KAPI ขนงานวิจัยเด่น ร่วมแสดงในงาน China ASEAN Expo 2018 ครั้งที่ 15
โดยผลงานวิจัยด้านสุขภาพจากไพล น้ำมันเหลืองไพล ยาหม่องไพล และเครื่องสำอางจากสารสกัดโปรตีนข้าว ลิปบาล์มจากโปรตีน และน้ำมันจากมะม่วง ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการและนักลงทุนชาวจีนเป็นจำนวนมาก สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (KAPI) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เข้าร่วมจัดแสดงผลงานวิจัยและนำผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและเครื่องสำอางมาจัดแสดงในงาน The 6th Forum on China-ASEAN Technology Transfer and Collaborative Innovation และ งาน China ASEAN Expo 2018 ครั้งที่ 15 ณ นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจัดแสดงผลงานในระหว่างวันที่ 11 – 16 กันยายน 2561 ณ Nanning International Convention and Exhibition Center ผลงานวิจัยที่นำไปจัดแสดง เป็นผลงานวิจัยภายใต้โครงการขยายขนาดการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม เพื่อทดสอบตลาดสำหรับการต่อยอดเชิงพาณิชย์ (Thailand 4.0) ซึ่งเป็นโครงการที่นำเอาองค์ความรู้ด้านการงานวิจัยมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดยคัดเลือกผลงานวิจัย จำนวน 17 ผลงาน ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากโปรตีนข้าวและโปรตีนไหมภายใต้แบรนด์ KAPIOKU ผลิตภัณฑ์แป้งข้าวหอมมะลิภายใต้แบรนด์ GENGIGRAIN และยังมีผลงานวิจัยอื่นๆ อาทิ ลิปบาล์มและเซรั่มจากโปรตีนและน้ำมันจากมะม่วง เซรั่มจากน้ำมันและสารสกัดจากกาแฟ ซึ่งมีแผนที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ในช่วงปลายปีนี้ ครั้งนี้ สถาบันฯ KAPI และบริษัท ควอลิตี้พลัส เอสเทติก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้รับเลือกและการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโครงการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีไทย-จีน (Thailand – China Technology Transfer Center (TCTTC) และ Thailand Center of Excellence for Life Science (TCELS) ให้ร่วมจัดแสดงในบูธของประเทศไทย China – ASEAN Innovation Achievement Exhibition ในโซน Advanced Technologies การจัดแสดงผลงานของ KAPI ในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการและนักลงทุนชาวจีนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผลงานด้านสุขภาพจากไพล น้ำมันเหลืองไพล ยาหม่องไพล และเครื่องสำอางจากสารสกัดโปรตีนข้าว ลิปบาล์มจากโปรตีน และน้ำมันจากมะม่วง ซึ่งจะนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ต่อไป ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยที่สนใจในผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพจากผลงานวิจัยของคนไทย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ คุณชลลดา บุราชรินทร์ โทร. 66809078566 อีเมล์ chonlada.bu@ku.th ฝ่ายวิจัยเชิงพาณิชย์และการจัดการสารสนเทศ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์