InterviewUpdate News

“BENJARONG : SACICT SIGNATURE COLLECTION” ชูแนวคิดเบญจรงค์ไทยร่วมสมัย สร้างอัตลักษณ์งานศิลป์สู่ตลาดสากล

                                  “...คนทำเบญจรงค์มาตลอดชีวิตมีความชำนาญ มีความปราณีตอ่อนช้อย แต่อยากให้คิดกรอบใหม่ คิดแบบ 360 องศา เพื่อเกิดการพัฒนาในรูปแบบใหม่ๆ ต้องผสมผสานระหว่างผู้เชี่ยวชาญงานช่างกับดีไซเนอร์รุ่นใหม่ SACICT อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังและเบญจรงค์นำไปสู่การใช้งานจริง


เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ได้เป็นประธานในการเปิดนิทรรศการ “BENJARONG : SACICT SIGNATURE COLLECTION” ณ บริเวณ Creative Lab ชั้น 3 ศูนย์การค้าสยาม ดิสคัฟเวอรี่ โดยนำเสนอในสไตล์ Modern Art ด้วยสีขาวสะอาดตา โดยมีตัวแทนครูช่างจากร้านเครื่องเบญจรงค์ชั้นนำ 10 ชุมชนร่วมงาน

ภายในงานได้จัดให้มีการสาธิตการทำอาหาร Signature menu โดย Executive Sous Chef  และ Head Chef มิสเตอร์ นิโคลัส บัสเซ็ท ลาพาร์ต รูฟท็อป บาร์แอนด์ เรสเตอรองท์ โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพ สุขุมวิท พร้อมการสาธิตการจัดดอกไม้โดย นาโอมิ ไดมารุ ผ่านเบญจรงค์ Signature Collection 

ท่ามกลางความสนใจของเหล่าผู้ที่ชื่นชอบงานหัตถศิลป์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมาก ก่อนจะปิดท้ายด้วยการจิบกาแฟยามบ่ายจาก คุณเจนจิรา กมลเศวตกุล หรือ คุณเลิฟ ผู้ก่อตั้ง FABB Academy of Coffee พร้อมชมศิลปะแห่งการเลือกสรรขนมหวานแบบตะวันตกเข้ากับชุดเบญจรงค์สุดคลาสสิคของไทยได้อย่างสมบูรณ์แบบ

       

   

      

Signature Collection

นางอัมพวัน พิชาลัย ผอ.ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า “Sacict มุ่งเน้นการอนุรักษ์ควบคู่กับการพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ตามแนวคิด Today’s Life Crafts ผ่านการเสวนาร่วมกับผู้ทรงภูมิปัญญา ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ผู้ทรงคุณวุฒิและชุมชนผู้ผลิตเพื่อส่งเสริมพัฒนางานเบญจรงค์ โดยปีนี้ SACICT ได้ดำเนินโครงการพัฒนาอัตลักษณ์เบญจรงค์ไทย หรือ Signature Collection เพื่อนำเสนอประวัติความเป็นมาและเอกลักษณ์ของเบญจรงค์ไทยในแต่ละยุคสมัย พร้อมจัดทำองค์ความรู้ ความโดดเด่นและเทคนิคเชิงช่างที่สามารถต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างลงตัว รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอัตลักษณ์ของแต่ละผู้ผลิตเพื่อรองรับแนวคิดด้านการเชื่อมโยงเครือข่ายสร้างสรรค์งานเบญจรงค์ไทยสู่ตลาดสากลในอนาคต

   

นางอัมพวัน กล่าวต่อ....เมื่อพูดถึงเบญจรงค์ จะนึกถึงว่า เบญจรงค์ส่วนใหญ่คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ รวมถึงรูปทรงของเบญจรงค์ที่มักนึกถึงว่ามีแต่ถ้วย โถ โอ ชาม ซึ่งเหมือนกับมาถึงทางตันแล้ว ไปต่อไม่ได้ หัตถศิลป์นี้จะอยู่แค่เฉพาะเหล่านี้หรือ จึงคิดว่าน่าจะมีการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงและน่าจะนำไปใช้ในรูปแบบต่างๆ ได้จึงเป็นที่มาของการที่กระบวนการคิดว่า ควรจะฟื้นฟูอย่างไร วิธีการต้องเป็นขั้นตอน โดยเริ่มจากการจัดเสวนา ว่าเบญจรงค์ขณะนี้สถานะ ปัญหาอยู่ตรงไหนและควรจะทำอะไรได้บ้าง หากจะฟื้นฟูให้มีชีวิตขึ้นมาต้องรู้ว่าของเหล่านั้นจะไปต่อตรงไหน และเขาพร้อมหรือไม่

