อยุธยาเตรียมจัดงาน “มหกรรมท่องเที่ยววิถีชุมชน ยลรุกขมรดกของแผ่นดิน วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคกลาง”
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 64 ที่ผ่านมา เวลา 17:30 น. ที่บริเวณวัดพระราม อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา นายวีระชัย นาคมาศ(นาค-คะ-มาด) ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้ นางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานการแถลงข่าว “กิจกรรมมหกรรมท่องเที่ยววิถีชุมชน ยลรุกขมรดกของแผ่นดิน วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคกลาง” พร้อมด้วย นางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางวันทนีย์ มีแสง วัฒนธรรมจังหวัดอ่างทอง นางวรรณทิพย์ กิจดี ผู้แทนวัฒนธรรมจังหวัดสระบุรี นางอรปรียา เชื่อมทอง ผู้แทนวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี ร่วมแถลงข่าว เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชุมชน สร้างรายได้แก่ประชาชน และยกระดับการท่องเที่ยววิถีชุมชนลุ่มน้ำเจ้าพระยา/ป่าสัก โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ แขกผู้มีเกียรติจาก 6 จังหวัด และผู้สื่อข่าว ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมแถลงข่าวในครั้งนี้ นางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี และชัยนาท แต่ละจังหวัดมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีของชุมชนท้องถิ่นแต่ละแห่งที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งภาษา ประเพณี ความเชื่อ การแต่งกาย อาหารการกิน ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้ และนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในลักษณะ “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชุมชน” กิจกรรมมหกรรมท่องเที่ยววิถีชุมชน ยลรุกขมรดกของแผ่นดิน วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคกลาง มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี สร้างความสามารถในการแข่งขัน ฟื้นฟูและยกระดับแหล่งท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ชุมชนและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยตามมาตรฐานการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว และด้านการส่งเสริมการพัฒนาและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ และการดำเนินกิจกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชนอย่างสร้างสรรค์ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วยอัตลักษณ์และวิถีวัฒนธรรมไทย ตลอดจนเป็นการต่อยอดโครงการต้นไม้ที่ทรงคุณค่า “รุกขมรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี” ของกระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้ดำเนินการสืบค้น และรวบรวมข้อมูลต้นไม้ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น เช่น กลุ่มต้นพุทราโบราณ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ต้นยางนาคู่ ชุมชนบางเจ้าฉ่า จังหวัดอ่างทอง ต้นจันหลายแผ่นดิน พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี เป็นต้น ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ได้อีกด้วย ด้านนางจุรีพร ขันตี กล่าวว่า กิจกรรมในงานประกอบไปด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยววิถีชุมชนนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจภายในกลุ่ม 6 จังหวัด รวม 18 แห่ง กิจกรรม Kick off มหกรรมท่องเที่ยววิถีชุมชน ในวันที่ 1-2 มกราคม 2565 ณ ลานหน้าวิหารพระมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กิจกรรม Road show มหกรรมท่องเที่ยววิถีชุมชน ยลรุกขมรดกของแผ่นดิน วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคกลาง ใน 2 ภูมิภาค ภาคเหนือที่เซนทรัลพลาซ่า เชียงใหม่แอร์พอร์ต และภาคใต้ที่เซ็นทรัลเฟสติวัลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อมุ่งหวังประชาสัมพันธ์ให้สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของกลุ่ม 6 จังหวัดภาคกลางตอนบนให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น