“สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.การอุดมศึกษาฯ ชง ครม. ช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด - 19 วันที่ 10 มี.ค.นี้ พร้อมผุดหลักสูตรสารพัดอาชีพพัฒนาทักษะ สร้างรายได้ คนเข้ารับการอบรมได้วันละ 300 บาท จบแล้วได้ทุนสนับสนุนประกอบธุรกิจใหม่อีก 3 - 5 หมื่นต่อราย เริ่ม เม.ย.นี้
เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 10 มี.ค.นี้ อว.จะเสนอมาตรการการช่วยเหลือคนได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์โควิด - 19 ต่อที่ประชุม โดยให้มีการพัฒนาทักษะคนที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น มัคคุเทศก์ พนักงานโรงแรม เป็นต้น กับ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมและประชาชนทั่วไป
โดยจะมีหลักสูตรให้ผู้ได้รับผลกระทบได้เข้าอบรมและพัฒนาทักษะ สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จะมีหลักสูตร ภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ การจัดการท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การใช้สื่อดิจิตัลเพื่อการท่องเที่ยว การจัดการประชุมสมัยใหม่ เทคนิคการเล่าเรื่อง เป็นต้น
ส่วนกลุ่มบุคคลทั่วไป จะมีหลักสูตร การตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย การเป็นผู้ค้าในการให้บริการพื้นที่หรือสื่อกลาง ผ่านเว็บไซต์แอปพลิเคชัน เพื่อเป็นช่องทางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ การบริการหลังการค้าผ่านออนไลน์ การทำธุรกิจสร้างสรรค์ การทำอาหารสุขภาพ การออกแบบกราฟิกดีไซน์เพื่อธุรกิจ การแปรรูปสิ่งเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นต้น
รมว.อว.กล่าวต่อว่า แต่ละหลักสูตรจะใช้เวลาหลักสูตรละ 7 วันต่อเนื่อง 18 รุ่นหรือ 18 สัปดาห์ต่อเนื่อง เริ่ม เดือน เม.ย.เป็นต้นไป โดยมีหน่วยฝึกอบรมใช้มหาวิทยาลัย 50 แห่ง โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัราชภัฏทั่วประเทศ ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับเงินสนับสนุนการเรียนวันละ 300 บาท โดยทุกการอบรมจะจัดที่โรงแรมเพื่อช่วยเหลือธุรกิจโรงแรม และทุกการอบรม จะมีการศึกษาดูงานเพื่อช่วยเหลือธุรกิจรถเช้า ที่สำคัญ ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้ารับการอบรม จะได้รับทุนสนับสนุนการประกอบธุรกิจใหม่ ประมาณ 30,000 - 50,000 บาทต่อรายและเข้ารับการบ่มเพาะกับมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ อว.ยังเตรียมแผนสนับสนุนการรับมือสถานการณ์ โควิด-19 ในภาวะฉุกเฉินด้วย โดยมอบให้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เป็นแม่งานในการจัดประชุมเพื่อพัฒนาระบบการติดตาม และ การตรวจสอบ เพื่อติดตามคนที่เดินทางเข้าประเทศทั้งหมดตั้งแต่ผ่าน ตม.โดยการให้ผู้ที่เดินทางทั้งหมดติดตั้งแอปพลิเคชั่นเพื่อให้สามารถทราบ ตำแหน่ง และรายงานผลแบบทันทีบนแผนที่ โดย สวทช. จะสนับสนุนระบบประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ การใช้ระบบการแพทย์และสุขภาพทางไกล เพื่อช่วยในคัดกรอง วินิจฉัยเบื้องต้น การจัดทำระบบแสดงตำแหน่งและจัดส่งสิ่งจำเป็นทางการแพทย์ การพัฒนาแผนที่แสดงตำแหน่งที่จำหน่ายหน้ากากเพื่อให้ประชาชนทราบและสามารถ ซื้อได้ และแผนที่แสดงตำแหน่งของห้องน้ำที่มีความปลอดภัย รวมถึงวิธีการกระจายหน้ากากอนามัย เป็นต้น
Post Views: 37