Update Newsการตลาดธุรกิจ-เศรษฐกิจพาณิชย์เศรษฐกิจ

DITP ระดมความพร้อมรับมือเส้นทาง มาตรการ/กฎการขนส่งผลไม้ไทยทางบกช่วงโควิด

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ จัดเสวนาออนไลน์ (Webinar) “ขนส่งผลไม้ไปจีน...ที่นี่มีคำตอบ” เมื่อวันพุธที่ 2 มิถุนายน 2564 ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ที่ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดำเนินการให้ความรู้ เตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการเกี่ยวกับมาตรการ กฎระเบียบต่างๆ ในการขนส่งผลไม้ไทยข้ามแดนไปยังประเทศจีนให้มีความคล่องตัวและสะดวกยิ่งขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในงานมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่อยู่ในพื้นที่ประเทศเป้าหมายและประเทศที่อยู่ในเส้นทางขนส่งได้แก่ ทูตพาณิชย์และทูตเกษตรจากภูมิภาคจีน ทูตพาณิชย์จากสปป.ลาวและเวียดนาม ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์การค้าระหว่างประเทศของไทยมาร่วมให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ โดยมีผู้เข้าร่วมฟังทั้งสิ้นกว่า 1,900 ราย





นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้าง และประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว

 อย่างไรก็ตาม การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าไปยังประเทศจีนสามารถกลับมาดำเนินการได้ โดยประเทศจีนนั้นถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทยมาตลอด 8 ปี หนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ ผลไม้ ซึ่งการส่งผลไม้ข้ามแดนในไตรมาสแรกของปี 2564 มีมูลค่าถึง 8,145 ล้านบาท และถึงแม้ว่าการขนส่งสินค้าข้ามแดนจะดำเนินการได้ แต่ประเทศต่างๆ ที่อยู่ระหว่างเส้นทางการขนส่งได้ออกมาตรการและกฎระเบียบในการขนส่ง เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การขนส่งสินค้าจึงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัว การขนส่งใช้ระยะเวลามากขึ้น การเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการจึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะสำหรับผลผลิตที่กำลังจะออกมาในฤดูกาลต่อๆ ไป

นายปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว กล่าวถึงภาพรวมการนำเข้าผลไม้ของจีน แนะนำขั้นตอนการเตรียมตัวของเกษตรกรไทย เช่นการยื่นขอใบรับรองสุขอนามัยพืช ประเภทเอกสารที่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับส่งออกสินค้าผลไม้ และข้อควรระวังต่างๆ รวมถึงยกตัวอย่างการขนส่งสินค้าผลไม้ผ่านทางด่านโหย่วอี้กวน ระบบและขั้นตอนภายในด่าน การสุ่มตรวจสินค้าโดยศุลกากรจีน เพื่อตรวจศัตรูพืชกักกัน กรดนิวคลีอิค และเชื้อไวรัสโควิด-19

นายกวิน วิริยพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเวียงจันทน์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลไม้ไทยที่เป็นที่นิยมในสปป.ลาว ด่านหลักที่ได้รับความนิยมในการขนส่งสินค้าไปยังประเทศจีน ผ่านทาง สปป.ลาว เช่น ด่านมุกดาหาร และ ด่านนครพนม พร้อมทั้งวิธีการเตรียมตัวของผู้ประกอบการไทย

ด้าน นางสาวพรรณกาญจน์ เจียมสุชน ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย กล่าวถึงเส้นทางการขนส่งผลไม้ผ่านเวียดนามไปยังจีน นอกจากนี้ยังกล่าวถึงสถานการณ์บริเวณด่านศุลกากรในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคมที่ผ่านมาเกิดความแออัด เนื่องจากปริมาณรถขนส่งผลไม้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงปกติ และมาตรการรองรับในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ส่งผลให้การขนส่งสินค้าล่าช้า สินค้าเสียหาย โดยเฉพาะสินค้าผลไม้ และได้แนะนำเส้นทางในการขนส่งทางเลือกเพื่อลดความแออัด เช่น การขนส่งผ่านด่านหม่องก๋าย เป็นต้น

นางณชธร มโนปัญจศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุณหมิง กล่าวว่าหลังจากที่มีการแพร่ระบาดของของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ประเทศจีนมีการปรับมาตรการนำเข้า-ส่งออกผลไม้ 
ซึ่งมาตรการต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่เขตชายแดนทางบกในมณฑลยูนนาน การปิดด่านต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ไทยไปยังประเทศจีน อย่างไรก็ตาม โอกาสของผลไม้ไทยในตลาดจีนยังมีสูง เนื่องจากผลไม้ไทยมีได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มขึ้น และชาวจีนนิยมให้ผลไม้ไทยเป็นของขวัญ

นอกจากนี้ ภายในงานเสวนา ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์การค้าระหว่างประเทศของไทยมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้ข้อมูลข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ได่แก่ นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย นางสาวกฤชวรรณ ซื้อเจริญชัย บริษัทยูโรเอเซีย โทเทิล โลจิสติกส์ จำกัด และ ดร. สุรัตน์ จันทองปาน บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน)



 

 

นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย กล่าวว่าผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลจีนผลักดันเมืองหนานหนิงให้เป็นจุดกระจายสินค้าทั้งภายในประเทศจีน ภูมิภาคตะวันออกกลางและยุโรป รวมทั้งโครงการ The China- ASEAN Agricultural Product Distribution Center ซึ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการโลจิสติกส์ และผู้ส่งออกสินค้าเกษตรกระจายสินค้าในประเทศจีนได้รวดเร็วขึ้น

นางสาวกฤชวรรณ ซื้อเจริญชัย บริษัท ยูโรเอเซีย โทเทิล โลจิสติกส์ จำกัด กล่าวถึงประสบการณ์ของบริษัทในการให้บริการขนส่งสินค้าในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และแนะนำเส้นทางในการให้บริการและเงื่อนไขที่เกษตรกรควรทราบก่อนการส่งออก และด้าน ดร. สุรัตน์ จันทองปาน บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ได้ให้ข้อแนะนำในด้านการวางแผนการขนส่งล่วงหน้าและการบริหารจัดการด้านเวลาสำหรับผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ผู้ที่สนใจสามารถรับชมการเสวนาย้อนหลัง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง Facebook Page : DITP.logistics หรือทาง YouTube Channel : DITP Logistics