ซึ่งพบว่า เบญจรงค์มีปัญหาตั้งแต่ บุคคล คนที่เข้ามาทำเบญจรงค์มีน้อยลง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ หุ่นที่ใช้สำหรับงานเบญจรงค์จะเห็นแต่แบบโถ เนื่องจากคนวาดส่วนใหญ่จะไม่ได้ปั้นหุ่นขึ้นมาแต่จะซื้อสำเร็จรูป แล้วจึงนำมาวาดลวดลาย แต่เราจะพบว่าต่างชาติก็มี แต่ไม่ได้เรียกเบญจรงค์ เขาเรียว่า พอชเลน เพนท์ งานของเขาเวลาเห็นจะรู้ว่า ชิ้นของแต่ละชิ้นจะมีเอกลักษณ์ มีลายเส้นที่เป็นซิกเนเจอร์บ่งบอกความเป็นตัวตนชัดเจน

แต่เบญจรงค์ของไทย หยิบขึ้นมาชิ้นหนึ่ง มีคุณค่ามาก ฝีมือปราณีตอลังการและมีความชำนาญในเชิงช่างทั้งลวดลายที่ละเอียดอ่อนช้อย แต่ถ้านำไปวางจะไม่รู้ว่าเป็นของใคร เนื่องจากเหมือนกันหมด รวมถึงเรื่องตลาดก็เช่นเดียวกัน มองว่าไกลตัว เราซื้อเพื่อให้คนอื่น พอเราได้มาเก็บเข้าตู้จะไม่เคยใช้ เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย หรือไม่เข้ากับชีวิตประจำวัน  จึงเป็นที่มาของกระบวนการคิดว่า แล้วจะเดินต่อไปอย่างไร”

คิดนอกกรอบสู่การพัฒนา

แนวคิดของ SACICT จึงอยากให้คิด 360 องศา คิดกรอบใหม่เพื่อเกิดการพัฒนาในรูปแบบใหม่ๆ เข้ากับยุคใหม่และสามารถใช้งานได้ นางอัมพวัน กล่าวต่อว่า อย่างแรกคือต้องดูว่า เบญจรงค์ของเราจุดเด่นคืออะไร ต้องครบทั้ง 5 สีหรือไม่ จากการศึกษาพบว่า เบญจรงค์ไม่จำเป็นต้องมีทั้ง 5 สี ดั้งเดิมเบญจรงค์ไม่มีทอง น้ำทองเป็นสิ่งที่เพิ่มขึ้นมา งานเบญจรงค์พัฒนาเรื่อยมาตั้งแต่พระเพทราชา  รัชกาลที่ 2 มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ค่อยๆ หายไป

มองว่า คนทำเบญจรงค์มาตลอดชีวิตมีความชำนาญ แต่ควรจะคิดกรอบใหม่ คิดแบบ 360 องศา ต้องผสมผสานระหว่างผู้เชี่ยวชาญงานช่างกับดีไซเนอร์รุ่นใหม่ เพื่อรังสรรค์งานใหม่ๆ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง และเบญจรงค์นำไปสู่การใช้งานจริง ๆ

จึงคัดช่างเบญจรงค์จาก 30 - 40 ราย โดยดูที่ความพร้อมด้านการผลิต มีงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ คัดมาจนเหลือ 10 ชุมชน โดยนำดีไซเนอร์รุ่นใหม่เข้าไปประกบ โดยมีนักออกแบบ 1 คนกับ  2 ชุมชน ดีไซเนอร์ต้องเข้าไปศึกษาว่าอัตลักษณ์ของเบญจรงค์ ความชำนาญพิเศษของชุมชนนั้นๆ คืออะไร เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดว่าทำได้หรือไม่ อย่างไร

