OTOP Junior ณ เขมราฐ
เมื่อไม่กี่วันมานี้ กองบก. BTRIPNEWS มีโอกาสได้ร่วมเดินทางไปบันทึกภาพ การทำงาน... การเรียนรู้... การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์มาสร้างรายได้ของเยาวชนตัวน้อย กับงานจักสานฝีมือติดอันดับจนได้รับการต่อยอดเป็น ตัวแทน OTOP Junior หรือ โครงการ นักธุรกิจน้อย ของจังหวัดอุบลราชธานี จากการเข้าร่วมงานการเปิดตัว หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยววิถีแม่น้ำโขง ที่ผ่านมา ภายในห้องเล็กๆ ใต้อาคารของโรงเรียนบ้านหนองนกทา ตำบลหนองนกทา อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ฐานการผลิต ผลิตภัณฑ์จักสานจากพลาสติกเส้น เราพบน้องๆ กำลังนั่งสาน มีแบบลายร่างด้วยกระดาษขนาด A 4 หลายต่อหลายแผ่นวางตรงหน้า อีกด้านหนึ่งของห้อง ถูกจัดเป็นชั้นวางโชว์สินค้า อาทิ กระเป๋า ที่รองจาน มองดูเผินๆ จากผลิตภัณฑ์อาจจะไม่ต่างจากงานจักสานทั่วไป หากแต่ได้มีการพัฒนาตัวงานให้มีลวดลายจักสานที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนตัวเอง ด้วยการนำลายผ้ามัดหมี่มาประยุกต์เป็นลายจักสาน การคิดค้นลวดลายใหม่ๆ ถือเป็นที่มาของการเตรียมจดลิขสิทธิ์ลายจักสานนับสิบลาย โดยมี นาง ลาภิศ โคตรวันทา ผอ. รร.บ้านหนองนกทา เป็นผู้ริเริ่มขึ้น ด้วยความชอบก่อนจะถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ได้ร่วมกันสานฝัน ปัจจุบันสินค้าได้รับการพัฒนา จนได้รับความสนใจ มีลูกเรือสายการบินระดับชาติมารับไปจำหน่ายยังกรุงเทพมหานคร นอกจากนั้นยังนำออกโชว์และจำหน่ายในงานถนนคนเดินอำเภอเขมราฐ ได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก ผอ.ลาภิศ เล่าให้ฟังว่า "ได้ริเริ่มมาเมื่อปีที่แล้ว โดยนำเด็ก ๆ เข้ามาเรียนเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เกิดสังคมและชุมชนที่เข้มแข็ง ได้มีการจัดหลักสูตร “การสานผลิตภัณฑ์จากเส้นพลาสติก” โดยการประยุกต์จากการสานไม้ไผ่มาเป็นเส้นพลาสติกเพื่อให้ผลิตภัณฑ์สวยงามคงทน โดยปัจจุบันมีนักเรียนที่อยู่ในหลักสูตรตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ม. 3 นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดหลักสูตร โดยการร่วมมือกับสถาบันต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงหลักสูตรต่อเนื่องสู่ระดับอุดมศึกษา เช่นวิทยาลัยเทคนิคเขมราฐเพื่อขอสนับสนุนด้านบุคลากรและสื่อวัสดุอุปกรณ์การสอนต่าง ๆ รวมถึง ในเรื่องของการเรียนด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ การทำแพคเกจจิ้งต่าง ๆ เพื่อเตรียมอาชีวศึกษา ( Pre-Vocational Education” โดยมีการออกแบบลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะ จากการนำลายผ้ามัดหมี่มาประยุกต์ จนได้ลายที่เตรียมจดลิขสิทธิ์แล้ว 11 ลาย อาทิ ลายหัวใจสีชมพู ลายเถาวัลย์มงคล ลายเถาวัลย์ ลายสน ลายดอกทิวลิป เป็นต้น ปัจจุบัน ได้มีการต่อยอดจากการ ผลิต ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้ออกมาหลายรูปแบบ ทั้งกระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ ที่รองจาน และเตรียมที่จะดีไซน์สินค้าใหม่ๆออกมาสู่ตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีครู ธิดารัตน์ รอดภัย ได้นำผลิตภัณฑ์จากฝีมือน้องๆ เผยแพร่ผ่านออนไลน์เพื่อเป็นช่องทางจำหน่ายอีกด้วย โดยมีนายวิรัช แฝงเพ็ชร นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ ได้ให้คำแนะนำตั้งแต่กระบวนการผลิต การออกแบบ การต่อยอดสินค้า และการจำหน่ายอีกด้วย