Update Newsการศึกษาสังคมสังคม/CSRไลฟ์สไตล์

DPA 14 จัดเสวนาสามขั้วมหาอำนาจ อเมริกา-จีน-รัสเซีย : เกมเปลี่ยนโลก

นักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต (DPA14) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี จัดเสวนาในระบบ ZOOM หัวข้อ “สามขั้วมหาอำนาจ อเมริกา-จีน-รัสเซีย : เกมเปลี่ยนโลก” โดยมีวิทยากรผู้ร่วมเสวนา : คุณชิบ จิตนิยม บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ เนชั่น ทีวี,คุณรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตนักการทูต,ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.กมลพร กัลยาณมิตร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 




คุณชิบ จิตนิยม บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ เนชั่น ทีวี กล่าวว่า ยุคนี้เป็นยุคที่มีความแตกต่างทางเจเนอเรชั่นค่อนข้างมาก อายุผู้นำทุกประเทศที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อายุ 80 ปี ปูติน ผู้นำรัสเซีย กับ สี จิ้นผิง ผู้นำจีน อายุ 69 ปี และ ซีเลนสกี ผู้นำยูเครน อายุ 44 ปี ผู้นำอเมริกากับจีนอาจมีแนวคิดเชิงประวัติศาสตร์ ส่วนคนรุ่นใหม่อย่างผู้นำยูเครน มีแนวคิดอย่างคนรุ่นใหม่มองว่าในเรื่องอธิปไตย และเสรีภาพนั้นไม่ควรไปยึดติดกันอดีตให้มาก เหตุการณ์ในครั้งนี้นับว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญในด้านความแตกต่างของความคิด เพราะเป็นการมองต่างมุมจึงทำให้ไม่มีใครถูกไม่มีใครผิด มันเป็นไปตามวิวัฒนาการของโลก


คุณชิบ จิตนิยม

“สำหรับประเทศไทยนั้น เราควรมีการติดตามข่าวสารอย่างมีสติ ในฐานะที่ผมเป็นนักข่าวสายต่างประเทศก็ต้องติดข่าวสารโลก เช่น อาร์ทีของรัสเซีย อัลจาซีราของกาตาร์ ซีเอ็นเอ็นของสหรัฐอเมริกา บีบีซีของสหรัฐอาณาจักร และโซเชี่ยลมีเดีย โดยเฉพาะทวิตเตอร์ที่มีคนเข้าดูเยอะมาก สถานการณ์ของโลกในวันนี้เราไม่สามารถคาดเดาได้ โดยเฉพาะเรื่องสงครามโลก แต่สิ่งที่เราควรตระหนักในเหตุการณ์นี้คือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ เราจะมีวิธีรับมืออย่างไร เรื่องนี้ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ลำบากใจ เพราะเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ” 


คุณรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตนักการทูต กล่าวว่า เรื่องการต่างประเทศอาจเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเรา แต่จริง ๆ แล้วมันได้ส่งผลกระทบต่อตัวเราและไปทั่วโลก อยากฝากถึงประเทศที่เล็กๆ อย่างเช่น ไทย เป็นต้น ควรรักษาบรรทัดฐาน มาตรฐานระหว่างประเทศ หรือกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะสิ่งเหล่านี้สามารรถเชื่อมโยงให้ประเทศต่าง ๆ อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข สามารถทำการค้าขายได้อย่างปกติ เพราะนี่คือเรามีบรรทัดฐาน มาตรฐาน และกฎหมายระหว่างประเทศร่วมกัน ถ้าหากสิ่งเหล่านี้ถูกทำลายลงไปถือว่าเป็นการทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ

คุณรัศม์ ชาลีจันทร์

“ถ้าหากไม่ยึดโยงในสิ่งเหล่านี้เท่ากับว่าเรานั้นยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เป็นการเปิดประตูบ้านให้ใคร ๆก็เข้ามาได้ อาจเป็นการชักศึกเข้าบ้าน เพราะโลกมันไม่ได้สวยงามขนาดนั้น ในโลกความเป็นจริงมันโหดร้าย อย่าอุดมคติมากไป”


ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่าย มันก็อาจยากในเรื่องของทฤษฎีที่เราต้องรักษาสมดุล แต่ในทางปฏิบัติอาจเป็นไปได้ค่อนข้างยาก อย่างน้อยเราควรมีจุดยืน เราเป็นสมาชิกของยูเอ็น เราอยู่ในสังคมระหว่างประเทศที่มีกฎ กติกา กฎหมายระหว่างประเทศอยู่ ถ้าเรายึดโยงอย่างมั่นคงน่าจะเกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด เนื่องจากว่าในอดีตเราอาจมีความชัดเจนของเรา แต่ถึงวันนี้ความชัดเจนเกินไปอาจไม่ส่งผลดี ซึ่งเราต้องเน้นรักษาความสมดุลของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ควรเป็นพันธมิตรและมีการทูตกับประเทศต่าง ๆ ทั้งหมด น่าจะเป็นทางออกที่ดีของการดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยเรามากกว่า

ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล

รศ.ดร.กมลพร กัลยาณมิตร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กล่าวว่า ความสัมพันธ์ของแต่ละประเทศในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเล็ก กลาง หรือใหญ่ ล้วนมีความสัมพันธ์ต่อกันทั้งหมดทั้งสิ้น เล็กพึ่งพากลาง กลางพึ่งพาใหญ่ ใหญ่พึ่งพาเล็ก เล็กพึ่งพาใหญ่ เพราะว่าเราเป็นประชาคมโลกอยู่ในโลกใบเดียวกัน อย่างไรแล้วต้องมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นเวทีระดับไหน ระดับโลก ระดับนานาชาติ ระดับประเทศ ดังนั้นไม่ว่าประเทศจะมีอำนาจมากน้อยแค่ไหน แต่ละประเทศล้วนมีวิถีทางการทูต การดำเนินนโยบายต่างประเทศ ล้วนต้องให้เกิดประโยชน์ทั้งคนในชาติ ทั้งประชาคมโลกด้วย จึงจะทำให้โลกเราอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข

รศ.ดร.กมลพร กัลยาณมิตร

“วันนี้รัสเซียกับยูเครนอาจไม่มีข้อยุติ เชื่อมั่นว่าการเจรจาน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดกับการนำเข้ามาใช้แก้ไขปัญหา ยูเครนก็สามารถทำตัวเองให้เป็นกลางได้ เขาอาจมีความจำเป็นที่ต้องทำแบบนี้ อเมริกาในฐานะผู้นำโลกและเป็นพี่ใหญ่ เป็นผู้ช่วยนำทางในการแก้ไขปัญหาและสนับสนุนแต่ละอย่าง แม้กระทั่งจีน เป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อประเทศไทย ต้องมองด้วยความระมัดระวังว่า เหตุการณ์นี้จะเป็นเช่นไร อย่างไรก็ตามทุกประเทศต้องการสันติภาพและสันติสุข ถ้าหากเรามารบกัน สุดท้ายคือสูญเสียคนและประเทศชาติเสียหาย สงครามแต่ละครั้งคือบาดแผลที่ทำให้เราไม่สามารถจะลืมบาดแผลไปได้ตลอดชีวิต เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกประเทศควรคำนึงให้มากที่สุด”