สิ่งที่เป็นแนวคิดคือว่า เบญจรงค์ควรจะมีอะไรที่เปลี่ยนไป ต้องมีราคาที่ไม่แพงถึงขนาดจับต้องไม่ได้และสามารถซื้อใช้ได้จริง เรามองอีกมิติหนึ่ง เบญจรงค์นี่จำเป็นต้องเฉพาะถ้วยโถ โอชามหรือไม่ หรือสามารถเปลี่ยนแปลงได้ จึงเป็นที่มาของหูฟัง ก้านแว่นตา ลำโพง ซึ่งอาจจะไปสู่อุตสาหกรรมต่อไป ตรงนี้ถือเป็นมุมมมองใหม่ให้กับเบญจรงค์”



อะเมซิ่งไทยแลนด์แดนคร๊าฟ

ในปี 2561 ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ยังคงสานต่อและเดินหน้าการพัฒนาเบญจรงค์ออกสู่สากล ต่อไป โดย ผอ. อัมพวัน กล่าวต่อว่า “ปีหน้าจะเน้นสร้างเบญจรงค์ ที่เป็นซิกเนเจอร์ของแต่ละรายจริงๆ และต้องสร้างการรับรู้ว่า แบบนี้คือของที่มาจากชุมชนนี้ มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน

เขาอาจจะมีเบญจรงค์หลากหลายแต่ขณะเดียวกันต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สิ่งที่เราพบคือหลังจากสอบถามว่า ครูทำเบญจรงค์อะไรบ้าง ครูบอกว่าทำได้หมด สั่งได้หมด ซึ่งความเชี่ยวชาญนั้นเป็นเหมือนกันหมดทุกที่ จึงอยากจะสร้างคาแร็คเตอร์ให้กับแต่ละชุมชน ใส่ความเป็นตัวตนของตัวเองเข้าไป อันนี้จะเป็น Signature Collection ที่จะเน้นในปีหน้า”

งานหัตถกรรมในวันนี้ เราจะบอกว่า เราต้องทำทุกอย่างเพื่อสอดคล้องกับตลาด จริงๆ แล้ว งานหัตถกรรม คือความภาคภูมิใจ ศิลปะ จึงอยากขายของเราแบบนี้ แต่ต้องสร้างการรับรู้ ต้องสร้างดีมานส์ ต้องสร้างเรื่องราวให้คนรับรู้ ปีหน้าจะเป็นเรื่องของการสร้างความรับรู้ ในวันข้างหน้าคนที่วาดเบญจรงค์อาจจะไปวาดอยู่เรือนนาฬิกาปาเต๊ะหรืออะไรสักอย่างหนึ่งก็เป็นได้

ด้านการตลาด

ผอ.อัมพวัน มองว่า ตรงนี้ก็เป็นหนึ่งในการทดลองตลาด เชื่อแน่ว่าการทำงานหัตถกรรมหนึ่งคือมองตลาดว่าต้องการอะไร สองคือมองไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน เปลี่ยนมุมมองของเบญจรงค์ต้องสร้างดีมานส์ของที่เราทำ ดีมานส์อีเวนท์กับซัพพลายอีเวนท์ รวมถึงมีแผนจะนำไปแสดงในต่างประเทศ ซึ่งได้มีการพูดคุยกับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่ง ททท. มีอะเมซิ่ง ไทยแลนด์ด้านอาหาร และอื่นๆ ซึ่งเรานำเสนอนิวไอเดียของประเทศไทย อะเมซิ่งไทยแลนด์ แต่เป็น อะเมซิ่งคราฟ เบญจรงค์ก็เป็นหนึ่งที่สามารถเป็น นิวเชดออฟไทยแลนด์ โดย SACICT จะร่วมมือกับททท.เพื่อนำเสนอกับต่างชาติ จะเป็นอีกหนึ่งก้าวที่จะดำเนินต่อไป

