กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผย “กาแฟไทย” มีโอกาสส่งออกตลาดฮังการี เหตุคนส่วนใหญ่นิยมบริโภคกาแฟ ทั้งที่ทำงาน ที่บ้าน และตามร้านค้า ชี้แม้จะภักดีต่อแบรนด์ แต่ก็พร้อมทดลองแบรนด์ใหม่ๆ จึงเป็นโอกาสของกาแฟไทย ที่จะบุกเจาะตลาดได้
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ หาโอกาสส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทยตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
โดยล่าสุดได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปูดาเปสต์ ถึงโอกาสในการขยายตลาดส่งออกสินค้ากาแฟของไทยเข้าสู่ตลาดฮังการี เพราะชาวฮังการีส่วนใหญ่นิยมบริโภคกาแฟ ทั้งกาแฟคั่วบด กาแฟพิเศษ และบริโภคทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และตามร้านค้าทั่วไป ทำให้มีร้านกาแฟคุณภาพดีจำนวนมากในกรุงบูดาเปสต์ แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ชาวฮังการี ต้องกักตัวและทำงานที่บ้านมากขึ้น แต่ก็ยังมีความต้องการบริโภคกาแฟอยู่เหมือนเดิม
ทั้งนี้ มีผลสำรวจว่า ชาวฮังการีมีการบริโภคกาแฟที่บ้านเฉลี่ยประมาณ 315 บาทต่อเดือน ส่วนที่ทำงาน ก็มีค่าใช้จ่ายไม่ต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้จ่าย เนื่องจากเป็นสวัสดิการของที่ทำงาน และตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้ดื่มกาแฟในร้านไม่ได้ แต่สามารถสั่งกลับได้ ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายไม่ต่างกัน และคาดว่า หลังรัฐบาลฮังการีอนุญาตให้ร้านค้าที่มีที่นั่งภายนอกเปิดให้บริการได้ตั้งแต่เม.ย.2564 จะทำให้ยอดขายกาแฟสูงขึ้น สำหรับกาแฟที่ผู้บริโภคนิยม ได้แก่ เมล็ดกาแฟ และกาแฟแคปซูล และยังนิยมกาแฟคั่วบด โดยซื้อจากซุปเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ แต่ก็เริ่มมีการสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยจะให้ความสำคัญกับแบรนด์ แต่ก็พร้อมที่จะเปิดรับแบรนด์ใหม่ๆ หากมีรสชาติดี คุณภาพสูง
นางประภา วิชัยขัทคะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบูดาเปสต์ กล่าวว่า พฤติกรรมผู้บริโภคในฮังการีจำนวนหนึ่ง นิยมลิ้มลองกาแฟยี่ห้อใหม่ๆ และประเภทใหม่ๆ ตามกระแสการบริโภคสากล โดยชาวฮังการีนิยมเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยการดื่มกาแฟมากกว่าการดื่มชา มีการนำเข้าเมล็ดกาแฟและผลิตภัณฑ์กาแฟ เป็นลำดับที่ 40 ของโลก มูลค่า 115.825 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากไทยทั้งเมล็ดกาแฟดิบและกาแฟคั่ว มูลค่า 124 ล้านบาท และ 92.7 ล้านบาทในปี 2562 และ 2563 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม แม้จะส่งออกได้ไม่มาก แต่ก็มีโอกาสในการส่งออก โดยต้องพิจารณาการเพิ่มคุณค่าให้สินค้ากาแฟไทย โดยเน้นไปที่คุณภาพ รสชาติ และอัตลักษณ์ มากกว่าปริมาณ พัฒนากระบวนการแปรรูปให้ได้คุณภาพ สมัครใบรับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้าระดับสากล สร้างชื่อเสียงด้วยการส่งประกวด และพัฒนาภาพลักษณ์แบรนด์กาแฟ และผู้ส่งออกไทย อาจพิจารณาช่องทางการขายผ่านผู้จัดจำหน่ายภายในประเทศที่จัดส่งสินค้าเข้าห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ซึ่งจะทำให้กาแฟไทยเข้าสู่ตลาดฮังการีได้เพิ่มขึ้น
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169
Post Views: 51