โอกาสที่ขาดหาย ฝันสลายของ “เด็กชายขอบ”
เมื่อพูดถึงปัญหา “คนชายขอบ” คนส่วนใหญ่เข้าใจดีว่า เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ขาดโอกาสหรือเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ จนเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า กลุ่มเยาวชนในสังคมชายขอบ ไม่เพียงแต่ขาดสิทธิต่างๆ เท่านั้น หากยังมีปัญหาชีวิตมากมาย ทั้งเด็กรักร่วมเพศในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา และเด็กที่ตั้งท้องก่อนวัยอันควร
ด้วยปัญหาเหล่านี้นำมาสู่การจัดงาน ThaiHealth Youth Solutions ครั้งที่ 1 ตอน “พลังของเด็กชายขอบ” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อเปิดพื้นที่สื่อสารให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สะท้อนปัญหา ส่งเสียงไปยังสาธารณะ ผ่านเวทีเสวนาหัวข้อ “ฝันใหญ่..ไปด้วยกัน” โดยเลือกจากกลุ่มเยาวชน ชายขอบที่มีการทำงานต่อเนื่อง 6 กลุ่ม เพื่อสร้างความร่วมมือให้เกิดการผลักดันนโยบายใหม่ๆ สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มเยาวชนเปราะบางในอนาคต
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนชายขอบ มีภาวะเปราะบาง ทั้งทางสถานะสังคม และเศรษฐกิจ มีโอกาสที่จะเผชิญปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาวะได้มากกว่าเด็กที่มีความพร้อม สสส. เห็นว่า เยาวชนชายขอบของสังคมเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพซ่อนอยู่ในตัว มีความเข้มแข็งอยู่ภายใน เพียงแต่ต้องให้โอกาส และช่วยกันสนับสนุนเสริมสร้างพลังบวกให้พวกเขาได้ลงมือทำ และแสดงศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่
ทว่า เสียงสะท้อนจากเด็กชายขอบเวทีนี้มีเรื่องราวปัญหามากมายถูกซ่อนเร้น ที่พวกเขาต้องการสื่อให้สังคมรับรู้ เพื่อขอโอกาสและพลังบวก เติมเต็มความสุขที่ขาดหายของเด็กชายขอบ
พัดลี โตะเดร์ ตัวแทนจากกลุ่มลูกเหรียง เปิดใจว่า ตนเป็นเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเด็กกำพร้าและมีพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน หรือบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ช่วงที่เรียนอยู่ชั้นระดับมัธยมในโรงเรียนแห่งหนึ่งจังหวัดยะลา ถูกครูทำโทษด้วยการโกนหัวแล้วให้วิ่งรอบสนามโรงเรียน ทุกคนมองเห็นตนเป็นสิ่งแปลกประหลาด เป็นคนบาป ทำให้ตนรู้สึกน้อยใจสังคมอย่างมากที่ไม่ยอมรับในสิ่งที่ตนเป็น
“ทุกวันนี้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้ก็ขาดโอกาสอยู่แล้ว ยังต้องมาเผชิญหน้ากับสังคมที่ปิดกั้นการยอมรับเพศสภาพอันหลากหลาย จึงอยากให้กระทรวงศึกษาธิการเข้ามาปกป้องและคุ้มครองสิทธิคนกลุ่มนี้ เพราะถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ” สิ่งที่ พัดลี ต้องการจากภาครัฐ
เช่นเดียวกับเยาวชน กลุ่มรักษ์ไทยเพาเวอร์ทีน ซึ่งทำงานกับเด็กเยาวชนที่ติดเชื้อ เอชไอวี โดย พิมพ์พิศา จินดาอินทร์ อายุ 22 ปี สะท้อนปัญหาตลอดการทำงานในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาว่า ได้พบเด็กติดเชื้อเอชไอวีที่ไม่ยอมไปรับยาต้าน สาเหตุผลพบว่า ไม่ได้อยากตาย แต่เกิดอาการเบื่อยาที่กินมาตั้งแต่เด็ก แถมยังถูกสังคมตีตรา หรือถูกเลือกปฏิบัติ จึงไม่มั่นใจที่จะไปรับยามากิน รวมทั้งเกิดความระแวงว่าจะมีคนแอบมองแล้วประณาม และไม่มีเป้าหมายในการใช้ชีวิต
“เด็กเหล่านี้ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่แท้ๆ อาจพึ่งพาญาติ หรืออาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์ เป็นประเด็นปัญหาที่ทับซ้อนกันอยู่ ซึ่งกลุ่มรักษ์ไทยเพาเวอร์ทีน จะทำงานติดตามเพื่อนที่ออกจากระบบการรักษาหรือหยุดยา โดยดึงให้เข้ามาทำกิจกรรมกลุ่ม เน้นการสร้างเสริมกำลังใจเพื่อให้รู้ว่าสังคมยังมีพื้นที่ปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ทำงานกับผู้ดูแลเด็กเพื่อเสริมความมั่นใจ” พิมพ์พิศา กล่าว
และอีกปัญหาหนึ่งที่พบในกลุ่มเยาวชนพื้นที่ชายแดนภาคใต้ก็ คือ การออกจากระบบการศึกษาก่อนกำหนด ซึ่ง มูฮาหมัด อุมะ ตัวแทนกลุ่มพิราบขาว สะท้อนเกี่ยวกับเรื่องนี้จากการทำงานร่วมกับเยาวชนที่ออกจากโรงเรียนว่า เด็กบางคนมีพฤติกรรมเกเร คนทั่วไปอาจมองเป็นปัญหาสังคม แต่ทางกลุ่มเห็นว่า เขามีความกล้าและเด็ดเดี่ยว ซึ่งมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้และฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ที่เรียกว่า “ปันจักสีลัต” สิ่งนี้จะเป็นการสร้างความภูมิใจให้แก่ชีวิตของเขาได้
ด้านตัวแทนจากกลุ่มสหทัยมูลนิธิ รัตนา เจ๊ะมะหมัด คุณแม่วัยใส อายุ 20 ปี ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟัง ว่า ช่วงตั้งท้องต้องเผชิญกับคำดูถูกเหยียดหยามต่างๆ นานา ซึ่งได้สหทัยมูลนิธิให้คำแนะนำเรื่องการวางแผนอนาคต ทั้งเรื่องการเรียน ครอบครัว การเงิน การเลี้ยงลูก ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งยังมีพ่อแม่วัยรุ่นที่เข้ากลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแต่ละคนจะต้องเผชิญปัญหาเดียวกัน คือ สังคมไม่ให้โอกาส และพ่อแม่รับไม่ได้
ไม่ต่างจาก ณัฐพงษ์ ราหุรักษ์ อายุ 22 ปี ตัวแทนเยาวชนจากกลุ่มมูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย ที่เล่าว่าตนเองเคยต้องคดี แม้จะออกมาจากสถานพินิจแล้ว แต่ยังต้องเผชิญกับสายตาของคนสังคมที่ตีตรา
เรื่องเล่าของตัวแทนกลุ่มเยาวชนที่สังคมอาจหลงลืมไป บางคนพลาดไป แต่อยากเป็น คนดี คนดีในที่นี่ คือ การเข้าไปช่วยเหลือคนที่กำลังเผชิญปัญหา เพียงขอโอกาส และเติมเต็มกำลังใจที่ขาดหาย ให้เด็กชายขอบมีที่ยืน และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมอย่างมีความสุข