อุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต (PK park) โชว์จุดแข็งด้านไอซีที พัฒนาสองแหล่งเรียนรู้เชื่อมโยงระบบ “ห้องสมุดมีชีวิต” รองรับ Smart City
เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา สำหรับอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต หรือ พีเค พาร์ค (PK park) แหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ตามแนวคิด “ห้องสมุดมีชีวิต” จากความร่วมมือของ เทศบาลนครภูเก็ต ร่วมกับ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park หน่วยงานในสังกัดสำนักงานบริการและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ด้วยการพัฒนาแหล่งเรียนรู้สำคัญสองแห่งที่แตกต่างกันตามบริบทพื้นที่ของเทศบาลนครภูเก็ต เชื่อมโยงการทำงานและการบริหารจัดการให้เป็นรูปแบบของอุทยานการเรียนรู้ตามแนวคิดห้องสมุดมีชีวิต เพื่อส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ ทั้งด้านการอ่าน การคิด และการแสวงหาความรู้อย่างกว้างขวางให้กับเด็ก เยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อการนำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นเพื่อสิ่งใหม่หรือต่อยอดพัฒนาจากสิ่งประดิษฐ์พื้นฐาน รองรับกับเทคโนโลยี 4.0 รวมทั้งพัฒนาคนและสร้างคนรุ่นใหม่ เพื่อรองรับ Smart City ของจังหวัดภูเก็ตอย่างยั่งยืน “การพัฒนาอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต หรือ PK park ครั้งนี้ มาได้อย่างถูกที่ถูกเวลา โดยเฉพาะความคิดริเริ่มที่จะพัฒนาเมืองภูเก็ตไปสู่เมืองที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียม ปัจจัยสำคัญ คือ การพัฒนาคนในทุกช่วงวัย ให้มีความพร้อมและสามารถสนับสนุนการเจริญเติบโตของเมืองและของประเทศ ซึ่งการพัฒนาคนหรือทุนมนุษย์ให้มีความเข้มแข็ง จำเป็นต้องสร้างทัศนคติการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนไทยทุกคน มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการศึกษา ทักษะการทำงาน และการดำเนินชีวิต” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พลตำรวจโท วรศักดิ์ นพสิทธิพร กล่าวในพิธีเปิดงาน นายอธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หน่วยงานกลางมีหน้าที่บริหารจัดการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park กล่าวว่า การแบ่งปันและกระจายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยและสอดคล้องกับความสนใจให้กับเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ถือเป็นภารกิจสำคัญของ สอร. โดยจะดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบของอุทยานการเรียนรู้ หรือ ห้องสมุดมีชีวิต ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่ทำความร่วมมือกับเราแล้วจำนวน 34 แห่ง ใน 24 จังหวัด สำหรับอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต หรือ PK park นี้ สอร. ได้ทำบันทึกลงนามความร่วมมือกับเทศบาลนครภูเก็ต และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ตั้งแต่ปี 2557 จากนั้นได้มีการปรับปรุงพื้นที่อาคาร 2 แห่ง ให้เป็นรูปแบบของอุทยานการเรียนรู้ แห่งแรก ได้แก่ Life Long Learning Center ซึ่งพัฒนาจากพื้นที่อาคารห้องสมุดประชาชนเทศบาลนครภูเก็ต เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและประชาชนทั่วไป มีหนังสือและสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย และกิจกรรมสำหรับทุกช่วงวัย แห่งที่สอง ได้แก่ Creativity & Innovation Center ปรับปรุงจากพื้นที่อาคารศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ ICT ภูเก็ต เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนและคนรุ่นใหม่ มีหนังสือและสื่อการเรียนรู้ด้านไอที และกิจกรรมที่หลากหลาย รวมทั้งเป็นเวทีสำหรับเยาวชนในการแสดงออกด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม โดยเชื่อมโยงการทำงานและการบริหารจัดการให้เป็นรูปแบบของอุทยานการเรียนรู้ตามแนวคิดห้องสมุดมีชีวิต “PK park จึงเป็นอุทยานการเรียนรู้ที่มีความพิเศษ เพราะมีพื้นที่ให้บริการถึงสองแห่งที่เชื่อมโยงกัน แต่มีจุดเน้นที่แตกต่างกัน จึงรองรับประชาชนทุกช่วงวัย ส่งผลต่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืนของชาวภูเก็ต” ในส่วนความร่วมมือ สอร. นอกจากให้คำปรึกษาด้านกายภาพ การพัฒนาบุคลากร การให้คำปรึกษาด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ยังได้มอบ สื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ และมัลติมีเดียที่เป็นลิขสิทธิ์ของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ประกอบด้วย สื่อการเรียนรู้ชุด "ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน" ชุด "วัตถุเล่าเรื่อง" สื่อการเรียนรู้ในรูปแบบหนังสือเสียง และ "เกมสร้างสรรค์" รวมทั้งการให้บริการห้องสมุดสาธารณะออนไลน์ (TK Public Online Library) ที่มีหนังสือและสื่อจากทั่วโลกให้บริการผ่านแอพพลิเคฃั่น ดาวน์โหลดได้ฟรี ทั้งในระบบ iOS และ Android นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า เทศบาลนครภูเก็ตให้ความสำคัญกับการศึกษา และการมีแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย จึงเกิดความร่วมมือ “สร้างสรรค์และส่งเสริมแหล่งการเรียนรู้ชุมชน” ขึ้นภายใต้ชื่อ อุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต หรือ PK park ซึ่งได้พัฒนาจากห้องสมุดประชาชนและศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ ICT ภูเก็ต ตามบริบทของพื้นที่ของเทศบาลนครภูเก็ต สามารถให้บริการเชื่อมโยงระหว่างอุทยานการเรียนรู้ทั้งสองแห่งได้อีกด้วย อีกทั้งยังมีแหล่งการเรียนรู้ในบริเวณใกล้เคียงกันไม่น้อยกว่า 600 ไร่ ที่นอกจากเน้นการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ ยังมีการค้นคว้า ทดลอง และเล่นเชิงสร้างสรรค์ ในพื้นที่แหล่งเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย เช่น แหล่งเรียนรู้ป่าชายเลน สิ่งแวดล้อมและการกำจัดขยะ การส่งเสริมอาชีพประมงพื้นบ้าน ทั้งยังเป็นพื้นที่สันทนาการที่สามารถรองรับประชาชนทุกช่วงทุกวัย ส่งผลต่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืน “เรามุ่งให้ความรู้ด้านนวัตกรรม รวมทั้งการจัดกิจกรรมหลากหลายสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย เพื่อให้เริ่มต้นสร้างรากฐาน จากการรู้จักตัวเอง รู้จักตัวตน ผ่านการเรียน ค้นคว้า ทดลอง และการเล่นเชิงสร้างสรรค์ ด้วยกระบวนการ CBL (Creative based learning) ผ่านกิจกรรมของอุทยานการเรียนรู้ มีการจัดอบรม การจัดกิจกรรมตรงความสนใจของนักเรียน และต่อยอดกิจกรรมจากสถานศึกษา เช่น Lego และ หุ่นยนต์ รวมทั้งส่งเสริมให้บุลลากรด้านการศึกษามีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ประชาชนทั่วไปสามารถจัดกลุ่มมาเพื่อเลือกกิจกรรมหรือการอบรมได้ เช่น กิจกรรม ICT4U มีการนำเทคโนโลยีที่นำสมัยมาใช้ในการทำกิจกรรม และนำไปประยุกต์ใช้งานได้ เช่น การอบรมเรื่อง Internet of things, สมาร์ทโฟนเพื่อผู้สูงวัย ตลอดจนมีการจัดกิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่สู่ชุมชน เป็นต้น” นายวิโรจน์ ภู่ต้อง ผู้อำนวยศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ ICT ภูเก็ต และอาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า การพัฒนาระบบไอทีโดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตที่สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ จากสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) รวมทั้งภาคีเครือข่ายต่างๆ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างแหล่งเรียนรู้ที่มีความทันสมัยและประหยัดงบประมาณ ซึ่งจะทำให้เยาวชนและประชาชนในจังหวัดภูเก็ตสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่ทันสมัย เช่น Digital Content สื่อมัลติมีเดียและชุดนิทรรศการการเรียนรู้ต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าเยาวชนในจังหวัดภูเก็ตได้มีโอกาสเข้าถึงสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่นเดียวกับการเข้าถึง TK park ที่กรุงเทพมหานคร นอกจากนั้น การพัฒนาระบบไอทีร่วมกันยังสามารถใช้ประโยชน์ในการพัฒนาบุคลากรของศูนย์ฯ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมของเครือข่าย TK park ที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยในอนาคตด้วย “นอกจากห้องสมุดเทคโนโลยีในพื้นที่ชั้น 2 ซึ่งสนับสนุนโดย TK park แล้ว ภายใน Creativity & Innovation Center จะมีพื้นที่ Maker Space ให้เยาวชนได้เรียนรู้ ทดลองและสร้างสรรค์นวัตกรรมตามความสนใจของตนเอง ในพื้นที่ดังกล่าวเยาวชนรุ่นพี่จาก Phuket Maker Club จะเป็นต้นแบบและเป็นพี่เลี้ยงในการสร้างแรงบันดาลใจร่วมกับเจ้าหน้าที่จากอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ตให้กับเยาวชนรุ่นน้องๆ นอกนี้ ทางศูนย์ฯ ยังมีความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช./NATDA), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลภูเก็ต (DEPA Phuket), Biz Club Phuket, บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง (PKCD) และพลังงานจังหวัดภูเก็ต ในการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรมในเยาวชน” ทั้งนี้ อุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต (PK park) ประกอบด้วยอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต (PK park) Life Long Learning Center ซึ่งพัฒนาจากพื้นที่อาคารห้องสมุดประชาชนเทศบาลนครภูเก็ต ตั้งอยู่ที่ ถนนภูเก็ต ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต และอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต (PK park) Creativity & Innovation Center ที่ปรับปรุงจากพื้นที่อาคารศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ ICT ภูเก็ต ซึ่งอยู่ที่ ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต อุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต Lifelong Learning Center ใช้งบประมาณดำเนินงานและบริหารจัดการโดยเทศบาลนครภูเก็ต ในส่วนของอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต Creativity & Innovation Center อาคารศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ด้าน ICT ภูเก็ต ร่วมบริหารจัดการโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต (PK park) คือการสร้างพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะให้เกิดขึ้น เพื่อการสร้างและพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อรองรับการเป็น Smart City ของจังหวัดภูเก็ตต่อไป ทั้งนี้ขอเชิญน้องๆ เยาวชนและประชาชนทั่วไป มาร่วมสนุกกับการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ในพื้นที่สร้างสรรค์การเรียนรู้ที่ทันสมัยของอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต (PK park) ทั้งสองแห่งเปิดให้บริการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ นอกจากนี้ TK park สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park ได้เปิดตัวสื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่น 3 เล่ม กุ๋งกิ๋งเที่ยวภูเก็ต ภูเก็ตเปอรานากัน และปริศนาไข่มุกอันดามัน ซึ่งได้ร่วมมือกับนักเขียนและนักวิชาการท้องถิ่น เพื่อสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้ที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมซึ่งคนในท้องถิ่นเห็นอยู่ในชีวิตประจำวันจนชินตา มุ่งเสริมสร้างความรู้และความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นแก่เยาวชน พร้อมสอดแทรกเรื่องราวของคุณธรรมจริยธรรม โดยมีรูปแบบการนำเสนอที่ทันสมัย ดึงดูดใจ และเหมาะสำหรับการส่งเสริมการอ่านสำหรับเยาวชนในแต่ละช่วงวัย "กุ๋งกิ๋งเที่ยวภูเก็ต" เป็นนิทานร้อยกรองประกอบภาพสำหรับเด็กที่ดำเนินเรื่องผ่าน "หนูน้อยกุ๋งกิ๋ง" คุณพ่อคุณแม่ ที่ออกเดินทางไปเที่ยวชมสถานที่น่าสนใจในจังหวัดภูเก็ตพร้อมภาพประกอบสีสันสดใสและบทร้อยกรองท่องจำง่าย เหมาะสำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี กุ๋งกิ๋งสนุกสุขสันต์ เที่ยว "พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว" น่าตื่นตา รวมเรื่องราวชาวจีนตั้งถิ่นฐาน ทั้งวิถีชาวบ้าน วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ส่วน "ภูเก็ตเปอรานากัน" เป็นหนังสือบันทึกข้อมูลความรู้ท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ตในรูปแบบที่ชวนให้เด็กอยากรู้ อยากอ่าน โดยผู้เขียนได้รวบรวมสถานที่สำคัญและวัฒนธรรม "เปอรานากัน" ที่ผสมผสานกันระหว่างจีนและมลายู ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นำมาเล่าเรื่องผ่าน "ต้น" ที่อาสาพา "ลี่" ที่เดินทางมาจากปีนังท่องเที่ยวในเขตอำเภอเมืองภูเก็ต ซึ่งเล่มนี้ เหมาะสำหรับเด็กอายุ 7-9 ปี เล่มสุดท้าย "ปริศนาไข่มุกอันดามัน" เป็นนวนิยายวิทยาศาสตร์แฟนตาซี นำเสนอตัวละครจากต่างดาวเดินทางมาตามลายแทงปริศนา เพื่อตามหาไข่มุกอันดามัน เหมาะสำหรับเด็กอายุ 10-12 ปี เนื่องจากเด็กในวัยนี้เป็นวัยอยากรู้อยากเห็น ชอบทดลอง และค้นคว้าหาความรู้ หนังสือทั้ง 3 เล่มนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการผลิตสื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่น ซึ่ง TK park ได้จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสการเปิดอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต หรือ PK park แหล่งเรียนรู้แห่งใหม่สำหรับเด็ก เยาวชนและประชาชนในจังหวัดภูเก็ต โดยจัดทำเป็น 2 ภาษาคือ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพลิดเพลินกับการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นได้ที่อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพ อุทยานการเรียนรู้เครือข่าย และ TK Application สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-2645963-64 ต่อ ฝ่ายพัฒนาเครือข่าย สำนักงานอุทยานการเรียนรู้