Update Newsสังคมสังคม/CSRสาธารณสุข

รามาฯ – กรุงเทพมหานคร MOU ส่งต่อองค์ความรู้ ต่อยอดการบริการสาธารณสุข ร่วมกัน

วันนี้ (26 เมษายน 2566 ) ณ ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชั้น 5 อาคารสิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี) กับ กรุงเทพมหานคร ขึ้น เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ทางการแพทย์ร่วมกัน พัฒนาต่อยอดระบบบริการสาธารณสุขในระดับพื้นที่ไปด้วยกันกับทางกรุงเทพมหานคร



 

 
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี) กับ กรุงเทพมหานคร ได้รับเกียรติจากผู้บริหารในการร่วมลงนามและเป็นสักขีพยาน ดังนี้

รองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล       

ดร. แพทย์หญิง เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร

นางสาวผุสดี พรหมายน ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา

รองคณบดีฝ่ายศูนย์ความเป็นเลิศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล      

ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความสำคัญในการยกระดับสุขภาพชุมชนและการให้บริการสาธารณสุขของประชาชนในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่การดูแลตนเอง ครอบครัวและชุมชน ไปจนถึงการดูแลในโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งตรงกับเป้าหมายการยกระดับที่สอดคล้องกับนโยบายของคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครในด้านสร้างสรรค์ดีและสุขภาพดี โดยเฉพาะ เรื่องชมรมผู้สูงอายุ สร้างสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพใจ (Active Aging) การขยายโครงการโรงพยาบาล 10,000 เตียง การเพิ่มจำนวน Excellent Center และยกระดับศูนย์เวชศาสตร์เขตเมือง การยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข เพิ่มการรักษา เพิ่มเวลา เพิ่มทรัพยากร การส่งเสริมกลไกภาคประชาชนสุขภาพดี ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ การรักษาและส่งตัวผู้ป่วยไร้รอยต่อ ด้วยการบูรณาการข้อมูล และพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรมให้ผู้ปฏิบัติงานสาธารณภัย

การสร้างความร่วมมือร่วมกันนี้ กรุงเทพมหานคร และ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จะดำเนินการร่วมกันในการจัดรูปแบบการเป็นพี่เลี้ยง การให้คำปรึกษา การส่งเสริมการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรในสังกัดกรุงเทพมหานคร การจัดการองค์ความรู้ ประสบการณ์ และทักษะที่จำเป็น รวมทั้ง การจัดการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริบาลผู้สูงอายุให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยมีประกาศนียบัตรการรับรองอาชีพหรือวิชาชีพ เพื่อสร้างอาชีพและยกระดับการบริการสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้นต่อไป