gadget / ไอทีUpdate Newsสังคม

ETDA จัดประชุมนานาชาติ “ครอบครัวปลอดภัยในยุคดิจิทัล” ครั้งแรกในอาเซียน

ETDA จับมือมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดประชุมนานาชาติ “ครอบครัวปลอดภัยในยุคดิจิทัล” (Building a Safe Online Environment for Children) เป็นครั้งแรกในอาเซียน ระหว่างวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2561 เทียบเชิญ Facebook – Google - 3DU Play ระดับโลกร่วมเสวนา หวังเป็นเวทีเกิดมาตรการหรือ Soft Law คุ้มครองเยาวชนจากโลกออนไลน์


นางสุรางคณา  วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า สพธอ. ได้ร่วมกับสถาบันวิชาการนโยบายกิจการสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล (APaR) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยความร่วมมือของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดประชุมนานาชาติเรื่อง “ครอบครัวปลอดภัยในยุคดิจิทัล” (Building a Safe Online Environment for Children) ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในอาเซียน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ โดยในการจัดประชุมนานาชาติครั้งนี้ มีขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 9 กุมภาพันธ์  2561 ณ ห้อง Open Forum ชั้น 21 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)

สำหรับการจัดประชุมนานาชาติในครั้งนี้ สพธอ. ในฐานะน่วยงานรัฐ เห็นว่าเรื่องของเยาวชนเป็นกลุ่มที่สังคมต้องให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต แต่ด้วยยุคปัจจุบันที่ทุกคนสามารถเข้าอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเราจะคุ้มครองเยาวชนจากสิ่งที่ไม่เหมาะสมที่อยู่บนโลกออนไลน์ได้อย่างไร เช่น เนื้อหาที่มีความรุนแรง เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเยาวชน การประชุมในวันนี้จึงมีความสำคัญเนื่องจากเราจะได้รับฟังนโยบายและแนวปฏิบัติของต่างประเทศในเรื่องนี้ เพื่อนำมาประยุกต์เข้ากับประเทศไทยในการสร้างโลกอินเทอร์เน็ตให้ปลอดภัยกับผู้เยาว์ ต้องมีการสร้างมาตรการระวัง ป้องกันภัย และรับมือ ดังจะเห็นได้จากรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2560 ของ สพธอ. 
 

ผู้ศึกษาพบว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนอายุน้อยกว่า 17 ปี มีการใช้อินเทอร์เน็ตในวันทำงานโดยเฉลี่ย 5.48 ชั่วโมง ต่อวันและในวันหยุดโดยเฉลี่ย 7.12 ชั่วโมงต่อวัน โดยกิจกรรมทางออนไลน์ที่เป็นอันดับ 1 คือ การใช้สื่อสังคม
 ออนไลน์ประเภทต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา มีภัยคุกคามทางออนไลน์ที่เกิดแก่เด็กและเยาวชนในหลายรูปแบบ ทั้งการข่มขู่ การหลอกลวง การกลั่นแกล้งกันบนอินเทอร์เน็ต (Cyberbullying) การทำลามกอนาจารต่อเด็กและเยาวชน รวมทั้งการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ขาดความระมัดระวังและความตระหนักของเด็กและเยาวชนทำให้เกิดภัยคุกคามอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เช่นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลเป็นต้น

งานประชุมนานาชาติครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องถึงภัยคุกคามออนไลน์ในยุคดิจิทัลที่เยาวชนสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา แต่เนื้อหาของสื่อบนอินเทอร์เน็ตบางอย่างอาจไม่เหมาะสมกับเยาวชน จึงถูกนำไปแสวงหาประโยชน์ได้โดยง่าย ดังนั้นภัยออนไลน์ต่อเยาวชนจึงเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจและเล็งเห็นถึงความเร่งด่วนในการออกมาตรการคุ้มครองเยาวชนจากภัยออนไลน์

