วันนี้ (22 ธ.ค. 64) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแสดงเจตจำนงในการขับเคลื่อนโครงการ “สร้างคน สร้างโอกาส สร้างชาติมั่นคง” ภายใต้แนวคิด “ดี เก่ง กล้าด้วยดนตรี กีฬา และศิลปะ”ระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงกลาโหม (กห.) จากนั้น เวลา 09.35 น. เป็นประธานการแถลงข่าวของขวัญปีใหม่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำหรับประชาชน ปี 2565
โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ร่วมแถลงข่าว ประกอบด้วย 1. สำนักงานปลัดกระทรวง พม. (สป.พม.) 2. กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) 3. สำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) 4. กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) 5. กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) 6. กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) 7. การเคหะแห่งชาติ (กคช.) 8. สถาบันพัฒนาองค์การชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. และ 9. กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.)
นายจุติ กล่าวว่า ของขวัญปีใหม่ของกระทรวง พม. เป็นนโยบายของรัฐบาล โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากจะมอบของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีความสุขและเป็นของขวัญที่ยั่งยืน ในปีนี้ กระทรวง พม. คิดนอกกรอบคือการสร้างอาชีพหลังโควิด-19 เราจะต้องพลิกโฉมประเทศไทย คนที่ฟื้นจากโควิดจะต้องมีรายได้ มีอาชีพที่ยั่งยืน ให้ประเทศและเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ หลังจากนี้โลกจะเปลี่ยนไปในเรื่องของการงาน อาชีพ และเทคโนโลยี ดังนั้นเราจึงต้องสร้างอาชีพใหม่ๆ ให้กับประชาชนทุกช่วงวัย สามารถมีอาชีพที่ช่วยเหลือตัวเองได้
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับของขวัญปีใหม่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปี 2565 สามารถทำให้ประชาชนมีอาชีพได้มากถึง 34,112 ราย มีดังนี้
1. การสร้างอาชีพใหม่หลังโควิด (Reskill - Upskill - Newskill) เป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ทั้งเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้ที่พึ่ง และกลุ่มเปราะบาง ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิค - 19 สามารถพึ่งพาตนเองได้และหลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งมีการดำเนินกิจกรรม/โครงการ ดังนี้
1.1) พี่สอนน้องคล่องธุรกิจ พิชิตฝัน เป็นการสร้างเด็กและเยาวชนเป็นนักธุรกิจรุ่นเยาว์ จำนวน 200 คน และกิจกรรม "YEN-D พี่สอนน้องคล่องธุรกิจ" ให้แก่เยาวชนกลุ่มที่ขาดโอกาสที่อยู่นอกระบบการศึกษา หรือมีฐานะยากจน หรืออยู่ในสถานสงเคราะห์ จำนวน 400 คน ให้มีทักษะในการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับเครือข่าย YEN-D (Young Entrepreneur Network Development)
1.2) ปัญญาภิวัฒน์ สานฝัน สู่อาชีพ เป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาและอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานรองรับของกระทรวง พม. ซึ่งเป็นความร่วมมือกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ โดยการสนับสนุนทุนการศึกษา เงินค่าเบี้ยเลี้ยง และสวัสดิการอื่นๆ รวมทั้งการฝึกวิชาชีพให้แก่เด็กและเยาวชน จำนวน 200 คน พร้อมสนับสนุนโอกาสในการเข้าทำงานในสถานประกอบการของบริษัท ชีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
1.3) Stronger (Teen) Mom เป็นการพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่แม่วัยรุ่นร่วมกับ AIS จำนวน 1,000 คน และการพัฒนาทักษะอาชีพตามบริบทท้องถิ่นให้แก่กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 4,560 คน
1.4) การประกอบอาชีพเป็นเชฟ (Chef) เป็นการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพเชฟให้แก่แม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อเลี้ยงเดี่ยว ผู้ว่างงาน และผู้ประสบปัญหาทางสังคม จำนวน 1,500 คน ให้สามารถประกอบอาชีพ ในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
