รมว.พม. ตรวจเยี่ยม สค. เร่งแก้ปัญหาความรุนแรงต่อสตรีและครอบครัว ย้ำจัดลำดับความเร่งด่วนพร้อมเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ SDGs
วันนี้ (6 ธ.ค. 2560) เวลา 15.00 น. นายณรงค์ คงคำ โฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ตรวจเยี่ยมกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) พร้อมมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านสตรีและครอบครัว โดยมี นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดี สค. เป็นผู้บรรยายสรุปบทบาทภารกิจในภาพรวม นอกจากนี้ ได้ตรวจเยี่ยมอาคารสถานที่ รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (ศปก.สค.) และห้องให้นมบุตร ตลอดจนพบปะพูดคุยกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ สค. เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน ณ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ภายในบริเวณสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ พลเอก อนันตพร กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง พม. มีภารกิจหลักเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพสตรี การส่งเสริมความเสมอภาคและความเท่าเทียมระหว่างเพศ การส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว การคุ้มครองพิทักษ์สิทธิสตรี ผู้แสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิดและบุคคลในครอบครัว การสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันครอบครัว การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว การตรวจสอบ การชดเชย และการเยียวยาเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพผู้ประสบปัญหาจากการค้าประเวณี ซึ่งมีคณะกรรมการระดับชาติที่มีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ และ รมว.พม. เป็นรองประธาน จำนวน 3 คณะ ได้แก่ 1) คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) 2) คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) และ 3) คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ (กยค.) นอกจากนี้ รมว.พม. เป็นประธานอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการด้านสตรีในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย อีกทั้งยังมีคณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งมีปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานกรรมการอีก 1 คณะ คือ คณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพชาติ พลเอก อนันตพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับ สค. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สอดรับกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ในยุทธศาสตร์เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ มีเป้าหมาย คือ สถาบันทางสังคมมีความเข้มแข็งและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา ชุมชน สื่อมวลชน และภาคเอกชน ภายใต้ตัวชี้วัดดัชนี ครอบครัวอบอุ่นอยู่ในระดับดีขึ้น และยุทธศาสตร์ การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ได้แก่ 1) สร้างระบบสวัสดิการสังคมที่สมบูรณ์ 2) ส่งเสริมกลุ่มเป้าหมาย ทุกกลุ่มให้มี การเรียนรู้ พัฒนาในทุกมิติและพึ่งพาตนเองได้ 3) ปลูกฝังจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม 4) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน ประชาชน และระหว่างประเทศ และ 5) สร้างระบบบริหารจัดการทางสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาสังคม พลเอก อนันตพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สค. มีอัตรากำลังในการขับเคลื่อนงานจำนวนทั้งสิ้น 724 คน โดยหน่วยงานในส่วนกลางมี 9 หน่วยงาน ได้แก่ 1) สายงานหลัก 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.1) กองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ 1.2) กองส่งเสริมสถาบันครอบครัว 1.3) กองคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ 1.4) ศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และ 1.5) ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก และ 2) สายงานสนับสนุน 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย 2.1) สำนักงานเลขานุการกรม 2.2) กองยุทธศาสตร์และแผนงาน 2.3) กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร และ 2.4) กลุ่มตรวจสอบภายใน อีกทั้ง ยังมีหน่วยงานที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค คือ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวอีก 8 แห่ง ซึ่ง สค. มีกฎหมายในความรับผิดชอบ จำนวน 4 พ.ร.บ. ได้แก่ (1) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 (2) พ.ร.บ. การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545 (3) พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 และ (4) พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 “สำหรับปี 2561 - 2564 ทาง สค. มีแผนงานขับเคลื่อนการดำเนินงานในประเด็นหลัก ดังนี้ การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพสตรีและครอบครัว การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยปี 2561 สค. ได้วางแผนการดำเนินงานภายใต้กรอบแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ในประเด็นการส่งเสริมสัมพันธภาพในครอบครัว การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กลไกครอบครัว (ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ทีมวิทยากรด้านครอบครัว) การขับเคลื่อนโยบายด้านการพัฒนาสถาบันครอบครัว การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี การพัฒนาสตรีให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ การเสริมสร้างการใช้ชีวิตที่มั่นคงของหญิงไทย การส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ และการพัฒนาทักษะอาชีพให้สตรีและครอบครัว และจากการฟังบรรยายสรุปของท่านอธิบดี สค. ก็ทำให้ทราบถึงเป้าหมายในการทำงานของ สค. ที่มีความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะ สค. ต้องดูแลสตรีทั้งที่ถูกทำร้าย และด้อยโอกาส ตลอดจนขับเคลื่อนงานครอบครัวให้เข้มแข็งอีกด้วย จึงให้นโยบาย สค. โดยให้จัดลำดับความเร่งด่วนของงานเพราะทรัพยากรของ สค. มีไม่มากนักและไม่เพียงพอ และขอให้ สค. มีการจัดทำข้อมูลต่าง ๆ เพื่อที่จะได้ใช้ประกอบการวางแผนที่ถูกต้อง แต่ตอนนี้ก็ถือว่า สค. สามารถทำงานได้ในเกณฑ์มาตรฐานแล้ว สามารถชี้แจงได้ ก็ขอให้พัฒนาต่อไปอีกตามที่ผมได้บอกไปแล้ว” พลเอก อนันตพร กล่าวในตอนท้าย