AirCaptif [แอร์แคพทีฟ] บริษัทสตาร์ทอัพในเครือมิชลินซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพองลมที่มีน้ำหนักเบา (Ultralight, Inflatable Structures) รุกดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์เพื่อการเติบโตในอนาคต โดยล่าสุดได้เผยนวัตกรรมภายใต้ความร่วมมือเป็นพันธมิตรกับ Dassault [ดาโซ] ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลก พร้อมทั้งประกาศใช้โรงงานมิชลิน ณ เมืองบูร์ฌ ในเขตแซงต์-ดูชาร์ เป็นศูนย์ผลิตนวัตกรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าวในเชิงอุตสาหกรรม ในโอกาสนี้ยังได้ระบุเป้าหมายที่จะขยายกิจกรรมการดำเนินงานในพื้นที่ปฏิบัติงานดังกล่าวเป็นสองเท่าตั้งแต่ปี 2566 ตลอดจนจัดสรรงบจ้างงานบุคลากรที่มีความสามารถพิเศษเพิ่มขึ้น
นวัตกรรมระดับปฏิวัติวงการภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มิชลิน และ Dassault Aviationช่วยให้กระบวนการทดสอบเพื่อยื่นขอเอกสารรับรองต่างๆ สำหรับเครื่องบินในตระกูลFALCON 6X เป็นไปได้รวดเร็วขึ้น
ก่อนจะนำออกใช้งาน เครื่องบินดังกล่าวต้องผ่านการทดสอบอย่างเข้มข้นหลากหลายรูปแบบเพื่อยื่นขอเอกสารรับรอง หนึ่งในนั้นคือการทดสอบความทนทานต่อการถูกฟ้าผ่าของห้องโดยสารเครื่องบิน การทดสอบนี้ซึ่งเรียกว่า High Intensity Radiated Field (HIRF) เป็นการทดสอบภาคบังคับสำหรับเครื่องบินเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Standards) ที่กำหนดโดยองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Union Aviation Safety Agency: EASA) ในการทดสอบเพื่อยื่นขอเอกสารรับรองสำหรับเครื่องบิน FALCON 6X นั้น Dassault ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพความทนทานของระบบรองรับภาวะวิกฤติ (คำสั่งและการคำนวณด้านการบิน) ต่อการรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Interference) ตามปกติกระบวนการทดสอบแบบมาตรฐาน (Classic Trial) สำหรับเครื่องบิน FALCON 6X จะต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์ แต่เทคโนโลยีระดับปฏิวัติวงการที่พัฒนาขึ้นโดย AirCaptif ช่วยลดระยะเวลาดังกล่าวลงเหลือเพียง 3 วัน ส่งผลให้ต้นทุนลดลงอย่างมากตามไปด้วย
นวัตกรรมนี้ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ กรงฟาราเดย์ (Faraday Cage)[1] แบบพองลมขนาดใหญ่สูง 8 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 900 ตารางเมตร, อุปกรณ์หมุนแบบกลที่พองลมได้ (Inflatable Mechanical Mixer) ซึ่งติดตั้งอยู่ด้านข้างลำตัวเครื่องบินเพื่อกระจายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และระบบฉนวนแบบพองลม (Inflatable Coaxial Insulation) ที่เป็นเสมือนการต่อสายดินเพื่อรองรับการถูกฟ้าผ่า
เทคโนโลยี AirCaptif เอื้อประโยชน์หลายประการ ด้วยโครงสร้างที่มีน้ำหนักเบามากเป็นพิเศษ สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย และติดตั้งในโรงเก็บเครื่องบินได้สะดวก ส่งผลให้ต้นทุนและระยะเวลาในการทดสอบลดลงอย่างมาก โดยการติดตั้งได้รวดเร็วยังถือเป็นข้อดีที่สำคัญอย่างยิ่งอีกด้วย
ตามปกติการสร้างกรงฟาราเดย์แบบดั้งเดิมแต่ละชุดจะใช้เวลาราว 2 ปี แต่นวัตกรรมใหม่นี้ทำให้สามารถติดตั้งเพื่อใช้งานได้ภายในวันเดียวเท่านั้น
คลิกดูคลิปวิดีโอได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=GpAOHNdJuRE
โซลูชั่นจาก AirCaptif จะพร้อมผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้เร็ว ๆ นี้ ณ โรงงานมิชลิน ที่เมืองบูร์ฌ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใจกลางประเทศฝรั่งเศส
