Update Newsสังคม

สตรี จ.สุราษฎร์ฯ นับหมื่นร่วมใจโชว์พลังรณรงค์ยุติความรุนแรง “วันสตรีสากล” ปี 61

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2561 เวลา 15.00 น. ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ให้เกียรติเป็นประธานเปิดกิจกรรมการเดินรณรงค์ “รวมพลังสตรี ร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และ ความรุนแรงในครอบครัว” ปี 2561 ระหว่างเวลา 15.00 - 16.50 น. จากบริเวณสนามกีฬา มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี - หอประชุมวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย ผู้นำกลุ่ม/องค์กรสตรีและสมาชิกในจังหวัด เยาวสตรี นักศึกษา หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนในจังหวัด และประชาชนทั่วไป รวมทั้งสิ้น 10,000 คน

   

นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาสำคัญของสังคมที่ต้องเร่งดำเนินการทางด้านการป้องกันแก้ไขและช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาอย่างจริงจังโดยหน่วยงานของทางราชการและองค์กรเอกชนรวมทั้งต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือของคนในสังคมเนื่องจากเป็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนมีรากเหง้ามาจากค่านิยมเจตคติของสังคมที่กำหนดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวจากครอบครัวขยายมาเป็นครอบครัวเดียวมีมากขึ้น

  

   

    



ดังนั้นการแก้ปัญหาต่างๆต้องประเชิญด้วยตนเอง ไม่มีผู้เข้ามาไกล่เกลี่ยปัญหา ขาดการควบคุมอารมณ์และทักษะในการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ ส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ในสภาพสังคมปัจจุบันหลายครอบครัวเผชิญกับความเครียดจากงานปัญหาการเงิน ปัญหาระหว่างสามีภรรยาความหึงหวง หรือพ่อแม่อยู่ในระหว่างอาการมึนเมา เป็นสาเหตุหนึ่งที่ใช้ความรุนแรงหรือทำร้ายทารุณลูก ความเชื่อผิดๆ ว่าเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ทำให้ผู้หญิงที่ประสบปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่จะปกปิด หรืออับอาย เลยคิดว่าคนอื่นไม่สามารถช่วยได้ทำให้ปัญหายิ่งลุกลามรุนแรงขึ้น และด้วยความเชื่อเช่นนี้ ทำให้คนรอบด้านไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องหรือช่วยเหลือ

นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า การเดินขบวนรณรงค์ “รวมพลังสตรี ร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และ ความรุนแรงในครอบครัว” ปี 2561 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันนี้ เป็นความร่วมมือกันของหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง คือ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด คณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี และสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้งเครือข่ายด้านสตรีและครอบครัว 

สำหรับความร่วมมือในวันนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะได้ร่วมกันดูแลสอดส่องให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงและแนะนำหน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง เพื่อสร้างความตระหนักแก่สังคมให้มีส่วนร่วมในการยุติความรุนแรงต่อเด็กสตรีและความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น

“การจะทำให้ครอบครัวมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ต้องรับฟังซึ่งกันและกัน ตลอดจนใช้คำพูดในเชิงบวกอย่างสร้างสรรค์ ด้วย 10 คำดีที่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว ประกอบด้วย 1) เหนื่อยไหม 2) รักนะ 3) มีอะไรให้ช่วยไหม 4) คำชมเชย (เก่ง/ดี/เยี่ยม) 5) ไม่เป็นไรน่ะ 6) สู้ๆ นะ 7) ทำได้อยู่แล้ว 8) คิดถึงนะ 9) ขอบคุณนะ และ 10) ขอโทษนะ เพื่อรวมพลังสร้างสรรค์ให้สังคมเข้มแข็ง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป” นายเลิศปัญญากล่าวในตอนท้าย