรงยกพื้นสูง ภายในมีรูปปั้นของประธานโฮฯ และข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของท่าน





 







11.วัดท่าหลวง



วัดท่าหลวง เป็นพระอารามหลวงถือเป็นวัดโบราณคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดพิจิตร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ภายในพระอุโบสถประดิษฐานองค์หลวงพ่อเพชร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน เป็นที่เคารพสักการะแก่ชาวจังหวัดพิจิตรและบุคคลทั่วไปเป็นอย่างมาก เรียกว่ามาพิจิตร ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ไม่ควรพลาดมากราบกัน



แล้วก็ได้เวลากลับที่พัก หลังตะลุยลงชุมชนกันมาตลอดทั้งวัน

วันที่สาม 

เข้าสู่วันสุดท้ายของการเดินทาง วันนี้ก็เช่นเคยเริ่มตะลอนกันตั้งแต่เช้าของวัน เพื่อไปยัง อุทยานเมืองเก่าพิจิตร ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระยาโคตรบองเจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดพิจิตร เป็นอุทยานเมืองเก่าที่มีลักษณะเป็นเมืองโบราณ ประกอบไปด้วยกำแพงเมือง คูเมือง เจดีย์ เก่า

12.อุทยานเมืองเก่าพิจิตร

แต่ก่อนจะเดินเข้าสู่ส่วนอุทยานฯ บริเวณลานจอดรถ เราจะพบศาลหลักเมือง ซึ่งมีร้านค้าขายดอกไม้ธูปเทียนตั้งอยู่

“สักการะศาลหลักเมืองทางด้านนี้คะ ส่วนองค์พ่อปู่พระยาโคตรบองเทวราชอยู่ด้านล่างคะ สามารถเลือกดอกไม้ธูปเทียน บริจาคตามกำลังศรัทธาได้เลยคะ” เจ้าหน้าที่หญิงวัยกลางคนบอกกับเราด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

 

 

 

 

 

การสักการะ สามารถจุดธูป ถวายดอกไม้ได้ แต่ไม่อนุญาตให้ห่มผ้าหลากสี บนองค์เสาหลักเมือง ส่วนด้านล่าง บริเวณหลวงพ่อปู่พระยาโคตรบองเทวราชไม่อนุญาตให้จุดธูปด้านในเนื่องจากค่อนข้างคับแคบ เกรงว่าควันธูปจะก่อให้เกิดอันตราย

 

หลังจากสักการะเสร็จ จะมีป้ายบอกทางให้เดินไปยังอุทยาน ฯ ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีและธรรมชาติที่สำคัญของเมืองเก่าพิจิตร เช่นกำแพงเมือง คูเมือง วัดมหาธาตุ ฯ





 

 

 

13.วัดโพธิ์ประทับช้าง 

เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2242 – 2244 ในสมัยสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (ขุนหลวงสรศักดิ์หรือพระพุทธเจ้าเสือ) พระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน ณ สถานที่ประสูติของพระองค์ ลักษณะของวัดมีพระวิหารสูงใหญ่ มีกำแหงล้อมรอบ 2 ชั้น เป็นศิลปะแบบอยุธยา ปัจจุบันได้รับการบูรณะซ่อมแซมจากกรมศิลปากร เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ชม





 

 

ภายในวัดมีหลวงพ่อโตหรือหลวงพ่อยิ้ม อายุกว่า 300 ปี งดงามมาก ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก เป็นพระประธานในอุโบสถ



 

 

   

14.บ้านเก่าเสาปั้นจั่น 

และสถานที่สุดท้ายของทริปนี้ คือการเข้าไปเยือนชุมชนวาณิชย์โบราณ ซึ่งอดีตเป็นท่าเรือส่งสินค้าของอำเภอตะพานหิน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่ ในตะพานหิน ลักษณะการออกแบบกึ่งพิพิธภัณฑ์ กึ่งแกลลอรี่ โดยแต่ละจุดในบ้านมีของเก่าที่หาชมได้ยากมาจัดแสดง บางชิ้นหลายคนยังไม่เคยเห็นอีกด้วย









และที่น่าสนใจคือ การใช้ศิลปะภาพเขียนเข้ามาเสริมเสน่ห์ให้กับสถานที่แห่งนี้ เติมเต็มด้วยบ้านเก่าโบราณ 







 

 

 

 

 

 

ร้านกาแฟโบราณโกยี ที่ปัจจุบันเป็นทายาทเข้ามาชงกาแฟหอมกรุ่นให้เราได้ชิมกัน

 



 

 

 

 
จะมีที่ออกจะน่าวิตกก็ตรงที่รูปภาพที่เพ้นท์อย่างสวยงาม บริเวณสะพานแหล่งบ้านเก่าเสาปั้นจั่น ไม่ว่าจะทำขึ้นเพื่อสวยงามเฉยๆ หรือเพื่อให้ถ่ายรูปก็ล้วนแล้วแต่ต้องเดินเที่ยวชมกันอย่างระมัดระวัง มัวแต่ทะเล่อทะล่าวิ่งถ่ายภาพไม่ได้ระวัง อาจจะเจอรถที่วิ่งกันขวักไขว่ชนเอาได้เช่นกัน บางทีว่าดูแล้วยังเจอรถมอเตอร์ไซด์สวนมาอีก 



บริเวณนี้น่าจะถูกใจนักท่องเที่ยวหลายคนหากท่านพี่มอเตอร์ไซด์และโชเฟอร์รถยนต์จะชะลอความเร็วหรือทำป้ายเตือนให้ชะลอกันสักหน่อยก็จะดีเลิศ โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยววัยเก๋าเป๋าหนักอย่างคณะนี้ ที่ควักจ่ายกระจายรายได้ลงชุมชนกันอย่างสนุกสนานทีเดียว 



... แต่อย่างไรก็ตาม บอกกับตัวเองแล้วว่า นอกจากจะเป็นสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว

... การเยือน เมืองนครสวรรค์และเมืองพิจิตรครั้งนี้ นอกจากจะทำหน้าที่สื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นหนึ่งในทีมงานของชมรมฯ และด้วยกรอบเวลาที่กำหนด ทำให้ยังไม่ได้ลงรายละเอียดในแต่ละแห่ง แต่เชื่อเหลือเกินว่า ข้อมูลที่นำมาเสนอในครั้งนี้ จะยังประโยชน์แก่หลายท่านได้ไม่มากก็น้อย

... เพลิดเพลินจำเริญใจกันเถิด...เหล่านักเดินทาง

... เพียงแค่ได้ออกท่องเที่ยว กำไรชีวิตก็บังเกิด... ว่าแล้วแพ็คกระเป๋ารอทริปถัดไปกันเลยคร๊า

 

นาริฐา จ้อยเอม เรื่อง/ภาพ

และขอขอบคุณภาพบางส่วนจากสมาชิกชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว ( ช.ส.ท.)


 
#นครสวรรค์ 
#พิจิตร 
#พาสาน #ศาลเจ้าพ่อแก้ว
#วัดสุขุมาราม 
#ตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก 
#บึงสีไฟ
#วัดดงกลาง #ตักบาตรทางน้ำคลองข้าวตอก #ศาลเจ้าแม่ทับทิมท่าฬ่อ #โรงเรียนยกเอ็ง #บ้านวังกรด #ตึกหลวงประเทืองคดี #พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ #หลวงพ่อเพชร #วัดโพธิ์ประทับช้าง #อุทยานเมืองเก่าพิจิตร #บ้านเก่าเสาปั้นจั่น