“กรมการท่องเที่ยว” เตือนหน้าเทศกาล ตรวจสอบทัวร์ก่อนซื้อ ป้องกลลวงทัวร์เถื่อน
กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แนะนำวิธีเลือกซื้อรายการนำเที่ยวและตรวจสอบข้อมูลบริษัทนำเที่ยวที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมชี้แจงมาตรการการปกป้อง และคุ้มครองนักท่องเที่ยว กรณีที่ได้รับบริการไม่เป็นไปตามข้อตกลงหรือไม่ตรงกับรายการนำเที่ยวที่นักท่องเที่ยวซื้อ การท่องเที่ยวของไทยในช่วงเทศกาล หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วันหยุดยาว อาทิเช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ เป็นต้น เป็นช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวชาวไทยได้ใช้โอกาสในช่วงวันหยุด ออกไปท่องเที่ยวพักผ่อนในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต หรือชลบุรี เป็นต้น รวมถึงในพื้นที่ที่มีการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ เมื่อปริมาณความต้องการเดินทางท่องเที่ยวมีมาก จึงเป็นเหตุให้มีผู้แอบอ้างเป็นผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวเสนอขายทัวร์ให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเสนอขายทัวร์แบบราคาโปรโมชั่น มีราคาถูกกว่าปกติ เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวซื้อทัวร์ เมื่อนักท่องเที่ยวซื้อทัวร์แล้ว มักจะไม่ได้ท่องเที่ยวตามแพ็กเกจที่ผู้แอบอ้างเสนอขาย เป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวได้รับความเสียหายจากปัญหาการหลอกขายทัวร์ นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวอันจะส่งผลต่อรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้ที่สำคัญอันดับหนึ่งของประเทศ จึงได้ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ในการกวดขันจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่มีใบอนุญาตหรือใช้มัคคุเทศก์ซึ่งไม่มีใบอนุญาต เพื่อเป็นการป้องปรามผู้คิดกระทำความผิด และได้มีแนวทาง ในการปรับปรุงกฎหมายเรื่องการเพิ่มวงเงินหลักประกันการประกอบธุรกิจนำเที่ยว เพื่อเป็นการประกันความเสียหายให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งการเพิ่มวงเงินหลักประกันเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวมีความยับยั้งชั่งใจในการคิดจะกระทำการใดๆ ให้เกิดความเสียหายแก่นักท่องเที่ยว เนื่องจากวงเงินหลักประกันมีมูลค่าสูงมากขึ้น อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวเพิ่มเติมว่า นักท่องเที่ยวสามารถตรวจสอบข้อมูลบริษัทที่ขายทัวร์ ว่ามีใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยให้นำชื่อบริษัททัวร์ และเลขที่ใบอนุญาต มาตรวจสอบได้ที่ http://www.tourism.go.th หรือ http://122.155.9.61:8087/mobiletourguide/info/license/tour ในการตรวจสอบต้องดูเลขที่ วัน เดือน ปีที่ออกใบอนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งจะมีอายุ 2 ปี ใบอนุญาตตรงประเภทตามรายการนำเที่ยว และไม่มีประวัติเคยถูกร้องเรียน หรือสามารถโทรสอบถามได้ที่ Call Center 0 2401 1111 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบริษัททัวร์ อาทิ สถานที่ตั้ง เว็บไซต์ที่เป็นทางการ การจดทะเบียนผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เบอร์โทรศัพท์ E-Mail ที่สามารถติดต่อได้ สำหรับราคาแพ็กเกจทัวร์ที่ซื้อต้องสมเหตุสมผล โดยนักท่องเที่ยวสามารถเปรียบเทียบกับโปรแกรมทัวร์ในเส้นทางนำเที่ยวเดียวกัน จากหลายๆ บริษัทที่เสนอขายทางอินเทอร์เน็ต ตรวจสอบความชัดเจนของรายละเอียดในแพ็กเกจทัวร์ ตรวจสอบเรื่องการชำระเงินว่าต้องชำระเงินผ่านบัญชีธนาคารที่น่าเชื่อถือ โดยนักท่องเที่ยวอาจนำ Code จองตั๋วเครื่องบินไปตรวจสอบกับสายการบินที่จะเดินทาง หรือตรวจสอบการจองที่พักกับโรงแรมที่พักที่ระบุในรายการนำเที่ยว เป็นต้น ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต้องเก็บใบเสร็จรับเงินค่าซื้อทัวร์และรายการนำเที่ยวที่ตกลงกับบริษัททัวร์ไว้ เพื่อเป็นหลักฐานในกรณีที่มีเหตุต้องร้องเรียนบริษัททัวร์ หากนักท่องเที่ยวซื้อแพ็กเกจทัวร์จากบริษัททัวร์หรือผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่จดทะเบียนมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวถูกต้อง นักท่องเที่ยวจะได้รับการเยียวยาความเสียหายจากกองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยว ในวงเงินไม่เกินหลักประกันที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวนั้นๆ วางหลักประกันไว้ ส่วนกรณีนักท่องเที่ยวซื้อแพ็กเกจทัวร์ จากบริษัททัวร์ที่ไม่มีใบอนุญาต หรือซื้อบริการอื่นที่ไม่ใช่รายการนำเที่ยว เช่น บริการที่พัก บริการรถเช่า เป็นต้น กรณีเหล่านี้ไม่เข้าข่ายขอบเขตอำนาจของกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ นักท่องเที่ยวจะต้องร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าว สำหรับรูปแบบการหลอกขายทัวร์มีหลากหลายรูปแบบ เช่น การขายทัวร์ในรูปแบบแพ็กเกจทัวร์ที่ต่ำกว่าความเป็นจริง หรือราคาต่ำกว่าทุน นักท่องเที่ยวอาจไม่ได้เดินทางจริงเมื่อถึงเวลาเดินทาง ไม่สามารถติดตามตัวผู้หลอกขายทัวร์ได้ หรือได้เดินทางแต่โปรแกรมการเดินทางไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในรายการนำเที่ยว หรือถูกบังคับให้เข้าร้านขายสินค้าที่ระลึกมากกว่าการพาไปยังแหล่งท่องเที่ยว การใช้มัคคุเทศก์เถื่อน ทำให้ไม่สามารถบรรยายให้ความรู้หรือให้บริการนำเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวได้ตามที่นักท่องเที่ยวคาดหวัง การหลอกขายทัวร์ในรูปแบบ One Day Trip ซึ่งขายในราคาถูกและหลอกนักท่องเที่ยวซื้อได้ง่าย แต่เมื่อถึงกำหนดเวลานัดกลับไม่มีรถมารับแต่อย่างใด หรือการหลอกลวงขายทัวร์ที่แฝงมาในรูปแบบของธุรกิจแชร์ลูกโซ่ หรือธุรกิจขายตรง กรมการท่องเที่ยว จึงอยากให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติป้องกันและรู้เท่าทันกลลวงของบริษัททัวร์เหล่านี้ โดยสังเกตและตรวจสอบข้อมูลของบริษัททัวร์ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อทัวร์ เพื่อการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบ เต็มอิ่ม สุขใจ และคุ้มค่าสมราคา