ตอนนี้คิดโครงการไว้คือ ปีแรกคือการเสวนา ปีนี้เป็นปีที่สอง ปีที่สามหรือสี่ก็แน่นอนจะมีการพัฒนาไปเรื่อย ขณะนี้มีภาคธุรกิจให้ความสนใจในการต่อยอด อยู่ที่ความพร้อม ความลงตัวของคนที่เป็นชุมชนคนผลิตกับนักออกแบบ ซึ่งอาจจะเปลี่ยนก็ได้ แต่เราก็เข้าไปช่วยในการเดินต่อ การกระตุ้น การสร้างการรับรู้ การหาตลาดเช่นประสานกับโรงแรมหรือ บริษัทที่ต้องการทำของขวัญในปีใหม่ เราเองก็สั่งทำคอลเลคชั่นนี้เพื่อใช้ในภารกิจของเราด้วย

ตัวอย่างในวันนี้ทำให้เห็นว่าเบญจรงค์สามารถนำไปใช้ได้จริง ทำให้มองภาพได้ชัดขึ้น เรามีความสุขมากที่เห็นสิ่งฝันสามารถเป็นจริงได้ สามารถคิดนอกกรอบได้ เราเห็นเบญจรงค์ที่ใกล้ตัว จับต้องได้ ถือประสบความสำเร็จส่วนหนึ่งต้องชื่นชมการพัฒนางานเหล่านี้ ให้กับนักออกแบบที่ทุ่มเทเวลา ซึ่งเรามีเวลาสั้นมาก ที่สำคัญ คือ สิบชุมชนที่เขาทุ่มเท เขามุ่งมั่นและตั้งใจ ก็เป็นกำลังใจให้กับ SACICT  ที่อยากเดินหน้าต่อ”


   

   

“ทั้งนี้ นิทรรศการ BENJARONG : SACICT SIGNATURE COLLECTION” จะจัดไปจนถึงวันที่ 13 กันยายน อยากเชิญชวนให้มาเห็นถึงพัฒนาการ เราภูมิใจมากว่างานของไทยหากใส่ความคิดสร้างสรรค์ การต่อยอดภูมิปัญญาเหล่านี้ สามารถต่อยอดได้  และคุณค่าความงดงามทางศิลปของไทยยังอยู่ตลอดไป”นางอัมพวัน กล่าวท้ายสุด 

.............................................................................................................................................  

    

สำหรับ  “BENJARONG : SACICT SIGNATURE COLLECTION” เป็นการทำงานร่วมกันของ 10 ชุมชนช่างเบญจรงค์และร้านเครื่องเบญจรงค์ชื่อดังจากทั่วประเทศ ได้แก่ ชุมชนเบญจรงค์บ้านดอนไก่ดี (สมุทรสาคร) ร้านบุญญรัตน์เบญจรงค์(กรุงเทพฯ) กลุ่มอาชีพเบญจรงค์ลายน้ำทอง (กรุงเทพฯ ) หลังสวน เบญจรงค์ ( ชุมพร) ปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ ( สมุทรสงคราม) บ้านเบญจรงค์ บางช้าง(สมุทรสงคราม) ไทยเบญจรงค์ (ชลบุรี) กุลญาเบญจรงค์ 1999 (สุพรรณบุรี) เบญจรงค์ทองโพธิ์พระยา(สุพรรณบุรี)

และวิสาหกิจชุมชนอภิชัยเบญจรงค์มงคลศิลป์( นครปฐม) ภายใต้การออกแบบของ 5 ดีไซเนอร์ชื่อดัง ได้แก่ คุณเดชา อรรจนานันท์ ( THINKK Studio) คุณดุลยพล ศรีจันทร์ (PDM Brand) คุณพรพรรณ สุทธิประภา ( A Small Studio) คุณผุสดี ศรีอำพันพฤกษ์ (หนึ่งในผู้เข้ารอบ 10 คนสุดท้ายการประกวด Innovative  Craft Award 2017) คุณ กฤษณ์ พุฒิพิมพ์ ( DOTS Object)

ทั้งนี้ มีรายงานว่า แม้เพียงวันแรกของการเปิดนิทรรศการได้รับความสนใจจากทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยผู้บริหารสยามพิวรรธน์ คุณชฎาทิพย์ จูตระกูล เห็นคุณค่าของงานหัตถศิลป์ ออเดอร์เบญจรงค์จากชุมชนเบญจรงค์บ้านดอนไก่ดี (สมุทรสาคร) อีกด้วย