กระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ กำชับสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ ร่วมบูรณาการทุกหน่วยงานในพื้นที่ประเมินสถานการณ์เฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าและดำเนินมาตรการเร่งรัดในพื้นที่ที่มีรายงานโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อการป้องกันควบคุมโรค โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยมีผู้เสียชีวิตแล้ว เน้นการควบคุมโรคอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องเพื่อไม่ให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มในพื้นที่เดิม พร้อมเผย 3 ประเด็นความเข้าใจผิดถึงสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า
วันนี้ (22 มีนาคม 2561) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันนี้ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข) ให้ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทุกแห่ง เพื่อติดตามการดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งมาตรการเร่งรัดและการรายงานผลเพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบาย
จากที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยสุขภาพประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ในการประชุมครั้งนี้ จึงได้กำชับสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ ให้ร่วมบูรณาการกับทุกหน่วยงานในพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและในสัตว์อย่างใกล้ชิด ให้ดำเนินมาตรการให้ครบถ้วนในพื้นที่อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยมีผู้เสียชีวิตแล้ว เพื่อไม่ให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มในพื้นที่เดิม ซึ่งจากการติดตามการดำเนินการของพื้นที่ที่มีผู้เสียชีวิตล่าสุด (ประจวบคีรีขันธ์ และบุรีรัมย์) พบว่ามีการดำเนินมาตรการอย่างเข้มแข็งโดยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในพื้นที่ ผ่านศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ระดับจังหวัด และทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยปฏิบัติงานและอสม.ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดดำเนินมาตรการเร่งรัดในช่วงนี้ โดยการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ ค้นหาผู้ถูกสุนัข แมว กัดหรือข่วน โดยให้ อสม.เคาะประตูทุกบ้านทุกสัปดาห์ เน้นย้ำให้เฝ้าระวังและดูแลในกลุ่มเด็ก เพราะหลังถูกสุนัข-แมวกัดหรือข่วน อาจกลัวโดนดุจึงไม่กล้าบอก โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม ขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครองดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากเด็กๆ อาจไปเล่นกับสุนัขหรือแมวได้ สำหรับจังหวัดที่พบผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า ขอให้ดำเนินการจัดตั้ง EOC เพื่อสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรค ส่วนจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วย ให้กำชับทีมตระหนักรู้สถานการณ์ (SAT) ให้เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และให้ทีมสื่อสารความเสี่ยงประสานประชาสัมพันธ์จังหวัดเร่งสื่อสารสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจในการป้องกันความเสี่ยงและการปฏิบัติตนเมื่อถูกสุนัข-แมว กัด ข่วนหรือเลียบาดแผล ให้กับประชาชนในพื้นที่
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า จากการทบทวนรายงานสอบสวนโรคของผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าย้อนหลัง 3 ปี เกี่ยวกับสาเหตุที่ไม่ได้เข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าภายหลังสัมผัสโรค พบว่า 3 อันดับแรกที่เป็นความเข้าใจผิด คือ 1)ร้อยละ 70 ไม่ได้ตระหนักถึงโรคพิษสุนัขบ้าหรือคิดว่าเป็นสัตว์เลี้ยงของตนเองแม้ว่าจะตายหรือหายไปก็ไม่น่าจะเป็นอะไร 2)ร้อยละ 11 ลูกสุนัขและแมวเด็กๆ ไม่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าหรอก และ 3)ร้อยละ 7 การฉีดวัคซีนในสุนัขและแมวสามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ 100% โดยไม่สนใจว่าสัตว์นั้นจะตายหรือหายไป ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
กรมควบคุมโรค จึงขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน อสม. และภาคประชาชน ร่วมกันสร้างความตระหนักและความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ ว่าหากถูกสุนัขและแมว กัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล แม้เพียงเล็กน้อยก็อย่าได้ชะล่าใจ รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง ประมาณ 10 นาที หลังล้างแผลใส่ยาฆ่าเชื้อโพวิโดนไอโอดีน (เบตาดีน) เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อพิจารณาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ถ้ารับการฉีดวัคซีนแล้วให้ไปฉีดวัคซีนให้ครบตามนัดทุกครั้ง หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
Post Views: 46