กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ในบริบทสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย และวันคนพิการแห่งชาติ วันเสาร์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 เพื่อลดการพลัดตกหกล้ม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความพิการ และเสียชีวิตในผู้สูงอายุ
วันนี้ (13 พฤศจิกายน 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ มีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว จากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและความเสื่อมตามวัยของผู้สูงอายุทำให้มีปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะการพลัดตกหกล้ม ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของผู้ป่วยใน ทั้งยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุจราจร เสียชีวิตมากถึง 1,318 คน และยังทำให้เกิดการบาดเจ็บที่สำคัญ
ได้แก่ การบาดเจ็บที่ศีรษะ และกระดูกหัก โดยเฉพาะกระดูกสะโพกหัก มีมากกว่า 38,000 คนต่อปี ทำให้ความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันลดลง และร้อยละ 20 ของผู้ที่กระดูกสะโพกหักมีโอกาสเสียชีวิตภายใน 1 ปี ยังส่งผลให้เกิดความพิการ เป็นผู้สูงอายุติดเตียง ร้อยละ 10-30 ต้องพึ่งพาผู้อื่นในการดูแล ช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวัน และคุณภาพชีวิตลดลงจากความพิการ
ซึ่งสาเหตุของการพลัดตกหกล้มส่วนใหญ่เกิดจากการลื่น สะดุด หรือก้าวพลาดบนพื้นระดับเดียวกันมากถึงร้อยละ 67 และตกจากขั้นบันได ร้อยละ 5 จากการสำรวจพบว่า สถานที่หกล้มส่วนใหญ่ล้มนอกบ้าน ร้อยละ 60 ล้มในบ้านร้อยละ 40 บ้านผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มมากถึงร้อยละ 93 ผู้สูงอายุยังคงใช้ชีวิตประจำวันในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย โดยขึ้นลงบันไดทุกวันมากถึงร้อยละ 49 เดินบนพื้นบ้านที่ลื่นร้อยละ 31 ขณะที่มีการดัดแปลงบ้านให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายเพียงร้อยละ 25
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุสามารถป้องกันได้ โดยครอบครัวที่มีผู้สูงอายุควรประเมินความเสี่ยง จัดการสิ่งแวดล้อม และให้ผู้สูงวัยก้าวเดินมั่นคงด้วยการปฏิบัติ 9 ข้อ ดังนี้ 1.ออกกำลังกายแบบใช้แรงต้านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและการทรงตัว 2.หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น 3.ควรเปลี่ยนท่าช้าๆ ขณะลุกนั่งหรือยืน 4.ใช้อุปกรณ์ช่วยเดินในกรณีมีความบกพร่องในการเดินหรือทรงตัว 5.เลือกสวมใส่เสื้อผ้าและรองเท้าที่มีขนาดพอดี ใช้รองเท้าหุ้มส้น มีดอกยาง ไม่ลื่น
6.เข้ารับการประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มปีละ 1 ครั้ง ที่ รพ.สต. หรือหน่วยบริการสุขภาพใกล้บ้าน 7.ปรับบ้านให้เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน 8.ถ้าหกล้มต้องแจ้งญาติหรือผู้ดูแลให้ทราบทุกครั้ง และ 9. ญาติ ผู้ดูแล ควรเข้าไปดูแล เยี่ยมเยียนผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 กองป้องกันการบาดเจ็บ โทร. 0 2590 3955 Line “ป้องกันพลัดตกหกล้ม” @DIPGunlom (แอดไซน์ดีไอพีกันล้ม) หรือติดตามใน Facebook กองป้องกันการบาดเจ็บ
Post Views: 92