จะเห็นได้ว่าในระยะนี้มักมีข่าวเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับผู้ที่ถูก “พิษศัลยกรรมความงาม” เล่นงานที่ทำให้เสียโฉม เสียทรัพย์ และบางรายถึงกับเสี่ยงหรือเสียชีวิตไปเลยก็มี
โดยสิ่งที่น่ากลัวมากกว่า “ความผิดพลาดจากน้ำมือของแพทย์” ซึ่งแพทยสภาสามารถกำหนดหรือชี้ผิดถูกแพทย์คนนั้น ๆ ได้ หากมีผู้เสียหายร้องเรียนเข้ามา นั่นก็คือ “ผู้ที่ไม่ใช่แพทย์” หรือ “ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริง”
เมื่อใด “อุปสงค์” หรือความต้องการของคนเรามีมากขึ้นจะด้วยเหตุผลใด ๆก็ตาม โดยเฉพาะการสร้างกระแสในสื่อ “โซเชียลมิเดีย” ซึ่งเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงมวลมหาประชาชนได้อย่างง่ายและรวดเร็วยิ่งกว่าสื่อใด ๆ ในโลกนี้ ผู้เสพสื่อประเภทนี้อาจหลงเชื่อและตัดสินใจในการซื้อสินค้าหรือใช้บริการอย่างเฉียบพลัน ตามที่ผู้สร้างสินค้าและบริการต่าง ๆ มาสนองตอบ หรือที่เรียกว่า “อุปทาน”
โดยเฉพาะประเภท “รีวิว” ที่บางครั้งก็ไม่ได้หมายความว่าผู้รีวิวจะใช้สินค้าและบริการเสมอไป เพราะอาจถูกว่าจ้างมาในฐานะที่เป็น อาทิ เน็ตไอดอล,บุคคลผู้มีชื่อเสียง เช่น ศิลปิน ดารา หรือแม้แต่สื่อมวลชนเองก็ตาม จะเป็นเครื่องมือที่เร่งเร้าทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเร็วขึ้น
จึงเป็นช่องทางที่เปิดโอกาส (เลว) ให้บรรดา “มิจฉาชีพ” “อาชญากร” “โจร” “สิบแปดมงกุฎ” “ผู้ร้าย” ฯลฯ แล้วแต่ใครจะเรียกขาน ที่แน่ ๆ รวม ๆแล้วก็คือ “คนชั่ว (ช้าสามานย์)” นั่นเอง ได้เข้ามาหากินกับผู้บริโภค ซึ่งเป็น “เหยื่ออันโอชะ” ทั้งหลาย
ศิลปิน ดารา บุคคลที่มีชื่อเสียง ตลอดจนสื่อ มักตกเป็นเครื่องมือของ “คนชั่ว” หรือ “กลุ่มคนชั่ว” ดังที่เป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง เพียงเพราะเห็นแค่เปลือกและผลประโยชน์ของคนชั่วที่สร้างขึ้นมาหลอกเป็นหน้าม่านอย่างสวยหรูดูมีคุณธรรม แต่หารู้ไม่ว่าหลังม่านคือ ยมบาลที่มาพร้อมกับ “ขุมนรก” กับดักอันเจ็บปวดดีๆ นี่เอง
จากแหล่งข่าวที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงธุรกิจศัลยกรรมความงาม กล่าวว่า สำหรับ “ธุรกิจสถานเสริมความงาม” ที่มักมาในรูปแบบของ “คลินิก” และ โรงพยาบาล” ต่าง ๆนานา ไม่ได้เป็น “สวรรค์” ของคนขี้เหร่หรือผู้ที่อยากสวยหล่อ” ทุกแห่งเสมอไป จากการเก็บข้อมูลจากแหล่งที่ทำงานทางด้านนี้ พบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีมากมาย อาทิ คนทั่วไปเป็นเจ้าของไม่ได้เข้าใจในอารมณ์เรื่องการทำศัลยกรรมความงาม มักจะทะเลาะกับแพทย์อยู่เสมอ
เช่นเดียวกับศัลยแพทย์ที่เป็นเจ้าธุรกิจสถานเสริมความงามก็ไม่ได้มีจิตวิญญาณของการนักธุรกิจสิงอยู่ ก็มักจะมีปัญหากับทีมบริหารซึ่งเป็นคนทั่วไป ต่อมาคือ ปัญหาการนำวัตถุดิบ โดยเฉพาะยาหรือสารที่นำมาใช้เสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน ที่มีส่วนผสมของสารอันตราย หรือ เอาของเหลือมาใช้กับคนไข้
ปัญหาของเซลล์แมนหรือเอเย่นต์ที่ดิวคนไข้มาใช้บริการที่คลินิกนั่น ๆ หากเมื่อใด ผลประโยชน์ระหว่าง “เซลล์แมน” กับ “หมอ” ซึ่งเป็นเจ้าของคลินิก ไม่ลงตัว เซลล์แมนคนนั้นก็จะยกคนไข้ทั้งกระบิดไปทำศัลยกรรมที่อื่นที่เสมอผลประโยชน์ที่ดีกว่า
ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีความสัมพันธ์ที่ดี เป็นช่องว่างระหว่างหมอกับคนไข้ กลายเป็นว่า คนไข้สนิทกับเซลล์แมน หมอพูดไม่เชื่อ แต่เซลล์แมนพูดเชื่อ พร้อมไว้วางใจ เพราะนั่นอาจหมายถึง การได้สิทธิพิเศษ การได้สินค้าและบริการในราคาย่อมเยาแบบมิตรภาพ การได้สิ่งที่ลด แลก แจก แถม ทั้งนี้เซลล์แมนบางรายจิกคนไข้ไปไม่พอ ยังใส่สีตีไข่สารพัดกับคลินิกเดิมที่ตนเองทำงานอีกด้วย
แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวด้วยว่า ที่น่ากลัวและอันตรายคือ บุคคลที่ไม่ใช่แพทย์หรือไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านความสวยความงาม สถาปนาหรือมโนตัวเองเป็นหมอหรือแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ให้คำปรึกษาคนไข้หรือลูกค้าไปเสียเอง ทั้ง ๆ ที่ตนเองไม่ได้เรียนหรือมีองค์ความรู้แต่อย่างใดเลย อย่างเช่น กรณีพนักงานไปวางสลบคนไข้แทนวิสัญญีแพทย์ เพราะคิดว่าตนเองเห็นหมอทำได้ ก็คิดว่าน่าจะทำได้ สุดท้ายคนไข้หลังผ่าตัดไม่ฟื้น
ที่ทำงานกันเป็นแก๊งค์หลอกลูกค้า หรือที่เรียกว่า “ขบวนการอาชญากรศัลยกรรมความงาม” ทั้งเคสในประเทศและต่างประเทศ อันนี้น่ากลัวยิ่งกว่า เพราะเมื่อลูกค้าตกเป็นเหยื่อ ก็จะพาไปทำศัลยกรรมแบบ “ยถากรรม” กับบุคคลที่ไม่มีความรู้จริงในด้านการศัลยกรรมความงาม จึงทำให้เกิดหน้าเละ จมูกพัง นมเน่า จิ๋มเฟะ อย่างที่เป็นข่าว แล้วเมื่อคิดจะฟ้องหรือร้องเรียนก็มีทีมทนายมาขู่ฟ้องกลับ โทษฐานหมิ่นประมาท เรียกร้องค่าเสียหายแตะหลักล้าน เป็นอาทิ หรือมีรายการโยนขี้ไปให้หมอ
แล้วเมื่อจ่ายเงินไม่ครบที่ส่วนมากจะอยู่ในระดับครึ่งล้านหรือหลักล้าน อาจจบชีวิตได้ เพราะจะมีกลุ่มคนทวงหนี้ระดับมือปืนฆ่าคนมาข่มขู่ แต่เมื่อเป็นข่าวปูดขึ้นมาก็จะมีขาใหญ่(มาก)ที่หนุนอยู่ข้าวงหลังวิ่งเคลียร์ฝ่ายต่าง ๆให้จบข่าวเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น สุดท้ายจากฝันที่จะสร้าง “สวรรค์” กลายเป็น “นรก” บนใบหน้าหรือตามอวัยวะต่าง ๆ ทำให้คนไข้ไม่กล้าดูตัวเอง บางรายหนักเข้าถึงกับเครียดแล้วฆ่าตัวตายก็มี เป็นตราบาปไปตลอดชีวิต
ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้สร้างความเสียหายให้กับวงการแพทย์ โดยแพทยสภาไม่สามารถให้คุณให้โทษได้ เพราะไม่ใช่ "แพทย์" แพทยสภามีหน้าที่ควบคุมการประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ถูกต้องตามจริยธรรม แห่งวิชาชีพเวชกรรม เท่านั้น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือ ตำรวจน้ำดีเท่านั้นจะเป็นที่พึ่งสุดท้าย
ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริโภคศัลยกรรมความงามทั้งหลายจะลุกขึ้นมาสะกดคำว่า “รู้เท่าทัน” ไม่ว่าจะเป็น “รู้เท่าทันสื่อ” “รู้เท่าทันคน” ให้เป็นและขึ้นใจ ต่อไปนี้เราจะได้ไม่หลงเชื่อเนื้อหาที่ได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟัง แต่สามารถคิด วิเคราะห์ สงสัย และรู้จักตั้งคำถามว่า สิ่งนั้นจริงหรือไม่จริง ใครเป็นคนให้ข้อมูลเขาต้องการสื่ออะไร หรือมีจุดมุ่งหมายแอบแฝงหรือไม่ !?!
Post Views: 28