สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานเมื่อต้นสัปดาห์ว่า ชาวกัมพูชาต่างดีอกดีใจหลังรู้ข่าวว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้พิจารณาบรรจุแหล่งโบราณคดี กลุ่มปราสาทซ็อมโบร์ไพรกุกห์ ไว้ใน “บัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก” (World Heritage List) เป็นที่เรียบร้อย ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 41 ที่เมืองคราคูฟ ประเทศโปแลนด์ เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ แห่งที่สามของกัมพูชาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ใน บัญชีรายชื่อมรดกโลกหรือ World Heritage List ทั้งนี้ สมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้กล่าวต่อหน้าผู้คนนับหมื่นที่สนามกีฬาโอลิมปิกแห่งชาติในกรุงพนมเปญ ถึงการที่กัมพูชาผลักดันกลุ่มปราสามซ็อมโบร์ไพรกุกห์ให้ยูเนสโกขึ้นทะเบียนใน บัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกเป็นผลสำเร็จว่า เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของกัมพูชาในการรักษาและพัฒนามรดกทางวัฒนธรรม และนี่คือความภาคภูมิใจของคนทั้งประเทศ การที่กลุ่มปราสาทซ็อมโบร์ไพรกุกห์ ได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก จะมีส่วนอย่างมากที่ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของราชอาณาจักรกัมพูชา พร้อมทั้งเรียกร้องให้ชาวกัมพูชาร่วมกันปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม
สำหรับกลุ่มปราสาทซ็อมโบรไพรกุกห์ (ปราสาทสมโบไพรกุก) ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าอันสงบเงียบของจังหวัดกัมปงธม ไปทางเหนือของกรุงพนมเปญ ประมาณ 193 กม. แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ เป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญที่สุดของก่อนยุคอังกอร์เรียน จากเอกสารเผยแพร่ของยูเนสโก แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ถูกระบุว่าคือ อิศานปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรเจนละ ที่เจริญรุ่งเรืองในปลายศตวรรษที่ 6 ต่อเนื่องถึงต้นศตวรรษที่ 7 สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอิศานวรมันที่1 กษัตริย์แห่งอาณาจักรเจนละ
กลุ่มปราสาทครอบคลุมพื้นที่ 25 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยร่องรอยของเมืองหลวง รวมถึงใจกลางเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ และปราสาทที่เป็นศาสนสถานหลายแห่งที่สร้างขึ้นจากหินทราย ซึ่งบางส่วนยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์จนถือว่าเป็น "ผลงานชิ้นเอกที่แท้จริง"
ปัจจุบัน กัมพูชา มีสมบัติทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนใน บัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก แล้วรวมเป็นสามแห่ง โดยสองแหล่งแรกคืออุทยานประวัติศาสตร์นครวัด ที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่12 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในปี 1992 และปราสาทเขาพระวิหาร ที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่11 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในปี 2008
นอกจากนี้ การท่องเที่ยวยังถือเป็นหนึ่งในสี่เสาหลักทางเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยในปี 2016 กัมพูชามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึง 5 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศราว 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวได้ถึง 7 ล้านคนในปี 2020 สร้างรายได้ราว 5 พันล้านดอลลาร์
ภาพ :UNESCO
Post Views: 81