ราชภัฎวไลยอลงกรณ์ฯ สุดเจ๋ง! คว้าแชมป์โลกการแข่งขัน “เวิลด์ โรบอต โอลิมปิเอด” ครั้งที่ 14 มหกรรมการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ระดับโลก ระหว่าง 10-12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่กรุง ซานโฮเซ่ ประเทศคอสตาริกา มีประเทศเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 60 ประเทศ มีการแข่งขันรวม 3 วัน เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ ในด้านการออกแบบและการสร้างหุ่นยนต์ รวมถึงการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ ใช้หุ่นยนต์จาก บริษัทเลโก้มาทำการแข่งขันกันในระดับประเทศและนานาชาติ โดยการแข่งขันครั้งนี้ เป็นการแข่งขันในระดับประถมและมัธยมศึกษา อุดมศึกษาและบุคคลทั่วไป
เมื่อวันที่ 15 พ.ย.เวลา 13.30 น. ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ...ผศ.ดร.เทิดศักดิ์ อินทโชติ นำทีมคณะนักศึกษา ทีม VARAYA-ALONGKORN จากมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จ.ปทุมธานี ได้แก่ นายอวิรุทธ์ แท่นสูงเนิน, นายอภินันท์ ศรีโสภา, นายณัฐพงษ์ เชื้อจิ๋ว เดินทางกลับถึงเมืองไทยด้วยสายการบิน คาเธ่ย์ แปซิฟิคเที่ยวบินที่ CX615 เวลา 12.15 น. หลังสร้างประวัติศาสตร์ คว้าแชมป์โลกการแข่งขัน “เวิลด์ โรบอต โอลิมปิเอด” ครั้งที่ 14 มหกรรมการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ระดับโลก ประเภททั่วไป รุ่นมหาวิทยาลัย ที่กรุง ซานโฮเซ่ ประเทศคอสตาริกาได้สำเร็จ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย
กติกาการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ ประจำปี 2560 (WRO : World Robot Olympiad 2017) ภายใต้หัวข้อ “Sustainabots : Robots for sustainability” (การพัฒนาอย่างยั่งยืน : หุ่นยนต์เพื่อความยั่งยืน) ประเภทของการแข่งขัน 4 ประเภท ได้แก่ 1. ประเภททั่วไป (Regular Category) รุ่นอายุไม่เกิน 12, 15, 19 ปี 2. ประเภททั่วไป ระดับมหาวิทยาลัย (Advanced Robotics Challenge) 3. ประเภทหุ่นยนต์เตะฟุตบอล (WRO Football) 4. ประเภทความคิดสร้างสรรค์ (Open Category) รุ่นอายุไม่เกิน12, 15, 19 ปี
ผลการแข่งขันปรากฏว่าทีม VARAYA-ALONGKORN จากมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จ.ปทุมธานี สามารถสร้างประวัติศาสตร์ คว้าแชมป์ ในประเภททั่วไป รุ่นมหาวิทยาลัยมาครองได้สำเร็จ โดยทีมมีผู้เข้าร่วมแข่งขันได้แก่ นายอวิรุทธ์ แท่นสูงเนิน, นายอภินันท์ ศรีโสภา, นายณัฐพงษ์ เชื้อจิ๋ว ควบคุมทีมโดย ผศ.ดร.เทิดศักดิ์ อินทโชติ
ขณะที่ อ.ดร.สุพจน์ ทรายแก้ว รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลับราชภัฎวไลยอลงกรณ์ฯ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยดีใจเป็นอย่างยิ่งและขอแสดงความยินดีกับผลการแข่งขันในครั้งนี้ เนื่องจากในแต่ละปีนั้น ได้ส่งนักศึกษาของคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ มาหลายครั้งแล้ว โดยจะมีทีมอาจารย์และนักศึกษาเข้าร่วมโครงการดังกล่าวและสามารถคว้ารางวัลมาได้หลายครั้ง ซึ่งมหาวิทยาลัยเป็นแชมป์ระดับประเทศไทย 4 ปี ซ้อน ตั้งแต่ปี 2557-2560 และปีนี้ทางมหาวิทยาลัยก็ได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติอีกครั้ง และสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศกลับมาได้เป็นความภาคภูมิใจต่อสถาบันและประเทศไทย มหาวิทยาลัยได้สนับสนุนด้านการเรียน การสอน การค้นคว้าและวิจัย ให้บุคลากรและนักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่แท้จริงจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
ขณะเดียวกันไทยยังได้รางวัล อันดับ 4 ประเภทหุ่นยนต์เตะฟุตบอล โดยทีม YB-BETA จากโรงเรียนโยธินบูรณะ (บุณย์ หาวารี, จิรภัทร จิรบวรพงศา, พัฒน์ งามเดชากิจ และ นายปรัชย์ ใจกว้าง(ผู้ควบคุมทีม)
สำหรับการแข่งขัน “เวิลด์ โรบอต โอลิมปิเอด” จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2004 โดยองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เสริมสร้างโอกาสการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ของนักเรียน นักศึกษาและผู้ที่สนใจ ผ่านกิจกรรมการแข่งขันควบคุมหุ่นยนต์ปฏิบัติการซึ่งโจทย์การแข่งขันจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี รวมทั้งอายุของผู้แข่งขันที่ถูกกำหนดในแต่ละรุ่น
ปัจจุบันการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ WRO มีประเทศสมาชิกทั่วโลกกว่า 40 ประเทศ แต่ละประเทศจะจัดการแข่งขันกายในประเทศเพื่อหาตัวแทนเข้าร่วมแข่งขันระดับนานาชาติ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี และในปี 2018 ประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง หลังเคยเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 2 เมื่อปี 2005 มาแล้ว
Post Views: 42