แผนพัฒนาในอนาคตของ AirCaptif ซึ่งมีฐานที่ตั้งอยู่ ณ เมืองทรัปส์ (Trappes) ประเทศฝรั่งเศสครอบคลุมการขยายโรงงานที่เมืองบูร์ฌ พร้อมเริ่มดำเนินการผลิตเชิงอุตสาหกรรมในช่วงต้นปี 2567 การเลือกใช้โรงงานที่เมืองบูร์ฌซึ่งอยู่ระหว่างจัดงานฉลองครบรอบ 70 ปี ในฐานะเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานบุกเบิกด้านอุตสาหกรรมการบินของมิชลิน จะส่งผลให้ AirCaptif ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากระบบนิเวศด้านอากาศยานและยุทธปัจจัยเพื่อการป้องกันประเทศของภูมิภาค ตลอดจนมีบทบาทในการเสริมสร้างประสบการณ์ทางอุตสาหกรรมของกลุ่มมิชลินให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเมืองบูร์ฌยังเหมาะแก่การทำงานและผสานความร่วมมือ เนื่องจากตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองทรัปส์ซึ่งเป็นฐานประจำการของทีมเจ้าหน้าที่เทคนิคและเมืองแกลร์มง-แฟร็อง (Clermont-Ferrand) ซึ่งเป็นฐานดำเนินงานของฝ่ายวิจัยและพัฒนาของมิชลิน
ทั้งนี้ ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านโครงสร้างอากาศยาน (Aeronautic Construction) ประกอบกับประสบการณ์ในภาคอุตสาหกรรมการแพทย์และธุรกิจวางแผนจัดงานอีเวนท์ ทำให้ AirCaptif สามารถนำเสนอโซลูชั่นที่ครอบคลุมหลากหลายแง่มุมอย่างรอบด้าน
เพื่อขับเคลื่อนการเติบโต AirCaptif จะมุ่งเดินหน้าขยายศักยภาพการผลิตเป็นสองเท่าตั้งแต่ปี 2566 พร้อมทั้งจ้างงานบุคลากรที่มีความสามารถพิเศษเพิ่มขึ้น
ภายใต้แผนขยายธุรกิจ AirCaptif ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มอัตราการหมุนเวียนผลิตภัณฑ์ (Turnover) เป็นสองเท่าตั้งแต่ปี 2566 พร้อมทั้งเร่งจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะความชำนาญพิเศษเพิ่มอีกราว 30 คน ในพื้นที่ดำเนินงานเขตอีฟว์ลีน (Yvelines) ของฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของกรุงปารีส
การขยายกิจกรรมการดำเนินงานของ AirCaptif แสดงให้เห็นว่ามิชลินพร้อมเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับแรงงานที่มีทักษะขั้นสูง โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาจ้างพนักงานเพื่อทำงานในโรงงานซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองทรัปส์และรองรับการขยายฐานดำเนินงานไปยังเมืองเอล็องกูร์ (Elancourt) ในเดือนมกราคม 2566 ทั้งนี้ ด้วยลักษณะงานที่ละเอียดซับซ้อนทำให้จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีทักษะขั้นสูงและมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นพิเศษในด้านต่าง ๆ อาทิ การซีลตะเข็บทางอุตสาหกรรม (Industrial Seaming), การควบคุมการทำงานของเครื่องจักร (Machine Operation), การตัดและเชื่อมพลาสติก (Plastic cutting & welding) เป็นต้น
AirCaptif ซึ่งมีฐานที่ตั้งอยู่ ณ เมืองทรัปส์ ประเทศฝรั่งเศส มาตั้งแต่ปี 2560 ได้สร้างงานให้กับท้องถิ่นกว่า 50 ตำแหน่ง โดยในปี 2563 AirCaptif เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับเลือกจากรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อให้การสนับสนุนภายใต้โครงการเปิดตัวมิติใหม่ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และอากาศยาน (Relaunch Plan for the Aeronautic and Automobile Industries) การสนับสนุนดังกล่าวส่งผลให้บริษัทฯ สามารถนำกิจกรรมการดำเนินงานเชิงอุตสาหกรรมบางประเภทที่เคยทำสัญญาให้ประเทศจีนรับช่วงไปดำเนินการ(Sub-contract) กลับมาดำเนินการในประเทศฝรั่งเศสได้
โม้ด ปอร์ติกลิอาติ (Maude Portigliatti) ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจวัสดุทางเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารกลุ่มมิชลิน เปิดเผยว่า “การขยายตัวในการดำเนินงานของ AirCaptif เป็นผลมาจากความสามารถขององค์กรในการคิดค้นนวัตกรรม และการผนึกพันธมิตรกับ Dassault ก็เป็นกลยุทธ์ที่ดีประการหนึ่ง นอกจากนี้ ในด้านโซลูชั่นทางเทคนิค AirCaptif ยังตอกย้ำให้เห็นถึงความรู้ความชำนาญของมิชลินในการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามาใช้ประโยชน์ ตลอดจนความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มมิชลินในธุรกิจอื่นนอกเหนือจากยางรถยนต์”
[1] กรงฟาราเดย์ (Faraday Cage) คือโครงสร้างจากเส้นใยโลหะยืดหยุ่นซึ่งมีคุณสมบัตินำไฟฟ้าเพื่อใช้ป้องกันหรือลดความเสียหายที่เกิดจากฟ้าฝ่าให้กับเครื่องบิน
Post Views: 38