Update Newsสังคม

คปภ. ตัดเนื้อร้ายธุรกิจประกันภัย ล่าสุดเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว 15 ตัวแทน – นายหน้า



ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 ธุรกิจประกันภัยทั้งระบบมีตัวแทน/นายหน้าประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 532,697 ราย โดยแบ่งเป็นตัวแทนประกันชีวิต จำนวน 271,483 ราย ตัวแทนประกันวินาศภัย จำนวน 19,735 ราย นายหน้าประกันชีวิต จำนวน 109,303 ราย และนายหน้าประกันวินาศภัย จำนวน 132,176 ราย 

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคลากรที่มีมาตรฐานและคุณภาพที่ดี ตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่กระทำผิดกฎหมายสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนนั้นถือได้ว่ามีอัตราส่วนที่น้อยมาก ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานพิสูจน์ยืนยันแล้ว จึงได้ดำเนินการลงโทษอย่างเคร่งครัดด้วยการเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 (วันที่ 1 กรกฎาคม - 30 กันยายน) ตนในฐานะนายทะเบียนได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย รวม 15 ราย 

โดยอาศัยอำนาจตาม ข้อ 6 (4) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการประกาศ หรือโฆษณาการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต (วินาศภัย) พ.ศ. 2556 โดยในจำนวนนี้ประกอบด้วยตัวแทนประกันชีวิต จำนวน 13 ราย และนายหน้าประกันวินาศภัย จำนวน 2 ราย ซึ่งผู้ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตทั้ง 15 ราย จะไม่สามารถกระทำการเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัยหรือขอรับใบอนุญาตใหม่ได้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 

ส่วนสาเหตุของการกระทำความผิดของบุคคลทั้ง 15 ราย ที่นำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตในครั้งนี้เกิดขึ้นใน 2 ลักษณะ คือ ได้รับชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัย แต่มิได้นำเงินค่าเบี้ยประกันภัยส่งให้บริษัทประกันภัย และปลอมลายมือชื่อในใบรับมอบกรมธรรม์ เป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ 

“ที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งเกี่ยวกับคุณภาพของตัวแทน/นายหน้าประกันภัย ตั้งแต่กระบวนการก่อนการขาย การเสนอขายตลอดจนการให้บริการหลังการขาย อีกทั้งมีการอบรม การสอบ การขอต่ออายุเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัยอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชนผู้เอาประกันภัยไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ สำนักงาน คปภ. จึงมีความเข้มงวดและมีความเฉียบขาดในการดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาลงโทษอย่างเคร่งครัด จริงจัง และต่อเนื่อง

อย่างเช่นกรณีบริษัทแห่งหนึ่งที่ไม่มีใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย แต่ไปเสนอขายประกันภัยรถยนต์ของบริษัทประกันภัยหลายแห่งผ่านทางโทรศัพท์และเมื่อผู้เสียหายตกลงทำประกันภัยรถยนต์และชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยแล้ว ผู้เสียหายก็ไม่ได้รับกรมธรรม์ประกันภัย ทำให้เกิดความเสียหาย สำนักงาน คปภ.ได้ตรวจสอบติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและได้มอบหมายให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์และสายกฎหมาย และคดีนำประชาชนกว่า 30 คน ที่ได้รับความเสียหายเข้าแจ้งความต่อกองปราบปรามเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2560 เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด”

นอกจากนี้ กฎหมายในการกำกับดูแลตัวแทนนายหน้าประกันภัย จะมีความเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากได้มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันชีวิตและพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย ให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งมีบทกำหนดโทษทางอาญาทั้งจำคุกและปรับด้วย ดังนั้นต่อไปหากตัวแทนและนายหน้าประกันภัยกระทำผิด นอกจากจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว ถ้าการกระทำเข้าองค์ประกอบความผิดเรื่องการฉ้อฉลประกันภัยก็อาจถูกดำเนินคดีจนถึงขั้นจำคุกและปรับอีกด้วย  

และเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง จากการซื้อประกันภัยจากตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่มีคุณภาพ ประชาชนควรตรวจสอบว่าผู้เสนอขายประกันภัย เป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้อง รวมทั้งรายชื่อตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตในไตรมาสที่ 3 จำนวน 15 ราย โดยสามารถตรวจสอบสถานะตัวแทน/นายหน้าประกันภัย ได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. www.oic.or.th หรือสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186