เปิดผลงานวิจัย จุฬาฯ-มธ-มก.ย้ำ“แนวพระราชดำริ ร.9 เป็นรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน”
เปิดผลงานวิจัย 3 สถาบันการศึกษา จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ม.เกษตรฯ เจาะลึกงานพระราชดำริรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานแนวพระราชดำริในการจัดการครัวเรือน ชุมชน “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่” อันเป็นผลมาจากการทรงงานหนักและได้พระราชทานให้กับประชาชนคนไทยได้นำไปปรับใช้เพื่อยกระดับชีวิตที่ดีขึ้น โดย “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่” คือรากฐานสำคัญการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประยุกต์ใช้ได้แบบเห็นผลจริง จากชุมชนเล็กๆ พึ่งพาตนเองได้ เกิดความเข้มแข็ง สามารถพัฒนาต่อยอด เติบโต ขยายผล สู่การแข่งขันตามแนวเศรษฐกิจยุคใหม่ระดับโลก เมื่อไม่นานนี้ สามสถาบันการศึกษาหลัก ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานแถลงผลการวิจัยแนวทางขับเคลื่อนแนวพระราชดำริเพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้แก่ประชาชน ภายใต้ชื่องาน “ร่วมวิจัยถวายพระองค์” เพื่อสืบสานแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมี นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน ทั้งนี้ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยความสนับสนุนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร และมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้รวบรวมพระราชดำริ ตลอดจนลงพื้นที่ศึกษาสภาพการพัฒนาในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศเป็นเวลา 3 ปี จนพบพระอัจฉริยภาพจากการค้นพบแนวปฏิบัติในการนำเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ไปสู่การพัฒนาพื้นที่สู่ความยั่งยืนอย่างเป็นลำดับขั้นตอน 3 ขั้น ได้แก่ ครัวเรือนพึ่งตนเอง ชุมชมรวมกลุ่มพึ่งตนเองได้ และชุมชนออกสู่ภายนอก นอกจากนี้ ยังได้ถอดบทเรียนความสำเร็จเป็น“บันได 7 ขั้นสู่การรวมกลุ่มอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับสมาชิกชุมชนที่จะร่วมกันพัฒนาตนและพัฒนาชุมชนให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างสมดุลและต่อเนื่อง บันได 7 ขั้นสู่การรวมกลุ่มอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย (1) การประเมินความพร้อมของกลุ่ม (2) การสร้างความเข้าใจในสิทธิหน้าที่และประโยชน์ของสมาชิก (3) พัฒนาโมเดลธุรกิจและระบบการจัดการกลุ่มให้ทันสมัย (4) เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต (5) กระตุ้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกในทุกขั้นตอนหลักของกลุ่ม (6) ส่งเสริมการใช้ฐานข้อมูลและองค์ความรู้เพื่อประเมินผลและเพิ่มประสิทธิภาพ (7) สร้างทักษะการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานให้ตรงจุดสำคัญและต่อเนื่อง ด้าน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ไปศึกษาในบริบทชนพื้นเมือง กรณีชาวเลมอแกน จ.พังงา และชาวกะเหรี่ยงโผล่ว จ.กาญจนบุรี โดยกลุ่มชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงและชาวเลมอแกนได้หันไปสู่เศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาตลาดและระบบเงินตรา จากเดิมที่มีการใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียงได้แปรเปลี่ยนไปสู่การสร้างหนี้สินและการบริโภคแบบคนเมือง การวิจัยเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียงในบริบทของชนพื้นเมือง” จึงมุ่งออกแบบแนวทางฟื้นฟูและพัฒนาชาวเลมอแกนและกะเหรี่ยง สู่วิถีชุมชนพอเพียงพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน อาทิ การเรียนรู้ปัญหาที่เกิด การทำบัญชีครัวเรือน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และใช้กระบวนการกลุ่ม เพื่อเรียกคืนความสมดุลในการหาเลี้ยงชีพ การดูแลสิ่งแวดล้อม และวิถีพื้นเมือง ขณะที่ผลการวิจัยเรื่อง “จากสหกรณ์ สู่ทฤษฎีใหม่ผลงานวิจัยตามศาสตร์พระราชา” ของสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ก่อให้เกิด “ตัวแบบธุรกิจสหกรณ์และธุรกิจชุมชน” ที่สามารถสร้างพื้นที่เศรษฐกิจแนวใหม่ ซึ่งใส่ใจในการค้าที่เป็นธรรม เปิดให้เกษตรกรรายย่อยเข้ามามีส่วนร่วม และนำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ สามพรานโมเดลและคิชฌกูฏโมเดล จากการเผยแพร่ผลการศึกษาจาก 3 มหาวิทยาลัย ผู้วิจัยได้เสนอแนวทางต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในนำไปพัฒนา ขยายผล ประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชน ตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอุลยเดชพระราชทานไว้เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนไทยสืบไป.