กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP ชี้กระแสธุรกิจที่รับผิดชอบต่อโลกกำลังมาแรงในตลาดโลก ผู้บริโภคในระดับสากล มองหาสินค้าที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีนวัตกรรม รับผิดชอบต่อสังคม โดย DITP ได้เร่งพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ทั่วประเทศ 73 ราย จากโครงการ Talent Thai และ Designers’ Room ให้ตื่นตัวและปรับธุรกิจผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์เศรษฐกิจโลกยุค NEW NORMAL ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยโมเดล BCG Economy (Bio – Circular – Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นส่วนหนึ่งของเมกะเทรนด์ที่ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสนใจ
สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนิน “โครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก” ภายใต้ชื่อ Talent Thai และ Designers’ Room เข้าสู่ปีที่ 19 แล้ว โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม Micro Smes ที่นักออกแบบรุ่นใหม่ให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพได้รับโอกาสเข้าถึงตลาดสากลเพิ่มมากขึ้น
โดยในปีนี้ได้มีการจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่นักออกแบบอย่างครบวงจร เน้นส่งเสริมความรู้ในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ เทคนิคการเจรจาการค้า และการสร้างแบรนด์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นสำหรับคู่ค้าในตลาดต่างประเทศ ครอบคลุมตั้งแต่การทำความรู้จักลักษณะของแต่ละตลาด พฤติกรรมของลูกค้า แนวโน้มเทรนด์สินค้า เพื่อให้นักออกแบบเข้าใจแนวโน้มความต้องการสินค้าในตลาดโลกและปรับแนวทางการนำเสนอสินค้าให้เหมาะสม
ม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในงานโครงการอบรมนักออกแบบหลักสูตรที่ 1 ภายใต้ โครงการ Designers’ Room & Talent Thai Promotion 2021 ว่า “BCG เป็นแนวโน้มที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญมากขึ้นและยังมีอีกแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจในรูปแบบที่เป็น Social Enterprise (SE) ที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG เช่นกัน เพราะเป็นการดำเนินธุรกิจที่จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
โดยเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่นักออกแบบไทยสามารถเรียนรู้และปรับใช้รูปแบบนี้มาพัฒนาธุรกิจได้อย่างสอดคล้องกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและได้รับการยอมรับในระดับสากล”
โดยในปีนี้ได้มีโปรเจคพิเศษให้นักออกแบบรุ่นใหม่ได้เรียนรู้แนวคิดโมเดลธุรกิจ Social Enterprise (SE) โดยแบ่งนักออกแบบเป็น 5 ทีม รับโจทย์ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ให้แก่ “Limited Education” ระดมทุนเพื่อร่วมสร้างเปลี่ยนแปลงการศึกษาของประเทศ
หลังจากนั้นจะนำผลิตภัณฑ์ไปทดสอบตลาดจริง โดยการ pre-order สินค้า นำรายได้จากการจำหน่ายสินค้าไปร่วมสมทบในโครงการ “Limited Education” ถือเป็นการนำความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาสินค้าที่จะสร้างความยั่งยืนและคืนกลับไปสู่สังคม สอดคล้องกับธุรกิจ SE เช่นกัน
นอกจากนี้ DITP ต้องการส่งเสริมนักออกแบบรุ่นใหม่ ให้มีทักษะแบบมืออาชีพ มีความพร้อมสามารถให้บริการออกแบบได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในต่างประเทศ ยกระดับธุรกิจก้าวสู่การเป็น “ครีเอทีฟ เซอร์วิส” นำการออกแบบมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า พร้อมให้บริการอย่างครบวงจรที่สอดคล้องกับพลวัตของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่งได้
ขณะเดียวกันกิจกรรมภายในโครงการได้เชิญวิทยากรที่มีประสบการณ์จากแบรนด์ชั้นนำมาถ่ายทอดแนวคิดการพัฒนาธุรกิจในระดับสากลต่อเนื่องในทุกปี
โดยในปีนี้ที่มีวิทยากรพิเศษ ได้แก่ นายจิระเมศร์ สุริวงศ์วรากุล Retail Director จากแบรนด์ Ferragamo, น.ส.หทัยชนก อรรถบุรานนท์ Regional Brand Manager จากแบรนด์ Marshall และ นายวิทธพล ลิมป์ธารสกุล E-commerce Manager จากแบรนด์ Marshall มาร่วมให้ความรู้แก่นักออกแบบไทยกับการปรับตัวท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ทางโครงการได้ทำการสรุปเนื้อหาที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและนักออกแบบ เพื่อเตรียมความพร้อมปรับตัวรับมือสถานการณ์การค้าในอนาคต ดังนี้
แฟลตฟอร์มดิจิทัลจะขยายตัวอย่างเต็มรูปแบบและมีการสร้างประสบการณ์เพื่อนำเสนอสินค้าในรูปแบบใหม่ๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีโลกเสมือน Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) เป็นต้น
นอกนี้แบรนด์ต้องเตรียมพร้อมปรับระบบทุกอย่างในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับดิจิทัลเทคโนโลยี ตั้งแต่หน้าเว็บไซด์ ไปจนถึงการสั่งซื้อสินค้าและขนส่งสินค้าถึงผู้บริโภค รวมถึงร่วมมือกับแฟลตฟอร์มคอมเมิร์ซจัดทำโปรโมชั่นให้เหมาะสม
การขยายตัวของกลุ่มลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าเจน Z และกลุ่ม มิลเลนเนียล (Millennial) ที่มีความสำคัญและมีบทบาทในการซื้อสินค้าอย่างมากในอนาคต แต่การขยายสู่ลูกค้ากลุ่มใหม่จะต้องมุ่งรักษาลูกค้ากลุ่มเดิมควบคู่กันไปด้วย
ธุรกิจต้องปรับแนวทางการสร้างแบรนด์และการนำเสนอสินค้าให้สอดคล้องกับเทรนด์โลก ที่มุ่งสู่ความยั่งยืน การดูแลสิ่งแวดล้อม ช่องทางสาขา (Flagship Store) มีความสำคัญเพราะเป็นช่องทางที่สร้างความเชื่อมั่น และทำให้ลูกค้าได้มาสัมผัสประสบการณ์พิเศษที่หน้าร้าน
การทำตลาดให้ประสบความสำเร็จ เกิดจากความเข้าใจผลิตภัณฑ์และกลุ่มลูกค้าอย่างแท้จริง เพื่อให้สามารถนำเสนอแผนการตลาดให้เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพ สร้างยอดขายได้สูงสูด พร้อมกับต้องมุ่งนำเสนอสินค้าที่มีความโดดเด่นและแตกต่าง การเป็นสินค้านวัตกรรม สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า รวมถึงการเลือกใช้ Key Opinion Leader หรือ KOL ได้อย่างเหมาะสมกับตรงกับกลุ่มเป้าหมาย
Post Views: 43