Update Newsสังคมสังคม/CSR

สวีเดนปักหมุดให้ไทยเป็น HUB อุตสาหกรรมอวกาศในเอเชียแปซิฟิก

24 มีนาคม 2564 เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำประเทศไทย (H.E. Mr. Jon Åström Gröndahl, Swedish Ambassador to Thailand) และผู้บริหารบริษัท SSC Space Thailand พร้อมคณะเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมหารือเรื่องความร่วมมือด้านอวกาศร่วมกัน โดยมี คุณทรงศัก สายเชื้อ ที่ปรึกษาGISTDA นายตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการ GISTDA และ ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด ปฏิบัติงานรองผู้อำนวยการ GISTDA พร้อมคณะให้การต้อนรับ ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ (Space Krenovation Park : SKP) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

นายตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดีที่ทางเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมชมกิจการอวกาศของประเทศไทย ซึ่ง SKP เป็นส่วนหนึ่งของเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ EECd ที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนประเภทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ จะได้มีโอกาสในการได้รับสิทธิประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภายในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการทางด้านอวกาศ

 โดยในพื้นที่ SKP มีการดำเนินโครงการลงทุนสถานีดาวเทียมร่วมกับบริษัท SSC ซึ่งถือเป็นโครงการแรกเริ่มในการลงทุนด้านธุรกิจอวกาศของบริษัทต่างประเทศในประเทศไทยที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของรัฐบาลสวีเดนและบริษัท SSC ต่อนโยบายและศักยภาพด้านอวกาศของไทยในพื้นที่ EEC เพื่อหวังจะให้พื้นที่ EEC เป็นฐานสำคัญในการขยายธุรกิจเทคโนโลยีขั้นสูงในด้านอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวกับอวกาศ พร้อมทั้งสร้างให้เป็นจุดศูนย์รวมในการเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมอวกาศในภูมิภาค และยังช่วยผลักดันให้ไทยเข้าสู่ Global value chain ด้านอวกาศอย่างเป็นรูปธรรม



 

ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด ปฏิบัติงานรองผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศสวีเดน เป็นผู้ริเริ่มโครงการเพื่อความยั่งยืนโดยให้ SSC ในฐานะผู้นำในด้านนี้ได้ก่อตั้ง Global Trust ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้ SSC ที่ใช้ประโยชน์ของดาวเทียมเพื่อชี้นำองค์กรต่างๆ ทั่วโลกในการพัฒนาและนำเสนอกลยุทธ์ในการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและการพัฒนาแบบยั่งยืน 

นอกจากนี้ SSC ยังร่วมมือกับ USN ซึ่งเป็นบริษัทในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอวกาศให้บริการสถานีภาคพื้นดินเชิงพาณิชย์แห่งแรกในระดับโลก และมีประสบการณ์ในการสร้างดาวเทียมรวมถึง Payload ของดาวเทียม ได้มีการดำเนินการต่อเนื่องเกี่ยวกับภารกิจบอลลูนและจรวด รวมถึงโครงการอวกาศอื่น ๆ เช่นเดียวกับภารกิจ ISS (สถานีอวกาศนานาชาติ) และภารกิจสำรวจดวงจันทร์ ด้วยการสร้างดาวเทียมขนาดเล็กดวงแรกที่ใช้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าเพื่อไปยังวงโคจรของดวงจันทร์ หรือ Smart-1 อีกทั้งมองเห็นการจัดทำ Spaceport (ท่าอวกาศยาน) ที่มีแนวโน้มอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งได้มองเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอวกาศที่มีความก้าวหน้าแบบไม่มีที่สิ้นสุด





จากความร่วมมือกับ GISTDA เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2558 บริษัท SSC ได้ใช้สถานีดาวเทียมในประเทศสวีเดนเพื่อให้บริการติดตามยืนยันตำแหน่งของดาวเทียมค้างฟ้าที่อยู่ในห้วงอวกาศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกรวมถึงการให้บริการปรับแก้ข้อมูลเชิงตำแหน่งให้กับดาวเทียมนำทางของญี่ปุ่น (QZSS) จนมาถึงปัจจุบัน ด้วยศักยภาพด้านอวกาศของไทยมีความเหมาะสมทั้งในด้านทำเลที่ตั้ง ศักยภาพของบุคลากร ตลอดจนการสนับสนุนจากทางรัฐบาลทำให้ทางรัฐบาลประเทศสวีเดนและบริษัท SSC ตัดสินใจลงทุนตั้งสถานีรับส่งสัญญาณดาวเทียมขนาดใหญ่ในพื้นที่ประเทศไทย



  

  

โดยให้ GISTDA เป็น Strategic Partner และได้กำหนดให้ประเทศไทยเป็น Hub ในพื้นที่อาเซียนจึงได้จัดตั้งโครงการ SSC Space Thailand เพื่อนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทั้งหมดมาช่วยสร้างระบบนิเวศอวกาศของไทย โดยมุ่งหวังที่จะสร้างความร่วมมือกับหน่วยงาน และบริษัทของไทยในการพัฒนาโครงการอวกาศและอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทยและอาเซียนต่อไป ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ กล่าว