Update Newsการศึกษาสังคมสังคม/CSRไลฟ์สไตล์

3 เจ้าอาวาสวัดดัง ต้นแบบนำ “บวร” มาใช้ในการศึกษา พัฒนาโรงเรียนสู่ความเป็นเลิศ

เมื่อเร็วๆ นี้ ทางโครงการโรงเรียนดีมีทุกที่ ได้มาจัดกิจกรรมที่ รร.วัดวังก์วิเวการาม, รร.วัดทุ่งลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี และ รร.บ้านห้วยต้มชัยยะวงศาอุปถัมภ์ จ.ลำพูน ซึ่งทั้ง 3 โรงเรียนดังกล่าวได้รับการอุปถัมภ์ดูแลโดยวัด และได้ใช้หลักบวร คือบ้าน, วัด และโรงเรียน มาปรับใช้ในด้านการศึกษาจนประสบความสำเร็จ และเนื่องจากในวันที่ 3 มิถุนายน 2566 ก็จะเป็นวันวิสาขบูชา ทางโครงการฯ จึงขอนำแนวคิดจากท่านเจ้าอาวาสจากวัดดังกล่าวฯ มาเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางนำมาปรับใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับโรงเรียนต่างๆ ต่อไปในอนาคต

พระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาส วัดวังก์วิเวการาม และเจ้าคณะอำเภอสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ได้กล่าวว่า “รร.วัดวังก์วิเวการาม เกิดขึ้นโดยพระราชอุดมมงคล (หลวงพ่ออุตตมะ) ที่ต้องการให้เด็กในชุมชนทางฝั่งมอญซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นได้รับการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาเด็กเหล่านี้จะต้องเดินทางข้ามแม่น้ำเพื่อมาเรียนในฝั่งไทย เมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะมีอันตรายมาก จึงได้ประสานงานกับหน่วยงานราชการเพื่อขอก่อสร้างเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา โดยใช้ที่ดินและการก่อสร้างโดยทางวัดเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ส่วนทางศึกษาอำเภอเป็นผู้จัดหาครูมาสอนนักเรียน ซึ่งต่อมาได้เพิ่มการเรียนการสอนเป็นในระดับชั้น ม.1-3 ใช้ชื่อว่า รร.อุดมสิทธิศึกษา ด้านการเรียนการสอนในระยะแรกได้ส่งเสริมให้ใช้ภาษาไทย ต่อมาจึงได้มีการสอนภาษาถิ่น (มอญ) เพื่อให้เด็กๆ ไม่ลืมชาติพันธุ์และเห็นคุณค่าของตัวเอง โดยในทุกภาษานั้นจะมีปัญญาหรือเรื่องราวที่มีประโยชน์ซ่อนอยู่หากเราไม่ศึกษาสิ่งเหล่านี้ก็อาจจะสูญไปกับกาลเวลา นอกจากนี้ภาษาถิ่นยังสามารถใช้สื่อสารกับคนในชุมชน เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาในเรื่องต่างๆ ได้เป็นอย่างดี”

พระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาส วัดวังก์วิเวการาม, พระครูสิทธิกิจจานุวัตร เจ้าอาวาสวัดทุ่งลาดหญ้า และพระสมุห์สมคิด ติกฺขปญฺโญ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม (จากซ้ายไปขวา)
ด้าน พระครูสิทธิกิจจานุวัตร เจ้าอาวาสวัดทุ่งลาดหญ้า อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า “ในอดีตวัดคือจุดศูนย์กลางของความเข้มแข็งในชุมชน พระจะต้องมีภูมิธรรม คือต้องมีคุณธรรม ยึดมั่นในศีลสมาธิปัญญา เป็นศูนย์หลักของความศรัทธาเชื่อถือที่สังคมยอมรับ และมีภูมิรู้ต่างๆ เช่น บริบทของสังคม, จิตวิทยาในการเรียนรู้และบริหาร ซึ่งรวมในถึงด้านการศึกษา โดยพระกาญจนวัตรวิบูล(หลวงพ่อสอน) และพระมงคลสิทธิคุณ (หลวงพ่อลำใย) อดีตท่านเจ้าอาวาสได้บริจาคพื้นที่และเป็นผู้ก่อสร้าง รร.วัดทุ่งลาดหญ้า ซึ่งเป็นโรงเรียนวัดแห่งแรกใน จ.กาญจนบุรี 

