ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลพายุโซนร้อนโพดุล และพายุโซนร้อนคาจิกิ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ ส่งผลกระทบต่อพืชสวน ไร่ นาข้าว และทรัพย์สินของประชาชนได้รับความเสียหาย สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง จึงออกมาตรการต่างๆเพื่อเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย
มาตรการแรก ได้มีหนังสือถึงสมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย เพื่อขอความร่วมมือแจ้งให้บริษัทประกันวินาศภัย และบริษัทประกันชีวิตให้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเร่งรัดดำเนินการพิจารณาสินไหมทดแทนเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบและเยียวยาความเสียหายอย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการใช้ระบบประกันภัยในการช่วยเหลือประชาชนแบบบูรณาการให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ได้กำหนดมาตรการที่สอง โดยได้สั่งการให้ สำนักงาน คปภ. ภาค/จังหวัดทั่วประเทศ บูรณาการกับสำนักงานจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อตรวจสอบความเสียหาย เร่งดูแลให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัยแก่ผู้ประสบอุทกภัยอย่างเต็มที่ อีกทั้งตนในฐานะนายทะเบียนยังได้ออกคำสั่งนายทะเบียนเพื่อเร่งบูรณาการเยียวยาผู้ประสบภัยในพื้นที่ประสบอุทกภัยจากพายุโซนร้อนโพดุล และพายุโซนร้อนคาจิกิ ตามรายงานสถานการณ์สาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย อีก 5 มาตรการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 ออกคำสั่งขยายระยะเวลาการผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันชีวิตให้กับผู้เอาประกันภัย ในกรณีที่ครบกำหนดระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยในระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 โดยขยายระยะเวลาผ่อนผันออกไปอีก 60 วันนับแต่วันครบระยะเวลาผ่อนผันเดิม
มาตรการที่ 2 ออกคำสั่งยกเว้นดอกเบี้ยและงดการตรวจสุขภาพในกรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตที่สิ้นผลบังคับในระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 หากผู้เอาประกันภัยขอต่ออายุหรือกลับคืนสู่สถานะเดิมของกรมธรรม์ประกันชีวิต ภายใน 6 เดือน
มาตรการที่ 3 ออกคำสั่งให้ในกรณีนำมูลค่าเวนคืนมาชำระเบี้ยประกันภัยโดยอัตโนมัติ ในระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 อาจได้รับยกเว้นดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน
ส่วนมาตรการที่ 4 คือออกคำสั่งให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย สำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินวงเงินคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยในทุกกรณี สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มที่อยู่อาศัย ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัยสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินเอาไว้ใน 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย
(1) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ให้พิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใต้ความคุ้มครองภัยธรรมชาติจากภัยลมพายุ และภัยน้ำท่วม เป็นจำนวน 20,000 บาท แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่คงเหลืออยู่ เว้นแต่สามารถพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงมีจำนวนที่น้อยกว่าจำนวนเงินดังกล่าว
(2) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยแบบประหยัดสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ให้พิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใต้ความคุ้มครองภัยธรรมชาติจากภัยลมพายุ และภัยน้ำท่วม เป็นจำนวน 10,000 บาท แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่คงเหลืออยู่ เว้นแต่สามารถพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงมีจำนวนที่น้อยกว่าจำนวนเงินดังกล่าว
(3) สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่มีความคุ้มครองเดียวกันกับข้อ (1) และข้อ (2) ให้พิจารณาหลักเกณฑ์เทียบเคียงกัน
หากภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยตามข้อ (1), (2) และ (3) มีการแนบเอกสารแนบท้ายขยายความคุ้มครองสำหรับภัยลมพายุและภัยน้ำท่วมเพิ่มเติมจากความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยมาตรฐาน ให้พิจารณาความเสียหายส่วนเกินกว่าความคุ้มครองมาตรฐานโดยพิจารณาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้าย
และมาตรการที่ 5 ออกคำสั่งอนุญาตให้ตัวแทนประกันชีวิต ตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต นายหน้าประกันวินาศภัย ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยที่ใบอนุญาตตัวแทน นายหน้าประกันภัยสิ้นอายุตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2562 สามารถยื่นขอขยายระยะเวลาพร้อมขอต่ออายุใบอนุญาตได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เหตุการณ์ที่จำเป็นสืบเนื่องจากเหตุอุทกภัยดังกล่าวนั้นได้สิ้นสุดลง ทั้งนี้ไม่เกินวันที่ 31 ตุลาคม 2562
“ผมขอย้ำว่าทั้ง 7 มาตรการที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นมาตรการที่ สำนักงาน คปภ. ดำเนินการขับเคลื่อนการช่วยเหลือด้านประกันภัยแก่ผู้ประสบอุทกภัยจากพายุโซนร้อนโพดุล และพายุโซนร้อนคาจิกิ ตามรายงานสถานการณ์ สาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และดำเนินการบังคับใช้ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยเท่านั้น ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้เป็นการถอดบทเรียนและนำเอาโมเดลที่ใช้ได้ผลจากกรณีเกิดอุทกภัยจากพายุปลาบึกในพื้นที่ภาคใต้เมื่อต้นปี 2562 มาปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยสำนักงาน คปภ. จะใช้ทุกสรรพกำลังและเครือข่ายภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่” เลขาธิการ คปภ.กล่าวในตอนท้าย
Post Views: 49