SACICT ปลุกเสน่ห์งานอาร์ต “ชวนเที่ยว เรียนรู้ สู่วิถีคนคราฟท์”
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เชิญชวนประชาชนทุกคน “ชวนเที่ยว เรียนรู้ สู่วิถีคนคราฟต์” ในงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย 2561 (Thailand Tourism Festival 2018) มุ่งสร้างการรับรู้และการยอมรับในภูมิปัญญาของงานศิลปหัตถกรรมไทย ผ่านการท่องเที่ยว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 21 มกราคม 2561 ที่สวนลุมพินี
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า SACICT เป็นหนึ่งหน่วยงานภายใต้กำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีบทบาทในการส่งเสริมให้ชุมชนหัตถกรรมได้มีการต่อยอดภูมิปัญญา สนับสนุนให้เกิดการสร้างสังคมแห่งความร่วมมือกันระหว่างคนในชุมชน และกับบุคคล/หน่วยงานนอกพื้นที่ และผลักดันให้เกิดความเชื่อมโยงทั้งเพื่อการค้าและการท่องเที่ยว โดยใช้ภูมิปัญญาด้านงานหัตถกรรมและเสน่ห์ของชุมชนเป็นทรัพยากรในการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความสุขร่วมกันของคนในชุมชน สู่ความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนของชุมชน
ในปี 2561 SACICT มีแนวทางในการผลักดันชุมชนหัตถกรรมให้เกิดความเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว โดยการสนับสนุนให้ชุมชนเป็นจุดหมายไปพร้อมๆ กับการท่องเที่ยว (Craft Destination) ที่นำเสนอคุณค่า และภูมิปัญญาของการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมภายในชุมชน เริ่มต้นจากการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลเที่ยวเมืองไทย 2561 (Thailand Tourism Festival 2018) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 21 มกราคม 2561 ณ สวนลุมพินี ภายใต้แนวคิด “สัมผัสวิถีไทย เติมความสุขใจสร้างรายได้ ใส่รอยยิ้ม”
SACICT จึงได้คัดเลือก 4 ชุมชนที่มีจุดเด่นอันเป็นอัตลักษณ์ และมีจุดขายที่แตกต่างกันเข้าไปร่วมจัดแสดงและจำหน่ายภายในงานฯ ภายใต้แนวคิด “ชวนเที่ยว เรียนรู้ สู่วิถีคนคราฟต์” (Travel & Learn หมายถึง Travel ออกไปเที่ยว ออกไปสัมผัสวิถีไทย เติมความสุขใจ ด้วยงานคราฟต์ และ Learn ออกไปเรียนรู้ ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง มี Moment of Silence แบบวิถีคนทำคราฟต์) ประกอบด้วย
ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มชุมชนบ้านหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ กลุ่มชุมชนหนองบัวแดง การทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ และเทคนิคการทอผ้าอันเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม ที่มีการทอผ้าที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ปลอดสารเคมีในทุกขั้นตอน ลักษณะเด่นของผ้าทอมือหนองบัวแดง คือ การสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าของคนในชุมชนและสืบทอดวิธีการทอและลวดลายลงบนผืนผ้าที่ย้อมจากวัสดุจากธรรมชาติ
โดยมี นางสาวอนัญญา เค้าโนนกอก ครูช่างศิลปหัตถกรรมประจำปี 2554 ได้รวมกลุ่มชาวบ้านหนองบัวแดงตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติโดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น สีครามที่มาจากต้นคราม สีเหลืองจากแก่นขนุน สีดำจากผลมะเกลือ สีแดงจากครั่ง และสีม่วงจากเปลือกมังคุด เป็นต้น และจุดสำคัญในการย่อมผ้าทอมือหนองบัวแดง คือ โคลน ทุกขั้นตอนใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น และมีขั้นตอนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ผ้าบาติก ลายโบราณ จ.กระบี่ เริ่มเข้ามาทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้รับอิทธิพลมาจากมาเลเซีย ซึ่งมาเลเซียเองก็ได้รับอิทธิพลมาจากอินโดนีเซียอีกทอดหนึ่ง คนไทยรู้จักผ้าบาติกในลักษณะของ “ผ้าพันหรือผ้าปาเต๊ะพัน” โดยเรียกตามวิธีนุ่ง คือ พันรอบตัว คำว่า “โสร่ง” ก็มาจากภาษาอินโดนีเซียเช่นเดียวกัน หมายถึง ผ้านุ่ง คนในท้องถิ่นภาคใต้ เรียกบาติกว่า “ผ้าปาเต๊ะ” หรือ “ผ้าบาเต๊ะ”