1.5) การประกอบอาชีพช่างต่างๆ เป็นการพัฒนาทักษะอาชีพช่างในรูปแบบต่างๆ จำนวน 7,850 คน ดังนี้ (1) ช่างซ่อมกระเป๋า/สปากระเป๋า ให้แก่พ่อ - แม่เลี้ยงเดี่ยว และผู้ว่างงาน จำนวน 200 คน (2) ช่างตัดผม/ผู้เชี่ยวชาญด้านทรงผม ให้แก่ช่างผมในร้านขนาดเล็ก และประชาชนที่สนใจ จำนวน 2,000 คน (3) ช่างอาสาในชุมชน ในพื้นที่โครงการบ้านมั่นคง/บ้านพอเพียง จำนวน 5,570 คน และ (4) โครงการช่างชุมชน พัฒนาทักษะผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ จำนวน 80 คน ให้เป็นช่างล้างและบำรุงเครื่องปรับอากาศในบ้าน ช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า ช่างบำรุงรักษาจักรยานยนต์ ช่างเดินท่อและติดตั้งสุขภัณฑ์
1.6) การประกอบอาชีพบัตเลอร์ (Butler) เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนนักศึกษาจบใหม่ ผู้ว่างงาน และผู้ประสบปัญหาทางสังคม ที่มีความสนใจในงานบริการและประกอบอาชีพบัตเลอร์ จำนวน 50 คน เพื่อเป็นผู้ช่วยส่วนบุคคลของผู้บริหารหรือกลุ่ม V.I.P. ระดับประเทศและนานาชาติ
1.7) การขายของออนไลน์ (E-Commerce) ผ่านโครงการ Future Work Academy สำหรับคนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ และกลุ่มอาชีพของคนพิการ จำนวน 2,500 คน ร่วมกับบริษัทชั้นนำ
1.8) การสร้างคนพิการนักออกแบบคนพิการ จำนวน 2,500 คน ได้รับการพัฒนาให้มีความรู้ในการใช้คอมพิวเตอร์ สามารถทำเป็นอาชีพและทำงานที่บ้านได้ สามารถออกแบบกราฟิกและแบบสื่อต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มูลนิธิพระมหาไถ่ เพื่อการพัฒนาคนพิการ และบริษัท วัลแคน โคอะลิชั่น จำกัด
1.9) สร้างอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) เป็นการพัฒนาทักษะการดูแลผู้สูงอายุให้แก่กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 5,130 คน ในด้านการดูแลผู้สูงอายุขั้นเบื้องต้น (18 ชั่วโมง) การดูแลผู้สูงอายุขั้นกลาง (70 ชั่วโมง) และการดูแลผู้สูงอายุขั้นสูง (420 ชั่วโมง) เพื่อเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุในสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุทั้งภาครัฐและเอกชน
1.10) การผลิตและจำหน่ายเทียนหอม กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 250 คน ได้รับการส่งเสริมพัฒนา และยกระดับผลิตภัณฑ์เทียนหอมให้มีมูลค่าสูงขึ้น ด้วยการใช้วัตถุดิบที่แสดงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่น เช่น เทียนหอมกลิ่นกาสะลอง ตะไคร้หอม ประกอบกับบรรจุภัณฑ์เชรามิกของลำปาง
1.11) การสร้างนักประเมินทรัพย์สินมืออาชีพรุ่นใหม่ กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 1,000 คน ได้มีการพัฒนาทักษะวิธีการประเมินทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ภายในองค์กร สามารถสอบเป็นนักประเมินทรัพย์สิน เป็นความร่วมมือกับสมาคมผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และสมาคมนักประเมินอิสระไทย
1.12) การพัฒนาทุนมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 (RF21 : Precision Farming) โดยดำเนินการพัฒนาทุนมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาธุรกิจและชุมชน (BCL) และภาคีเครือข่าย เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง จำนวน 2,000 คน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในกลุ่มเปราะบางที่อยู่ในครอบครัวยากจน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาชุมชน (Change Agents) ที่มีคุณลักษณะ "คนดี คิดเป็น ทำเป็น" ผ่านการเรียนรู้ทางการเกษตรด้วยการเรียนรู้เชิงประจักษ์ (Empirical Learning) ที่ครบวงจร เพื่อเป็นผู้ประกอบการเกษตรแนวใหม่ โดยดำเนินการในพื้นที่นิคมสร้างตนเอง 5 แห่ง ได้แก่ (1)นิคมสร้างตนเองลำน้ำอุ่น จังหวัดสกลนคร (2)นิคมสร้างตนเองลพบุรี จังหวัดลพบุรี (3)นิคมสร้างตนเองควนขนุน จังหวัดพัทลุง (4)นิคมสร้างตนเองบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และ (5)นิคมสร้างตนเองทุ่งสาน จังหวัดพิษณุโลก
1.13) โครงการบ้านเคหะสุขประชา บ้านเช่าพร้อมอาชีพ เป็นบ้านเช่าสำหรับประชาชน จำนวน 572 ครัวเรือน ได้เช่าบ้านราคาถูกประหยัดพร้อมอาชีพ จำนวน 6 อาชีพ ประกอบด้วย (1) เกษตรอินทรีย์ (2) ปศุสัตว์ (3) ตลาดนัด (4) ศูนย์การค้าขนาดเล็ก (5) บริการชุมชน และ (6) โรงงานชุมชนขนาดเล็ก ซึ่งมีโครงการนำร่อง 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการฉลองกรุง จัดทำตลาดสด 302 แผง พื้นที่ 6.09 ไร่ พร้อมทั้งมีการอบรมให้ความรู้วิธีการค้าขายให้แก่กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 300 คน และ (2) โครงการร่มเกล้า จัดทำศูนย์การค้าขนาดเล็ก (Community Mall พื้นที่ 10 ไร่ เพื่อจัดพื้นที่คำขายภายในศูนย์การค้า พร้อมทั้งมีการอบรมให้ความรู้วิธีการค้าขายให้แก่กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 270 คน
