ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ยิ้มรับความสำเร็จจากการจัดงาน Crafts Bangkok 2019 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 – 7 เมษายนที่ผ่านมา เผยยอดจำหน่ายและสั่งซื้อผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ ทะลุเป้ารวมกว่า 65 ล้านบาท ชี้คนไทยให้ความสนใจเข้าร่วมงานคับคั่ง เกิดกระแสการตอบรับงานคราฟต์จากคนรุ่นใหม่ โดยมีผู้เข้าชมงานกว่า 2 หมื่นราย แสดงศักยภาพด้านงานศิลปหัตถกรรมไทยก้าวสู่การยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ชี้ให้เห็นพัฒนาการงานคราฟต์ไทยตอบรับกระแสโลกยุคปัจจุบัน
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวถึง ความสำเร็จในการจัดงาน Crafts Bangkok 2019 ว่า SACICT รู้สึกขอบคุณคนไทยและผู้บริโภคผู้รักและสนใจในงานคราฟต์ ที่ให้การตอบรับเข้าร่วมงานและอุดหนุนชิ้นงานหัตถศิลป์ภายในงาน Crafts Bangkok 2019
ซึ่งเป็นการนำเสนอเรื่องราวของงานศิลปหัตถกรรมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์เข้ากับกระแสของโลกยุคใหม่ พร้อมยกระดับงานหัตถศิลป์ไทยให้ได้รับการยอมรับสู่เวทีสากล ภายใต้กลยุทธ์ “หัตถศิลป์ของชีวิตปัจจุบัน” หรือ “Today Life’s Crafts” โดยมุ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าความงดงามของศิลปหัตถกรรมไทยที่สามารถประยุกต์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับวิถีชีวิตผู้คน อีกทั้งยังตอบโจทย์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Craft Economy) ของประเทศได้
ภาพรวมความสำเร็จของการจัดงาน Crafts Bangkok 2019 ซึ่งจัดขึ้นด้วยแนวคิด “Retell the Details : เล่าเรื่องของเรื่องเล่า” บอกเล่าเรื่องราวงานศิลปหัตถกรรมที่นำมาต่อยอดด้วยนวัตกรรมผสมผสานเทคนิคความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ในทุกมิติการใช้ชีวิตของผู้คนยุคปัจจุบัน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 7 เมษายน 2562 รวมทั้งสิ้น 4 วัน พบว่า ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้เข้าชมงานจำนวน 22,031 คน เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
นอกจากนี้ พบว่ายอดจำหน่าย และสั่งซื้อยังเป็นที่น่าพึงพอใจ สูงกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ก่อนการจัดงาน โดยสรุปยอดจำหน่ายและยอดสั่งซื้อสูงสุด 10 อันดับ ประกอบด้วย 1. จารุเดช เครือปัญญา USAKANE (เครื่องประดับทอง) USAKANE จำนวน 2,920,000 บาท
2. ฐาณิญา เจนธุระกิจ THANIYA (เซรามิก) จำนวน 2,321,500 บาท 3. สุภัจนา เขาเหิน NANTANAGOLD (เครื่องประดับทอง) NANTANAGOLD จำนวน 2,225,100 บาท
4. วชิระ นกอักษร NAKHON CRAFTS (เครื่องถม) NAKHON CRAFTS จำนวน 1,809,500 บาท 5. หนึ่งหทัย อารีหทัยรัตน์ BUDDLAYA (เครื่องประดับเงิน) BUDDLAYA จำนวน 1,708,000 บาท 6. สุธีรา สังกะเพศ RAKUNGTHONG (เครื่องประดับทอง) จำนวน 1,468,900
7. มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จำนวน 1,350,000 บาท 8. ณัชรัตน์ ชุมพานิชวศุตม์ RUKBATIK (ผ้าไหม) จำนวน 1,295,000 บาท 9. กิตญากรณ์ จันทะมาตย์ PRAKHONG PRAEWA (ผ้าไหม, ผ้าฝ้าย) จำนวน 1,077,000 บาท 10. ชาตรี เนื่องจำนงค์ CHATREE NUENGCHAMNONG (เครื่องไม้ เรือจำลอง) จำนวน 989,000 บาท
สรุปยอดจำหน่ายตลอด 4 วันของการจัดงาน รวมทั้งสิ้น 65,152,419 บาท ซึ่งนับเป็นความสำเร็จเกินเป้า จากที่ตั้งไว้ 50 ล้านบาท
นอกจากความสำเร็จด้านยอดขายแล้ว สิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับ SACICT และบ่งบอกถึงการพัฒนาวงการศิลปหัตถกรรมของไทยที่เห็นผลเป็นรูปธรรมคือ การจัดงาน Crafts Bangkok 2019 ได้ยกระดับคุณภาพมาตรฐานของงานหัตถศิลป์ไทย ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
พัฒนาการด้านงานคราฟต์ของไทยได้แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รูปแบบ ดีไซน์ และฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์ความเป็น “Today Life’s Crafts” ได้อย่างสมบูรณ์ เป็นตอกยํ้าคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ตลอดจนมุมมองใหม่ๆของงานคราฟต์จากผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรม ผู้ประกอบการและคนรุ่นใหม่ นำความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้ ก่อเกิดแรงบันดาลใจและการต่อยอด
รวมทั้งการสร้างเครือข่ายงานคราฟต์ที่เชื่อมโยงในด้านธุรกิจและการเรียนรู้องค์ความรู้ในงานหัตถศิลป์ สร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับคนไทยที่รักและชื่นชอบงานคราฟต์ เกิด “กระแสบอกต่อ” นำมาสู่การอนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทย สิ่งเหล่านี้คือความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่และเป็นการประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน.
Post Views: 40