นายธนพล รักษาวงศ์ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2559 ผู้สืบทอดลวดลายผ้าบาติกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของภาคใต้ต่อกันมาหลายชั่วอายุคน จุดเด่นของผ้าบาติกโบราณใช้เทคนิคการพิมพ์ลายด้วยการสร้างบล็อกโลหะให้เกิดลวดลายต่างๆ
โดยการสร้างสรรค์ลวดลายมักได้แรงบันดาลใจจาก พืชพรรณธรรมชาติ สถานที่สำคัญและสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยปัจจุบันได้พัฒนางานผ้าบาติกจากเดิมที่เป็นผ้าผืนให้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อให้สามารถตอบสนองกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ดียิ่งขึ้น โดยยังคงการออกแบบลาย และทำบล็อกโลหะด้วยตนเองตามแบบภูมิปัญญาในนามกลุ่ม “มูราบาติก”
กลุ่มอนุรักษ์ผีตาโขน จ.เลย ประเพณีแห่ผีตาโขนจัดเป็นส่วนหนึ่งในงานบุญประเพณีใหญ่ หรือที่เรียกว่า “งานบุญหลวง” หรือ “บุญผะเหวด” ซึ่งตรงกับเดือน 7 มีขึ้นที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และจัดเป็นการละเล่นที่ถือเป็นประเพณีทุกปี เกี่ยวโยงกับงานบุญพระเวสหรือเทศน์ มหาชาติประจำปีกับพระธาตุศรีสองรัก กระบวนแห่ผีตาโขนโดยแต่งกายคล้าย ผีและปีศาจใส่หน้ากากขนาดใหญ่ที่เป็นเอกลักษณ์มีลวดลายที่งดงามแตกต่างกันไป นายอภิชาติ คำเกษม ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2556 และเป็นประธานกลุ่มอนุรักษ์ผีตาโขน จังหวัดเลย ได้รักษาประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมของจังหวัดเลยไว้ ด้วยการใช้ความชำนาญในงานเซรามิคพัฒนาหน้ากากผีตาโขนในรูปแบบต่างๆ เช่น โคมไฟ แก้วเซรามิค ทำให้ประเพณีโบราณกลมกลืนไปกับการใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว
กลุ่มรุ่งอรุณของเล่นโบราณ จ.กรุงเทพมหานคร “ของเล่นโบราณ” เป็นของเล่นที่เกิดจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษปู่ย่าตายาย สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความสุข ความสนุกสนาน ตลอดจน ฝึกพัฒนาการ สร้างเสริมลักษณะนิสัยของเด็กจากของเล่นแต่ละชนิด อีกทั้งยังมีส่วนช่วยสานสัมพันธ์กันในกลุ่มเพื่อนๆ หรือระหว่างลูกหลาน กับพ่อแม่ปู่ย่าตายายได้เป็นอย่างดี
นายทวีทรัพย์ นามขจรโรจน์ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2560 และผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ของเล่นโบราณ “รุ่งอรุณ” ในเขตทวีวัฒนา จ.กรุงเทพมหานคร ผู้ที่เคยอยู่ในวัยที่เคยสัมผัสภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งอยู่ในของเล่นโบราณหลากหลายชนิดมาก่อน
จึงเป็นที่มาให้เกิดการอนุรักษ์งานของเล่นโบราณเอาไว้ เพื่อส่งต่อเรื่องราวให้ลูกหลานได้รู้จักต่อไปในอนาคต ก่อนที่จะสูญหายไปจากสังคมไทย
ในโอกาสนี้ จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมชื่นชม ให้กำลังใจ และสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมไทยจากผู้ผลิต บริเวณพื้นที่ SACICT หรือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ที่งาน เทศกาลเที่ยวเมืองไทย 2561 (Thailand Tourism Festival 2018) ระหว่างวันที่ 17 – 21 มกราคม 2561 ณ สวนลุมพินี สอบถามโทร. 1289 หรือ facebook.com/sacict