“ประเทศต่างๆ ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย รวมทั้งมาตรการต่างๆ เพื่อให้การดูแลและคุ้มครองเด็ก และเยาวชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศไทยได้มีการปรับปรุงกฎหมายอาญาเพื่อกำหนดโทษแก่การครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก ซึ่งครอบคลุมไปถึงสื่อทางออนไลน์ด้วย เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กตามมา การสร้างความตระหนักและรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ลดความเหลื่อมล้ำต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 

ซึ่งจะเป็นกลไกในส่งสนับสนุนให้เกิดมาตรการทางกฎหมายที่ครอบคลุมในรูปแบบของ Soft Law เช่น Best Practice หรือ Self Regulation ดังนั้นการมีเครื่องมือที่จะช่วยให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่ดีในการใช้สื่อออนไลน์โดยไม่ละเมิดเด็กและเยาวชนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก การจัดประชุมในครั้งนี้ จึงได้เชิญผู้ร่วมเสวนาชั้นนำจากองค์กรและมหาวิทยาลัยระดับโลก อาทิ International Institute of Communications (IIC), Facebook, Google, 3DU Play, University of Vienna, University of Hong Kong มาให้ความรู้และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย” นางสุรางคณา กล่าว

ขณะเดียวกัน ในระดับสากลก็ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายเพื่อการดูแลเด็กและเยาวชนทางออนไลน์เป็นการเฉพาะ เช่น ข้อเสนอของสหประชาชาติในการจัดทำอนุสัญญาเพื่อต่อต้านการละเมิดทางเพศของผู้เยาว์ออนไลน์ (A Proposal for a United Nations Treaty on Combating Online Child Sexual Abuse) หรือสหภาพยุโรปได้มีอนุสัญญาการป้องกันเด็กจากการฉวยผลประโยชน์และทารุณกรรมทางเพศของสภายุโรป ค.ศ.2007 (Council of Europe Convention on the Protection of Children against Sexual Abuse and Sexsual Abuse 2007) และระเบียบของสหภาพยุโรป เรื่องการต่อต้านทารุณกรรมทางเพศของเด็ก การฉวยผลประโยชน์ของเด็ก และสื่อลามกเด็ก ค.ศ.2011 (Directive 2011/93 on Combating the Sexual Abuse and Sexual Exploitation of Children and Child Pornography 2011) เป็นต้น

ด้าน รองศาสตราจารย์สุธรรม อยู่ในธรรม คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานสถาบันวิชาการนโยบายกิจการสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล (APaR) กล่าวว่า การประชุมนานาชาติครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่พูดถึงกระแสดิจิทัลที่กระทบถึงชีวิตในครอบครัว กระทบถึงชีวิตเด็กซึ่งจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต 

ซึ่งในงานประชุมได้เชิญผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เช่น Facebook, Google และผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเยาวชนจากออสเตรเลียและสหราชอาณาจักรมาให้ความรู้เรื่องแนวปฏิบัติที่ดี และบทบาทของครอบครัวในการให้ความรู้เยาวชนเรื่องสื่อออนไลน์เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับเยาวชน ผลจากการประชุมจะสามารถเสนอเป็นนโยบายการเรื่องการคุ้มครองเยาวชนบนโลกออนไลน์ และการสร้างครอบครัวให้ปลอดภัยในโลกยุคดิจิทัลได้

นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว การประชุมในครั้งนี้จะหารือถึงบทบาทของครอบครัวในการให้ความรู้เยาวชนเรื่องการเลือกเสพสื่อที่เหมาะสม ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้รับการพูดถึงมากนักในประเทศไทย ผู้จัดงานประชุมได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในประเทศและต่างประเทศมาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการกำหนดนโยบาย แนวปฏิบัติที่ดี และเครื่องมือต่างๆ ในการคุ้มครองเยาวชนจากภัยออนไลน์ ผลจากการประชุม ซึ่งรวมถึงข้อเสนอแนะแนวทางการคุ้มครองผู้เยาว์จากภัยออนไลน์สำหรับประเทศไทยจะได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะ