ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากสภาพสังคมและเศรษฐกิจของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับมีการพัฒนาวิทยาการทางการแพทย์ที่ล้ำสมัยมาใช้เพื่อรักษาพยาบาล รวมถึงกระแสนิยมเรื่องการใส่ใจสุขภาพและการออกกำลังกายส่งผลให้โครงสร้างประชากรไทยในภาพรวมมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนขึ้น
โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2568 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้มีจำนวนผู้สูงอายุของไทยมีมากกว่า 14 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 72 ล้านคนทั้งประเทศ ส่งผลต่อตารางมรณะไทยที่ใช้ในการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยที่ผ่านมาจัดทำขึ้นโดยใช้สถิติการรับประกันภัยตั้งแต่ปี 2547 – 2551 มีความล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงตารางมรณะไทยให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
“สำนักงานคปภ. จึงได้รวบรวมสถิติการรับประกันชีวิตมาศึกษา วิเคราะห์เพื่อปรับปรุงตารางมรณะไทย รวมถึงได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจประกันภัยพร้อมกับประชุมหารือแนวทางการปรับปรุงร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และบริษัท Munich Re ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านสถิติ โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 จนสำเร็จในปีนี้ และเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ผมในฐานะนายทะเบียนได้ลงนามในคำสั่งนายทะเบียนที่ 57/2560 เรื่องให้ใช้ตารางมรณะไทยปี 2560 โดยตารางมรณะใหม่นี้มีผลบังคับใช้สำหรับอัตราเบี้ยประกันภัยของแบบประกันชีวิตที่ยื่นขอรับความเห็นชอบตั้งแต่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป”
โดยผลจากการปรับปรุงตารางมรณะไทยในครั้งนี้ทำให้ประชาชนสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตทั้งประเภทสามัญและประเภทอุตสาหกรรมถูกลง เนื่องจากอัตราเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวมีการคำนวณให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันอย่างแท้จริงและทำให้เบี้ยประกันภัยถูกลง โดยเมื่อทำการเปรียบเทียบอัตราเบี้ยประกันภัยที่คำนวณจากอัตรามรณะระหว่างตารางมรณะไทยปี 2560 กับตารางมรณะไทย ปี2551 ของเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2554 ในแต่ละแบบประกันภัยของผู้เอาประกันภัยอายุ 0-70 ปี โดยเฉลี่ยแบบถ่วง
น้ำหนักจากจำนวนกรมธรรม์ที่เข้าร่วมเสี่ยงภัยปี 2557 และกำหนดสมมติฐานความคุ้มครองอ้างอิงจากลักษณะความคุ้มครองที่มีโดยทั่วไปในธุรกิจประกันชีวิตใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 และอัตราค่าใช้จ่ายขั้นสูงสุดตามที่ประกาศนายทะเบียนกำหนดในการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัย มีผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงอัตราเบี้ยประกันภัย
โดยภาพรวมกรมธรรม์ประกันชีวิตประเภทสามัญแบบตลอดชีพ มีอัตราเบี้ยประกันชีวิตลดลงประมาณ 6% แบบสะสมทรัพย์ลดลงประมาณ 1% แบบชั่วระยะเวลาลดลงประมาณ 24% และแบบคุ้มครองสินเชื่อลดลงประมาณ 35% สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตประเภทอุตสาหกรรม แบบตลอดชีพลดลงประมาณ 9% แบบสะสมทรัพย์ลดลงประมาณ 2% และแบบชั่วระยะเวลาลดลงประมาณ 30% เป็นต้น
“ผมเชื่อมั่นว่าตารางมรณะไทยใหม่นี้สามารถสะท้อนภาวะสังคมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี โดยนอกจากจะทำให้บริษัทประกันภัยสามารถคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันชีวิตได้อย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์มากขึ้นแล้ว ยังจะทำให้ประชาชนสามารถประหยัดค่าเบี้ยประกันภัยได้สูงสุดถึง 35% อีกด้วย”เลขาธิการ คปภ. กล่าวในที่สุด
Post Views: 48