ทั้งนี้เพราะเล็งเห็นคุณค่าของการศึกษาที่เป็นรากฐานที่สำคัญของชีวิต และช่วยยกตัวตนให้สังคมยอมรับ ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้พระและนักเรียนได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น และยังอุปถัมภ์ช่วยเหลือในสิ่งต่างๆ ที่สามารถทำได้ เมื่อเวลามีปัญหาอาตมาจะใช้หลักธรรมต่างๆ อาทิ อริยสัจ 4, สัมมาทิฐิ, จริต 6, ทาน ฯลฯ ในการแก้ไขปัญหา ด้านการเรียนการสอนมีการส่งเสริมให้ความรู้ทั้งในด้านวิชาการและคุณธรรมกับนักเรียน ภายใต้ความร่วมมือของครอบครัว 

ปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความยากจน, การยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่พื้นที่ชนบท, ค่านิยมของพ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกเรียนในโรงเรียนที่มีค่าใช้จ่ายสูง จึงอยากให้ทุกภาคส่วนหันมาสนใจในเรื่องการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนเป็นหลัก เพื่อที่เขาจะได้ช่วยเหลือตัวเองและประเทศชาติต่อไปในอนาคต”     

และสุดท้ายคือ พระสมุห์สมคิด ติกฺขปญฺโญ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จ.ลำพูน ได้กล่าวว่า “ทางวัดมีความสัมพันธ์กับ รร.บ้านห้วยต้มชัยยะวงศาอุปถัมภ์ จ.ลำพูน มาเป็นเวลาช้านาน เนื่องจากครูบาชัยยะวงศาพัฒนา หรือหลวงปู่ครูบาวงศ์ อดีตท่านเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างโรงเรียน ได้มีความประสงค์ให้นักเรียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ได้รับการศึกษา 

โดยได้สนับสนุนให้มีการสอนทั้งในโรงเรียนปริยัติธรรมและฆราวาส คำว่า “บวร” คือความร่วมมือของบ้านวัดโรงเรียน เมื่อทางโรงเรียนมีกิจกรรมต่างๆ ทางวัดฯ ก็จะให้ความร่วมมือสนับสนุน โดยการส่งพระภิกษุเดินทางไปให้ความรู้ กับนักเรียน ซึ่งนอกจากความรู้แล้วยังมีการสอนในเรื่องคุณธรรม ซึ่งจะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข”

เด็กนักเรียนชาวกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ได้รับการศึกษา ที่ รร.บ้านห้วยต้มชัยยะวงศาอุปถัมภ์

เด็กๆ ชาวปกาเกอะญอ อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

เด็กในชุมชนทางฝั่งมอญมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

เด็กๆ ได้รับการศึกษาที่ รร.วัดทุ่งลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี (1)

นักเรียนตั้งใจศึกษาที่ รร.วัดวังก์วิเวการาม

ศึกษาภาษาไทยควบคู่กับภาษาถิ่น
สำหรับโครงการโรงเรียนดีมีทุกที่ จัดขึ้นโดยมูลนิธิเอเชีย และเหล่าพันธมิตร มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระ ตุ้นให้เกิดพลังบวกในสังคม และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน โดยในปี 2566 จะนำเสนอในประเด็นเรื่องการอ่านออกเขียนได้ ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook : โรงเรียนดีมีทุกที่ หรือสอบถามที่โทรศัพท์ 062-7341267