1.14) โครงการสร้างวินัยการออมกับสำนักงานธนานุเคราะห์ (Financial Literacy) ให้แก่ผู้รับบริการ หน่วยงานหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 3,000 คน ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานธนานุเคราะห์ โดยบูรณาการการดำเนินงานกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สถาบันพัฒนาองค์กร (องค์การมหาชน) วิสาหกิจชุมชน และเครือข่ายผู้แทนชุมชน เพื่อส่งเสริมให้มีความรู้และการเงินที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้ทรัพย์ของผู้มาใช้บริการไม่หลุดจำนำหรือหลุดจำนำน้อยที่สุด
1.15) สำนักงานธนานุเคราะห์ ทอฝันปันน้ำใจให้สังคม เป็นการแก้หนี้ให้กับลูกค้าของสถานธนานุเคราะห์ ส่งเสริมลูกค้าให้ได้รับทุนส่งเสริมอาชีพ จำนวน 800 ทุนๆ ละ 2,000 บาท รวมมูลค่า 1,600,000 บาท
1.16) โครงการหมอหนี้ เป็นการจัดทำโปรแกรมตรวจสุขภาพทางการเงิน พร้อมทั้งวิเคราะห์และให้คำปรึกษาการแก้ไขปัญหาหนี้ รวมทั้งจัดอบรมให้กับนักศึกษา จำนวน 100 คน เพื่อถ่ายทอดให้อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทั่วประเทศ จำนวน 500 คน
2. "Big Smile เพื่อรอยยิ้ม" เป็นกิจกรรมเพื่อสร้างและส่งมอบความสุขให้เด็กกลุ่มเปราะบางและเด็กกำพร้า จำนวน 2 กิจกรรม ดังนี้
1) "Sharing For Bigger Smile แบ่งปันเพื่อรอยยิ้มของเด็ก" เป็นการมอบของขวัญให้แก่เด็กกลุ่มเปราะบาง จำนวน 8,000 ชิ้น โดยการเปิดรับบริจาคของขวัญจากบุคคลทั่วไป เพื่อส่งมอบความสุขให้แก่เด็กกลุ่มเปราะบาง ผ่านช่องทางรูปแบบ Onsite ซึ่งสามารถมอบของขวัญปีใหม่ได้ด้วยตนเอง และรูปแบบ Online โดยผ่านระบบออนไลน์ Give DCY
2) "Little Big Smile รอยยิ้มในครอบครัวอบอุ่น" เป็นการช่วยเหลือเด็กกำพร้า จำนวน 441 คน โดยเน้นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า เช่น การให้คำปรึกษาในเบื้องต้น การมอบเงินสงเคราะห์ การคุ้มครองและช่วยเหลือรายบุคคล ทั้งการจัดบริการสุขภาพจิต การสนับสนุนทุนการศึกษา การจัดหาผู้ดูแลเด็กและการสนับสนุนครอบครัวด้านสวัสดิการสังคม รวมทั้งการจัดกิจกรรม Parenting Skills เพื่อเสริมทักษะให้แก่เครือญาติหรือผู้ใกล้ชิดในการดูแลเด็กที่สูญเสียคนในครอบครัว
3. การเพิ่มช่องทางรับแจ้งเหตุด่วน เหตุร้าย แจ้งปัญหาสังคม และการขอรับบริการของกระทรวง พม. โดยผ่านเว็บไซต์ศูนย์ช่วยเหลือสังคม Line OA พม. Facebook และลิงก์จาก Application ทางรัฐที่รวบรวมบริการของภาครัฐ เพื่อให้ผู้ประสบปัญหาทางสังคมเข้าถึงบริการของกระทรวง พม. และได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแสดงเจตจำนงในการขับเคลื่อนโครงการ “สร้างคน สร้างโอกาส สร้างชาติมั่นคง” ภายใต้แนวคิด “ดี เก่ง กล้าด้วยดนตรี กีฬา และศิลปะ”ระหว่างกระทรวง พม. และ กห. มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้กับกลุ่มเป้าหมายเด็ก เยาวชน สตรีและครอบครัว คนพิการ ผู้สูงอายุ และคนไร้ที่พึ่ง ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวง พม. ในศูนย์สถาน บ้าน นิคม และเครือข่าย รวมทั้งส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายสามารถพัฒนาตนเองและมีทักษะนำไปต่อยอดสู่การประกอบอาชีพ การทำงาน การมีรายได้ และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง
โดย กระทรวง กห. มีหน้าที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพและสร้างโอกาสให้บุคคลได้มีความสามารถ ด้วยการเป็นผู้ฝึกสอน (Coach) ที่มีความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้เพื่อมาถ่ายทอดให้กับกลุ่มเป้าหมายในความดูแลของหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. ได้พัฒนาศักยภาพด้านดนตรี กีฬา และศิลปะ ให้สามารถนำไปต่อยอดสู่การประกอบอาชีพและมีรายได้ที่มั่นคง นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เพื่อเป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพ สามารถสร้างชื่อเสียง และสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติต่อไป
Post Views: 45